วันผู้เฒ่าไร้สัญชาติ วอนรัฐบริการสาธารณสุข

 

พชภ. นำทัพสื่อมวลชนลงพื้นที่บ้านป่าคาสุขใจ ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ร่วมงานวันผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ครั้งที่ 2 วอนรัฐบริการสาธารณสุข

เมื่อวันที่ 21-22 เมษายน เครือข่ายสุขภาวะชุมชนชายขอบ ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) จากการสนับสนุนของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำสื่อมวลชนลงพื้นที่บ้านป่าคาสุขใจ ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เพื่อร่วมงานวันผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ครั้งที่ 2 ในวันที่ 22 เมษายน ซึ่งมีผู้เฒ่าหรือคนที่อายุ 50 ปีขึ้นไปอาศัยอยู่ในพื้นที่สูงอยู่ในประเทศไทยมานาน แต่ยังเป็นบุคคลไร้สัญชาติ ใน จ.เชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอนมาร่วมงาน ซึ่ง พชภ.จัดขึ้นที่ศูนย์การเรียนรู้บ้านใกล้ฟ้า

นางเตือนใจ ดีเทศน์ ประธานมูลนิธิ พชภ. กล่าวว่า ผู้เฒ่าหรือผู้สูงอายุที่เกิดและเติบโตจนกระทั่งแก่เฒ่าอยู่ในพื้นที่สูง ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีสุขภาพดี ทั้งสุขภาพทางกายและสุขภาพจิต เพราะได้อาศัยในที่อากาศดี ได้กินอาหารที่มาจากธรรมชาติจริงๆ ไม่มีสารเคมีปนเปื้อน เช่น ข้าวไร่ ผักที่ปลูกเอง กินเนื้อสัตว์น้อยมาก อยู่กับอากาศที่บริสุทธิ์ อยู่กับชุมชนและครอบครัวที่ดี คอยให้กำลังใจกันและกัน เช่น เมื่อยามเจ็บป่วย คนในหมู่บ้านจะช่วยกันสวดมนต์เรียกขวัญเพื่อสร้างกำลังใจให้กัน ที่สำคัญคือคนเหล่านี้จะมีเป้าหมายในชีวิต คือ การมีชีวิตอยู่อย่างพอเพียง

 “พชภ.ได้ทำงานวิจัยร่วมกับอาสาสมัครจากประเทศญี่ปุ่น เรื่องความสุขในชีวิตของผู้เฒ่าบนพื้นที่สูงเหล่านี้ คืออะไร ได้รับคำตอบตรงกันเกือบทั้งหมด นั่นคือ การมีลูกหลานที่เชื่อฟัง ไม่โกหก สุจริต มีพืชพรรณอาหารที่สมบูรณ์ สัตว์เลี้ยงมีสุขภาพดี คนในหมู่บ้านสามัคคีกัน และลูกหลานสืบประเพณี จะเห็นว่าความต้องการที่เป็นความสุขของผู้เฒ่าเหล่านี้ไม่มีเรื่องของความต้องการในวัตถุเข้ามาเกี่ยวข้องเลย ถือเป็นตัวอย่างของความเป็นอยู่แบบพอเพียงโดยแท้จริง” นางเตือนใจกล่าว

ประธานมูลนิธิ พชภ.กล่าวว่า จากการที่ตนและเจ้าหน้าที่ของ พชภ.ได้ลงพื้นที่สำรวจความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ ซึ่งมีประมาณ 344 คน ส่วนใหญ่มีสุขภาพดี ไม่ค่อยมีใครเจ็บป่วยเป็นโรคเหมือนที่คนสูงอายุในเมืองเป็น เช่น บางคนอายุ 92 ปี ยังเดินไปตักน้ำในแม่น้ำมาใส่ตุ่มในบ้านได้ อย่างไรก็ตามคนเหล่านี้ก็หนีไม่พ้นความทุกข์ทรมานจากสังขารที่ร่วงโรย เช่น ตาฝ้าฟางมองไม่เห็น หรือเจ็บป่วยจากโรคชรา ปัญหาคือ เมื่อป่วยจะไม่สามารถไปหาหมอรักษาในโรงพยาบาลตามระบบบริการสุขภาพสาธารณสุขได้ เพราะไม่มีบัตรประชาชน จึงอยากเสนอให้รัฐบาลหันมาดูแลสุขภาพคนสูงอายุที่ไร้สัญชาติกลุ่มนี้ให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขของรัฐบาลด้วย

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Shares:
QR Code :
QR Code