วัดสร้างสุขฯ สู่โลกแห่งสัปปายะ ด้วย “7ส”

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


วัดสร้างสุขฯ สู่โลกแห่งสัปปายะ ด้วย


จากโครงการวัดสร้างสุขฯ สู่ "โลกแห่งสัปปายะ" ด้วย "7ส" อัพเกรดวิถีสร้างสุขแก่ตนขยายสู่สังคม


เพราะเชื่อมั่นมาตลอดว่า "คนสร้างชาติ พุทธศาสน์สร้างใจ" จากวิถี "5ส" สร้างสังคมเปี่ยมสุข โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางในวันวาน มาวันนี้สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. จับมือกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อัพเกรดวิธีการขึ้นเป็น "7ส" หวังสร้างมิติใหม่เพื่อนำสังคมไทยเดินไปสู่ "โลกแห่งสัปปายะ" หรือโลกที่เต็มไปด้วยสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการน้อมนำหลักธรรมมาปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความสบายแก่ตนเองและผู้อื่น โดยมีพระสงฆ์ไทยเป็นผู้ผลักดันขับเคลื่อน


เกี่ยวกับเรื่องนี้ อนุวรรตน์  ศิลาเรืองอำไพ  ผู้อำนวยการโครงการวัดสร้างสุข ส.ส.ท. บอกว่า โครงการวัดสร้างสุข คนสร้างชาติ พุทธศาสน์สร้างใจ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันสร้างสังคมแห่งความสุข โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดเพื่อส่งเสริมความมีวินัย ผ่านวิถีของ 5ส ได้แก่ สะสาง สะดวก สะอาด สร้างมาตรฐาน และสร้างวินัย กำลังเดินหน้าสู่ช่วงที่ 2 โดยนำผลการปฏิบัติที่ได้มานานกว่า 2 ปี นับตั้งแต่ปี 2557 มาขยายผลและต่อยอดองค์ความรู้เป็น 7ส ให้ครอบคลุมวัดทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย


โดยหนึ่งในพื้นที่ที่ขับเคลื่อน 7ส โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางจนสำเร็จคือ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จนได้รับ โล่ประกาศเกียรติคุณองค์กรต้นแบบ จาก ส.ส.ท. และ สสส. ภายในงาน "CSR โลกแห่งสัปปายะ" ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กทม.ผศ.ดร.อดิศักดิ์ ธีรานุพัฒนา ผู้ช่วยคณบดี ในฐานะผู้แทนคณบดี คณะบริหารธุรกิจ ม.เชียงใหม่


กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการได้เป็นองค์กรต้นแบบในเรื่องนี้ มาจากการตัดสินใจในปี 2557 ว่าคณะบริหารธุรกิจ ม.เชียงใหม่ ต้องสร้างความเปลี่ยนแปลง เพื่อให้คนในองค์กรทำงานอย่างมีความสุข และสร้างสังคมแห่งความสุข จึงนำหลัก 5ส เข้าสู่วัดฝายหิน วัดที่อยู่ในความอุปถัมป์ของ ม.เชียงใหม่ โดยดำเนินการถวายความรู้ 5ส แด่พระภิกษุและสามเณร และนำผู้บริหาร บุคลากร และนักศึกษา เข้าทำความสะอาดวัดฝายหินอีก 3 ครั้ง ก่อนพัฒนาองค์ความรู้จาก 5ส เป็น 7ส ได้แก่ สะสาง สะดวก สะอาด สร้างมาตรฐาน สร้างวินัย สิ่งแวดล้อม และสู่สังคม เพื่อมอบสิ่งดีๆ กลับคืนสู่ชุมชนในพื้นที่


ผศ.ดร.อดิศักดิ์ กล่าวอีกว่า วิถี 7ส ที่ร่วมกันพัฒนาขึ้นกับพระภิกษะ วัดฝายหิน เมื่อนำมาปฏิบัติจริง โดยกำหนดเป็นนโยบาย วิสัยทัศน์ พันธกิจ วัตถุประสงค์ และเป้าหมายช่วยให้การทำงานของคณะบริหารธุรกิจ ม.เชียงใหม่ เป็นการพัฒนาระบบงานให้มีประสิทธิภาพ เสริมสร้างบรรยากาศที่ดี และพัฒนาคุณภาพชีวิตบุคลากรได้มาก ยังรักษาคุณภาพในการทำงาน ลดความสูญเปล่าของเวลา และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า จนกลายเป็นสถานที่สัปปายะ ทั้งนี้ หลักการทำงานแบบ 7ส ที่มีวัดคอยให้คำแนะนำ มีการกำกับดูแลและการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันถือเป็นวัฒนธรรมการปฏิบัติงานในองค์กร


ขณะที่ ศราวุธ หมื่นนาค ที่ปรึกษาโครงการวัดสร้างสุขฯ กล่าวย้ำถึงความสำคัญของโครงการวัดสร้างสุขฯ โดยมีหลัก 5ส เป็นฐานว่า  โครงการนี้ฯ เปรียบได้กับสะพานเชื่อมระหว่างความเจริญรุ่งเรืองทางวัตถุ ให้เดินควบคู่ไปกับการพัฒนาทางด้านจิตใจ โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า 5ส ซึ่งมีหัวใจหลักคือการสร้างวินัย ที่ช่วยส่งเสริมให้บุคคลเข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนาขั้นต้นได้ คือ การเป็นผู้มีศีล ซึ่งก็คือ การเป็นผู้มีวินัยที่ดีนั่นเอง


"ที่ผ่านมาโครงการได้นำกลุ่มบุคคลจากองค์กรต่างๆ เช่น จากโรงงานอุตสาหกรรม บริษัท ห้าง ร้าน องค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ โรงเรียน มหาวิทยาลัย ร่วมกับชุมชนในท้องที่นั้นๆ นำเครื่องมือ 5ส เข้ามาช่วยปรับปรุงพัฒนาวัดวาอารามให้สะอาด เกิดภาพที่สมดุลย์ และสะดวกสบาย ในการใช้สถานที่ทำกิจกรรมต่างๆ ทางพระพุทธศาสนา เพื่อเปิดพื้นที่วัดให้เป็นรมณียสถาน พร้อมที่จะเป็นสถานที่รักษาเยียวยาและพัฒนาจิตใจของผู้คนในสังคมอันเร่าร้อน" ที่ปรึกษาโครงการวัดสร้างสุขฯ ระบุ


ศราวุธ บอกต่ออีกว่า ขณะเดียวกันกลุ่มบุคคลที่เราเรียกว่าจิตอาสาจากหลายๆ ภาคส่วนที่มาร่วมกันทำ 5ส ที่วัดนั้นก็จะเกิดการเรียนรู้ ควบคู่กับการปฏิบัติงานจริงในหลักการของ 5ส ที่ถูกต้องเข้าถึงแก่นแท้ ก็จะเกิดการซึมซับความเป็นผู้มีวินัยที่ดี การปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ศาสนสถานยังถือเป็นการสร้างบุญกิริยา ซึ่งก็คือการละชั่ว ถือว่าเป็นการเข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนาเบื้องต้นได้เป็นอย่างดี


 

Shares:
QR Code :
QR Code