วอนสังคมร่วมลดรุนแรงในเด็ก-สตรี
พบเหตุแจ้ง 1300
มูลนิธิเพื่อนหญิงผนึกเครือข่าย ประกาศปฏิญญายุติความรุนแรงในเด็ก-สตรี ใครพบเหตุแจ้ง 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง เผยทุก 20 นาที เด็ก-ผู้หญิงถูกทำร้าย 1 ราย กว่า 80% เป็นคนใกล้ตัว ผู้กระทำส่วนใหญ่ล้วนตกเป็นทาสน้ำเมา
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อนหญิง โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัด “มหกรรมยุติความรุนแรงต่อสตรี เด็ก และครอบครัว 2552″
นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงเป็นปัญหาที่ทั่วโลกตื่นตัวและหาทางแก้ไขอย่างจริงจัง ซึ่งองค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล ส่วนไทย คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.42 กำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี
นายอิสสระกล่าวว่า ไทยมีอนุสัญญาและกฎหมายต่างๆ ที่ลดความรุนแรงในเด็กและสตรี ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน จึงร่วมกันประกาศปฏิญญาด้วยการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว 10 ประการ คือ
1.คนในครอบครัวต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิจากการกระทำความรุนแรง และมีสิทธิรับการรักษา 2.กลไกต่างๆ ที่กฎหมายระบุไว้ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ต้องได้รับการสนับสนุน 3.สนับสนุนความร่วมมือเพื่อคุ้มครองการเกิดความรุนแรงในทุกรูปแบบ 4.ส่งเสริมความเสมอภาคชาย-หญิง
5.สนับสนุนบทบาทของเด็ก สตรี และครอบครัวให้เข้มแข็ง 6.เฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคม 7.ทบทวนกฎหมายและมาตรการต่างๆ ให้เกิดการปฏิบัติ 8.สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ การพัฒนาเพื่อให้รู้เท่าทันความรุนแรง 9.สนับสนุนสื่อสร้างสรรค์ที่เอื้อต่อการพัฒนาตนเอง ครอบครัว และสังคม และ 10.ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัวทุกรูปแบบ
“ความรุนแรงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องมีส่วนร่วมในการดูแลซึ่งกันและกัน คอยเฝ้าระวังก่อนที่ปัญหาจะลุกลาม สิ่งสำคัญคือต้องมีช่องทางในการแจ้งเบาะแสหรือเหตุความรุนแรง พม.มีหน่วยบริการให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านศูนย์ประชาบดี โทร.1300 ซึ่งมีการติดตั้งคู่สายโทรศัพท์ไว้ที่บ้านพักเด็กและครอบครัวทั้ง 76 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเป็นช่องทางในการเฝ้าระวังความรุนแรง” นายอิสสระกล่าว
ด้านนายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า ข้อมูลของศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข ปี 52 พบว่าเด็ก-สตรีถูกทำร้ายร่างกายมารักษาที่โรงพยาบาลทั้งสิ้น26,565 ราย เฉลี่ยวันละ 73 ราย หรือทุก 20 นาที เด็ก-สตรีถูกกระทำความรุนแรง 1 ราย ที่น่าตกใจคือผู้กระทำความรุนแรงเป็นคนใกล้ชิด สามี หรือคนในครอบครัวมากถึง 80% เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่มีเด็ก-สตรีถูกทำร้ายมารักษาที่โรงพยาบาล 19,068 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 52 ราย และหากย้อนกลับไปเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา จากข้อมูลขององค์การพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่งใน จ.นครสวรรค์ พบว่ามีสตรีที่ถูกทำร้ายร่างกายคิดฆ่าตัวตายสูงถึง 51% และในจำนวนนี้มี 71% เคยพยายามฆ่าตัวตายมาแล้ว
นายจะเด็จกล่าวว่า สาเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นมากที่สุดมาจากการดื่มสุรา เบียร์ ทำให้เกิดการทำร้ายร่างกายและจิตใจของคนในครอบครัว ไปถึงการก่อคดีฆาตกรรมตามมา
พบเหตุแจ้ง 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
update: 17-11-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: อัญณิกา กฤษสมัย