ล้างตลาดลดเสี่ยงน้ำขังก่อโรค
ที่มา : เว็บไซต์กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ
“กรมอนามัย” แนะนำเจ้าของตลาด ผู้ประกอบการ หมั่นดูแลทำความสะอาดตลาดในช่วงหน้าฝน โดยเฉพาะลอกท่อระบายน้ำรอบตลาดเพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง ระบายช้า
นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในฤดูฝนนี้อาจมีน้ำท่วมขังและน้ำขังในบริเวณตลาด ทำให้เกิดความสกปรก ส่งผลต่อความสะอาดของอาหารที่จำหน่าย เพื่อป้องกันความสกปรกปนเปื้อนลงสู่อาหารและ เป็นการป้องกันโรคที่เกิดจากอาหารและน้ำเป็นสื่อ เจ้าของและผู้ประกอบการควรมีการล้างตลาดตามหลักสุขาภิบาล คือ ขั้นตอนที่ 1การทำความสะอาด โดยการปัดกวาดหยากไย่ สิ่งสกปรกบนเพดาน ฝาผนัง โคมไฟ พัดลม กวาดเศษขยะ ตามพื้น ทางเดิน ทางระบายน้ำ แผงและเขียงจำหน่ายอาหาร และในกรณีที่มีคราบไขมันให้ขัดด้วยผงซักฟอกหรือโซดาไฟเพื่อกำจัดคราบสกปรกตามพื้น ทางเดิน ทางระบายน้ำ เขียง หรือแผง แล้วใช้น้ำฉีดล้างให้สะอาด ส่วนขั้นตอนที่ 2 การฆ่าเชื้อโรค โดยใช้น้ำผสมผงปูนคลอรีน 60 เปอร์เซ็นต์ อัตราส่วน 1 ช้อนชาต่อน้ำ 20 ลิตร ใส่ลงในฝักบัวรดน้ำ และรดบริเวณพื้น ทางเดิน เขียง แผง ทางระบายน้ำเสียให้ทั่ว จากนั้นปล่อยทิ้งไว้เพื่อให้คลอรีนฆ่าเชื้อโรค
นอกจากนั้นควรมีการสำรวจท่อระบายน้ำรอบตลาดอยู่เสมอ หากอุดตันหรือสกปรก มีคราบไขมัน เศษขยะ ที่หลุดไปสะสม ต้องทำการลอกท่อระบายน้ำดังกล่าวทันที พร้อมรณรงค์ให้ผู้ประกอบการทิ้งคราบน้ำมัน กวาดเศษอาหารออกจากภาชนะก่อนนำไปล้าง คัดแยกขยะและทิ้งลงถังทุกครั้ง แยกน้ำมันใช้แล้วใส่ภาชนะและนำไปกำจัดหรือจำหน่าย โดยไม่ทิ้งลงน้ำหรือท่อระบายน้ำ เพื่อป้องกันท่อระบายน้ำอุดตัน ลดปัญหาน้ำท่วมขัง ระบายช้า และยังช่วยลดการสะสมของขยะที่เป็นอาหารของสัตว์และแมลงนำโรคอีกด้วย
“สำหรับบริเวณห้องน้ำ ห้องส้วม อ่างล้างมือ ที่ปัสสาวะและก๊อกน้ำสาธารณะที่ใช้ในตลาดต้องทำความสะอาดโดยใช้น้ำยาทำความสะอาดหรือผงซักฟอกช่วยและล้างด้วยน้ำสะอาด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายโรคที่เกิดจากอาหารและน้ำเป็นสื่อได้ โดยเฉพาะจุดเสี่ยง ได้แก่ สายฉีดชำระ พื้นห้องส้วม ที่รองนั่งส้วมแบบนั่งราบ ที่กดน้ำ ก๊อกน้ำ และกลอนประตู ที่สามารถติดต่อจากการสัมผัสสิ่งขับถ่ายที่ปนเปื้อนเชื้อโรค จึงต้องมีการทำความสะอาดเป็นประจำ และ
ขณะเดียวกันผู้ใช้บริการควรมีพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะอย่างถูกต้อง ไม่ขึ้นไปเหยียบบนโถส้วมแบบนั่งราบ ไม่ทิ้งวัสดุอื่นใดลงโถส้วม ราดน้ำหรือกดชักโครกทุกครั้งหลังการใช้ส้วม และล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดทุกครั้งหลัง ใช้ส้วมเพื่อช่วยกันดูแลรักษาความสะอาดของส้วมในสถานบริการและลดจุดเสี่ยงของการเป็นแหล่งแพร่ระบาดของโรค” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว