ล่ามชุมชนอาสา
สื่อกลางชาวบ้าน-หมอ
แม้การแพทย์จะก้าวหน้า และครอบคลุมมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ในพื้นที่ชายขอบอย่าง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ชาวบ้านยังคงประสบปัญหาในเรื่องการรักษาพยาบาล เนื่องจากในพื้นที่มีความหลายหลายทางชาติพันธุ์ มีทั้ง อาข่า ลาหู่ จีนฮ้อ ไทยใหญ่ลีซอ เย้า ม้ง และลั้ว
เมื่อมีหลายชนเผ่าย่อมมีหลายภาษาในพื้นที่ ดังนั้น ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารให้เกิดความเข้าใจตรงกัน เพื่อรักษาพยาบาล ระหว่างคนไข้กับแพทย์ จึงมีอุปสรรคและปัญหาในการรักษาให้หายทันที
โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติ และผู้มีปัญหาสถานะบุคคล (คพรส.)เครือข่ายสุขภาพชาติ พันธุ์บนพื้นที่สูง (คชส.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงจัดทำโครงการ “ล่ามชุมชนอาสา พากลุ่มชาติพันธุ์เข้าถึงบริการสาธารณสุข”
เพื่อให้ล่ามเป็นแกนกลางเชื่อมประสานความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานสาธารณสุขและโรงพยาบาล เพื่อการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพชีวิต และการรักษาพยาบาลอย่างถูกต้องรวดเร็วของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง
ล่าสุดคณะทำงานได้เดินทางไป ร.พ.แม่ฟ้าหลวง เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการ เริ่มตั้งแต่ล่ามชุมชนอาสาจะเข้าไปลงทะเบียนประวัติผู้ป่วย
หลังจากนั้นจะพาผู้ป่วยเข้าห้องตรวจล่ามจะเป็นสื่อกลางระหว่างหมอกับคนไข้ในการซักถามอาการป่วย หลังจากการตรวจล่ามจะแปลคำแนะนำของหมอ เพื่อบอกต่อกับคนไข้ เรื่องวิธีการดูแลรักษาสุขภาพครั้นตรวจเสร็จจะพาไปห้องรับยา ล่ามก็จะบอกขั้นตอนและวิธีการกินยาว่า ต้องกินยาหลังอาหาร หรือก่อนอาหาร กี่ครั้งต่อวัน
ที่ต่อจากหน้า 5 โรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง แห่งนี้ผู้ที่เข้ามาให้รักษาส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเล็ก ผู้หญิงคนชรา และ 99 เปอร์เซ็นต์เป็นชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ที่พูดภาษาไทยไม่ได้
นายอาแบ่ มาเยอะ อายุ 28 ปี หนุ่มอาข่าบ้านป่าซางสูง ต.เทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง บอกว่า เข้ามาทำงานเป็นล่ามกว่า 6 เดือน เพื่อต้องการช่วยเหลือคนที่ป่วยในหมู่บ้าน ให้ได้เข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องถูกวิธี เพราะที่ผ่านมาเมื่อชาวบ้านป่วยไม่สบาย จะหายาแก้ปวดกินเองไม่ถูกต้อง จึงพูดให้ชาวบ้านเข้าใจ จนชาวบ้านเชื่อใจและให้เราพาไปหาหมอ ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ ชาวบ้านหายป่วยเร็ว ไม่กลัวหมอและโรงพยาบาล
“เมื่อชาวบ้านไม่สบาย เราต้องพาเขาไปส่งให้ถึงมือหมอ แม้ระยะทางจะไกลขนาดไหนเส้นทางจะทุรกันดารเพียงใด จะดึกจะค่ำเท่าไหร่เราต้องนำคนป่วยมาส่งโรงพยาบาลให้ได้ โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน ที่ลูกหลานไม่อยู่ออกไปทำงานในเมือง พูดภาษาไทยไม่ได้ สื่อสารกับหมอไม่ได้ ไม่กล้าที่จะเดินทางไปหาหมอ เราจึงต้องเข้าไปช่วย แม้จะต้องดูแลชาวบ้านตลอดทั้งวันทั้งคืน เราก็เต็มใจเพราะอยากช่วยเหลือชาวบ้านด้วยกัน”
ด้าน นางอาภา หน่อตา ผู้ประสานงานโครงการ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ว่า ต้องการส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการรักษาสุขภาพร่างกาย และได้รับการรับการคุ้มครองทางสังคมเพื่อเป็นการวางรากฐานคุณภาพชีวิตประชากรที่ดี อันจะนำไปสู่การสร้างสังคมที่ไร้การกีดกันต่อไปในอนาคต รวมทั้งยังส่งเสริมให้คนในพื้นที่ได้ทำงานที่ดีที่มีคุณค่ากับชุมชนโดยการชวนเข้ามาทำงานเป็นล่ามชุมชนอาสาเพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างชนเผ่าต่างๆ กับหน่วยงานสาธารณสุข
โครงการเริ่มต้นครั้งแรกเดือนเม.ย. กำหนดให้ ต.เทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง เป็นพื้นที่นำร่อง เนื่องจากพื้นที่นี้มีความหลากหลาย ทั้งหลากหลายทางชาติพันธุ์และภาษา ช่วงแรกจัดอบรมเรื่องการรักษาสุขภาพให้คนในหมู่บ้าน ต.เทอดไทย ควบคู่ไปกับการเปิดรับอาสาสมัครเข้ามาเป็นล่ามชุมชน
ล่าสุดมีบุคคลที่มีจิตอาสาสมัครเข้ามาร่วมโครงการทั้งสิ้น 7 คน เป็นอาข่า 3 คน, ลาหู่ 2 คนและไทยใหญ่ 2 คน ทุกคนสามารถพูดฟังอ่านเขียนภาษาไทยได้ ผ่านการอบรมขั้นตอนการเป็นล่ามอาสา การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การดูแลผู้ป่วย การกรองเอกสารการเข้ารักษาพยาบาล อบรม 6 เดือน จนทำหน้าที่ล่ามอาสาได้ดี
นอกจากนี้ ล่ามที่ผ่านการอบรมทุกคนจะมีบัตรประจำตัวล่าม และยังได้ประกาศนียบัตรรับรองจากสำนักงานสาธารณสุข จ.เชียงราย ทุกคนพร้อมจะทำประโยชน์ให้ชุมชนของตัวเองและในอนาคตอยากให้แต่ละหมู่บ้านมีล่าม 3 คน จะได้ดูแลคนในหมู่บ้านอย่างทั่วถึง
ด้าน ทพ.ญ.ปาริชาติ ลุนทา ผอ.โรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง ร่วมสะท้อนถึงโครงการว่า ทำให้หมอและพยาบาลทำงานได้สะดวกง่ายขึ้น เพราะเมื่อคนป่วยมาถึงมือหมอ เราจะทราบรายละเอียดเกี่ยวกับอาการของคนไข้ทั้งหมดผ่านล่าม จะทำให้การตรวจรักษาเร็วยิ่งขึ้น
นอกจากต้องสื่อสารด้วยภาษามือแล้ว บางครั้งต้องใช้ภาษาพูดสื่อสารด้วย เพราะภาษาท่าทางบางครั้งไม่สามารถเข้าถึงความรู้สึกเจ็บปวดได้ดีเท่ากับการอธิบายด้วยคำพูด ดังนั้น ล่ามชุมชนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสื่อสารทำความเข้าใจระหว่างชาวบ้านกับหมอ ผลสำเร็จนี้ดูได้จากที่ผ่านมามีผู้ป่วยเข้ารักษาน้อยมาก แต่ขณะนี้ชาวบ้านเข้ามารับการรักษาวันละ 150 คนเพราะเขารู้สึกใกล้ชิดและสนิทกับหมอมากขึ้น
“เราจะเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่า ชนกลุ่มน้อยไม่ได้ ทั้งที่จริงแล้วเขาเป็นคนกลุ่มใหญ่กว่าหมอและพยาบาล พวกเขาอยู่ที่แห่งนี้มาก่อน ดังนั้นเราต้องดูแลพวกเขาให้มีชีวิตและสุขภาพที่ดี คนเหล่านี้เหมือนเป็นญาติพี่น้องของเรา เราในฐานะหน่วยงานที่ดูแลเรื่องสุขภาพร่างกายคน เราจึงเต็มใจที่จะดูแลรักษาพวกเขาให้หายอาการป่วยไข้” ผอ.โรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวงกล่าวหวังว่า ในอนคตโครงการนี้จะมี “ล่ามชุมชนอาสา” มากยิ่งขึ้น เพื่อกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
update : 30-10-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร