ล่องแก่งเก็บขยะ “ลำน้ำเข็ก”

พิสูจน์สายน้ำ..สายชีวิต

 

 ล่องแก่งเก็บขยะ “ลำน้ำเข็ก”

          เช้านี้…ทีมอาสาสมัครล่องแก่งเก็บขยะลำน้ำเข็กตื่นกันแต่เช้า เพื่อเตรียมตัว เตรียมใจ พร้อมผจญภัยไปบนสายน้ำระยะทางเกือบ 10 กิโลเมตร

 

          สีหน้า ท่าทางแต่ละคนยิ้มแย้มสดใสกระปรี้กระเปร่า อาจเพราะได้นอนหลับเต็มอิ่มในบ้านพักที่ห่างลำน้ำเข็กไม่ถึง 20 ก้าวเดิน ได้ยินเสียงสายน้ำไหลริน ผ่านโขดหิน…ไหลลู่ไปกับต้นไม้ เสมือนดนตรีบรรเลงแผ่วเบาช่วยให้ สมองได้ผ่อนคลาย

 

          คนหนึ่งพูดเปรยๆ ว่า “เราเป็นคนป่า…เข้าเมืองก็ตื่นเต้น พอได้เข้าป่า คนป่าก็สัมผัส…รู้ว่าเขายังเป็นคนป่า คุ้นชินกับธรรมชาติ…”

 

          ปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าฯ พิษณุโลก เปิดกิจกรรม “ล่องแก่งเก็บขยะน้ำเข็ก”

ล่องแก่งเก็บขยะ “ลำน้ำเข็ก” 

          “ลำน้ำเข็ก” อยู่ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก มีแหล่งกำเนิดมาจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ด้านอำเภอเขาค้อ ไหลผ่านอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง …ผ่านเทือกเขาที่ลดหลั่นกันมาเป็นน้ำตกศรีดิษฐ์ น้ำตกแก่งโสภา

 

          ผ่านลำน้ำอันคดเคี้ยว กลายเป็นน้ำตกปอย น้ำตกแก่งซอง น้ำตกสกุโณทยาน ไหลผ่านอำเภอวังทอง…รวมกับแม่น้ำน่าน ไหลเป็นคู่ขนานกันไปกับทางหลวงหมายเลข 12

 

          ลำน้ำเข็ก เป็นแม่น้ำไม่ใหญ่นัก แต่ก็เป็นสุดยอดสายน้ำเหนือ ขึ้นชื่อเป็นอันดับต้นๆ ในเรื่องการล่องแก่ง ท้าทายนักล่องแก่งมืออาชีพ ฤดูฝน กระแสน้ำจะรุนแรง เชี่ยวกราก ออกสีน้ำตาลเข้ม ต่างกับฤดูร้อน ฤดูหนาว…กระแสน้ำจะสีขาวสดใส

 

          สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนกิจกรรมนี้ นอกจากจะให้ได้เที่ยวสนุกอิ่มเอมกับธรรมชาติแล้ว อาสาสมัครยังมีภารกิจหลัก คือเก็บขยะตลอดแนวลำน้ำ

 

          กิจกรรมเก็บขยะ เริ่มต้นนับหนึ่งกันที่…บ้านท่าข้าม ล่องผ่านแก่งท่าข้าม เวฟยาว…ผ่านแก่งพนาวัลย์ แก่งมรดกป่า แก่งปากยาง แก่งหินลาด แก่งวังตะเคียน แก่งสบยาง แก่งรัชมังคลา แก่งซาง แก่งโสภาราม แก่งดงสัก แก่งนางคอย แก่งยาว แก่งวังน้ำเย็น และไปจบที่…แก่งทับขุนไท

 

          เกาะแก่งตลอดลำน้ำเข็ก มีความเร้าใจตลอดเส้นทาง ไล่ระดับความยากจากระดับ 1 ไปจนถึงระดับ 5 เหมาะสำหรับผู้ล่องแก่งมือใหม่ ไปจนถึงแฟนพันธุ์แท้ล่องแก่ง กระแสน้ำลำน้ำเข็กแม้ว่าจะไหลเชี่ยวดูทรงอำนาจเหมือนจะชำระทุกอย่างให้ผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่ก็มีบางจุดที่นิ่งสงบ ไม่มีพิษภัย…

 

          ทว่า… ในความนิ่งนี้กลับเป็นแหล่งสะสมของขยะสารพัดชนิด ตั้งแต่ ขวดเบียร์ ขวดแก้ว ขวดน้ำกระป๋อง ถุงขนม กล่องนม พลาสติกหลากแบบ ยาง โฟม…ทั้งโฟมกล่อง โฟมก้อน

 

ล่องแก่งเก็บขยะ “ลำน้ำเข็ก”  ล่องแก่งเก็บขยะ “ลำน้ำเข็ก”

          สุดยอดสายน้ำเหนือ

 

          หลับตานึกภาพปริมาณขยะรายปี ที่มาจากนักท่องเที่ยวนับหมื่นคน…หลายพันกลุ่ม จะมีมากน้อยแค่ไหนคงวัดได้ยาก แต่ในวันนี้ ช่วงเวลาสิ้นสุดกิจกรรมล่องแก่งเก็บขยะ…เกือบบ่ายสามโมง เราได้ขยะ 10 ถุงดำ ใบใหญ่…ประเมินแค่เบาๆ ถุงละ 10 กิโลกรัม ก็ปาเข้าไปแล้ว 100 กิโลกรัม

 

          น้ำเป็นปัจจัยสำคัญของมนุษย์…มนุษย์ขาดน้ำไม่ได้ ชาวลำน้ำเข็กกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ รวมตัวกันก่อตั้ง… ชมรมรักษ์ลำน้ำเข็ก เห็นตรงกันว่า ลำน้ำเข็กคือหม้อข้าวใบโต พวกเขาหากินกับธรรมชาติ ได้เงินจากนักท่องเที่ยวที่มาล่องแก่งชื่นชมน้ำตก… “ถ้าขยะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างนี้ นานวันเข้า คงไม่มีใครอยากมาเที่ยว… ที่สุดแล้ว ก็จะหากินลำบาก”

 

          สอดคล้องกับแนวคิดพ่อเมืองจังหวัดพิษณุโลก ปรีชา เรืองจันทร์ ที่ว่า การอนุรักษ์ธรรมชาติจะต้องทำเดี๋ยวนี้… ก่อนที่จะมีคำว่า “รู้งี้… ทำเสียแล้วก็ดี”

 

          “วิธีแก้ปัญหา ไม่ได้อยู่ที่วิธีคิด…แต่อยู่ที่การลงมือกระทำ ชีวิตชาวลำน้ำเข็กผูกพันกับสายน้ำ ย่อมต้องรู้ด้วยว่า…คนไม่เคยเก่งกว่าธรรมชาติ และคนก็ไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติได้ แต่ต้องอยู่กับธรรมชาติ”

 

          ย้อนเหตุการณ์ความสูญเสียปี 2544 น้ำป่าทะลัก…โคลนถล่ม ต.น้ำก้อ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ และที่ อ.วังชิ้น จ.แพร่ ผลจากการตัดไม้ทำลายป่า บ่งชี้ว่า…ธรรมชาติเจ็บแล้วก็เอาคืน ดังนั้น การเที่ยวให้สนุก เสพธรรมชาติอย่างมีความสุข ต้องไม่เบียดเบียนทำลายธรรมชาติ เอาแค่เด็ดใบไม้ใบเดียวมียางไหลออกมา ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ต้นไม้ก็มีเลือดมีเนื้อ

 

          ล่องแก่งลำน้ำเข็กอย่างมีความคิด สุข …สนุก ร่วมกันอย่างยั่งยืน โปรดอย่าทิ้งขยะให้เป็นภาระกับธรรมชาติ สายน้ำ…ก็เหมือนวันเวลา ที่ไม่มีวัน ย้อนคืนมาได้

ล่องแก่งเก็บขยะ “ลำน้ำเข็ก” 

          เรื่องน่ารู้..ล่องแก่ง

         

          การแบ่งระดับความยากง่ายของสายน้ำที่จะล่องแก่งมี 6 ระดับ ดังนี้..

 

          ระดับ 1 สายน้ำไหลเอื่อย จัดว่าง่ายมาก คนทั่วไปสามารถพายได้ เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้น

 

          ระดับ 2 สายน้ำแรงขึ้นมาอีกระดับ ผู้พายต้องมีทักษะพอสมควร

 

          ระดับ 3 สายน้ำแรงระดับปานกลาง มีแก่งให้ตื่นเต้นเป็นระยะๆ ต้องฝึกฝนเทคนิคการพาย และเรียนรู้ลักษณะของสายน้ำ

 

          ระดับ 4 เป็นระดับที่ยากต้องใช้เทคนิคการพาย และต้องใช้ความระมัดระวังในการล่องแก่ง

 

          ระดับ 5 สายน้ำไหลเชี่ยว อยู่ในระดับที่ยากมาก ต้องใช้เทคนิคบวกประสบการณ์สูง และยังต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ

 

          ระดับ 6 มีลักษณะเป็นน้ำตก จัดอยู่ในระดับอันตราย ไม่เหมาะสำหรับการล่องแก่ง

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

 

 

update 19-07-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code