ลูกในโลกโซเชียล…คนเดียวกับลูกเราหรือเปล่า
ที่มา : เรื่องโดย พงศธร สโรจธนาวุฒิ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.)
เป็นธรรมดา ในสายตาของพ่อแม่ ถึงลูกจะโตเป็นวัยรุ่น แต่พ่อแม่ยังมองลูกเป็นเด็กที่ไม่รู้ประสีประสา และต้องได้รับการปกป้องดูแลอยู่ตลอดเวลา
แต่อีกความจริงที่ต้องยอมรับก็คือ โลกทุกวันนี้เปลี่ยนไป อย่างรวดเร็ว ด้วยการมาถึงของอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ซึ่งอาจทำให้ลูกของเรา ไม่ได้เป็น “เด็กน้อย” ของพ่อแม่อีกต่อไป
บีบีซีรายงานว่า โดยทั่วไป โซเชียลมีเดียทั้งหลายมักตั้งกติกาไว้ว่า อนุญาตให้เฉพาะเด็กอายุมากกว่า 13 ปีขึ้นไปเท่านั้นเข้าใช้งานได้ ซึ่งก็เป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองสิทธิเด็กในโลกออนไลน์ของสหรัฐฯ แต่ในความเป็นจริง มีเด็กๆ ที่อายุต่ำกว่า 13 มากถึงร้อยละ 78 ปลอมแปลงอายุของตนเอง และโดยส่วนใหญ่ เด็กก็เริ่มใช้โซเชียลมีเดียตั้งแต่อายุ 10 ขวบ
และนั่นเป็นที่มาของพฤติกรรมทางเพศที่เปลี่ยนไป วัยรุ่นหญิงในสหรัฐฯ นิยมถ่ายรูป “เซลฟี่” ในลักษณะโป๊เปลือย หรือส่งรูปภาพโป๊ให้แก่กัน จนเกิดกรณีรูปหลุด หรือคลิปหลุดอย่างที่เราเห็นกันบ่อยครั้ง สาววัยรุ่นอีกหลายรายนิยมมี Sextext ซึ่งเป็นการพูดคุยกันในลักษณะยั่วยวนทางเพศ และนำไปสู่การนัดเดท หรือนัดกันไปมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าในโลกออนไลน์
พ่อแม่หลายคนใช้วิธีเข้าไปติดตามควบคุมลูกถึงในโลกออนไลน์ แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะวัยรุ่นส่วนใหญ่จะรู้สึกรำคาญ และใช้หลากหลายวิธีการเพื่อกีดกันพ่อแม่ออกไปจากโลกโซเชียลของตัวเอง เช่น การใช้คำศัพท์แสลง ใช้โค้ตลับคุยกับเพื่อน ทำให้พ่อแม่ไม่รู้ว่าเด็กๆ กำลังคุยอะไรกัน หรือการบล็อกพ่อแม่ไม่ให้เห็นสิ่งที่ตนเองโพสต์ หรือแยกโซเชียลมีเดียออกเป็นหลายๆ ไอดี เช่น ไอดีสำหรับพ่อแม่ และไอดีสำหรับเพื่อนฝูง
สำนักข่าวเดอะการ์เดี้ยนรายงานว่า มีคำกล่าวยอดฮิตในหมู่วัยรุ่นอเมริกันว่า “ถ้าแม่แอดเพื่อนมา เราก็จะเลิกเล่นทันที” เพราะวัยรุ่นส่วนใหญ่เชื่อว่าพ่อแม่จะทำให้ตัวเองรู้สึกอับอายขายขี้หน้าต่อหน้าเพื่อนๆ หากพ่อแม่เข้ามาวุ่นวายและยุ่งเกี่ยวกับชีวิตในโลกโซเชียลของวัยรุ่น
ในประเทศออสเตรียมีกรณีที่วัยรุ่นหญิงฟ้องร้องพ่อแม่ เพราะพ่อแม่โพสต์รูปลูกสาวตัวเองในวัยทารก และวัยเด็กที่กำลังอยู่ในอิริยาบถอาบน้ำ ว่ายน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อม เธอระบุว่า ได้ขอให้พ่อแม่ลบรูปออกแล้ว แต่พวกเขาไม่สนใจ จึงนำเรื่องนี้มาฟ้องร้อง เพราะทำให้ตนเองรู้สึกอับอาย และทำให้ภาพลักษณ์ทางโลกออนไลน์ของเธอดูเสื่อมเสีย
ไมเคิล ไคเซอร์ ผู้อำนวยการองค์กร National Cyber Security Aliiance ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงานด้านการส่งเสริมความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ ระบุว่าปรากฎการณ์ที่พ่อแม่ตามลูกไม่ทันในโลกโซเชียลถือเป็นเรื่องธรรมดา แม้ว่าจะตั้งกฎในบ้าน หรือมีวิธีควบคุมไว้ดีแค่ไหนก็ต้องมีเล็ดรอด และลูกก็จะไม่ทำตามกับกฎที่พ่อแม่ตั้งไว้
ขณะเดียวกัน พ่อแม่ก็ไม่มีทางที่จะรู้ได้หมดทุกอย่างว่าลูกทำอะไรบ้างในโลกออนไลน์ เพราะไม่สามารถสอดส่องได้หมดทุกอย่าง ยิ่งวัยรุ่นซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีออนไลน์ด้วยแล้ว พ่อแม่ก็ยิ่งตามไม่ทัน
ผู้อำนวยการไคเซอร์แนะนำว่า พ่อแม่อย่าได้พยายามไปสอดส่องและจับตาควบคุมลูกในโลกออนไลน์ทุกฝีก้าว ขณะเดียวกัน การละเลยไม่ใส่ใจการท่องอินเทอร์เน็ตของลูก ก็เสี่ยงเกินไป เพราะข้อมูลข่าวสารในอินเทอร์เน็ตมีทั้งที่เป็นประโยชน์และเป็นภัย ยากที่เด็กจะแยกแยะหรือเลือกสรรได้ด้วยตัวเอง ที่สำคัญพ่อแม่ต้องไม่ทำตัวเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ แล้วเอาแต่คิดว่าลูกยังเด็ก ไม่ประสีประสากับเรื่องพวกนี้
ทางออกที่ดีคือ การให้คำแนะนำ ให้ความรู้ เพื่อเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อ เพื่อให้ลูกใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียได้อย่างปลอดภัย รู้จักคิดและตัดสินใจด้วยตัวเอง ที่สำคัญ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องทำให้ลูกรับรู้และมั่นใจว่า หากเกิดปัญหาอะไรขึ้นมา พวกเขาสามารถปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือจากพ่อแม่ซึ่งจะเป็นที่พึ่งที่ดีที่สุดให้กับพวกเขาได้อย่างแน่นอน