ลูกเสือ 4.0 จาก ‘วิชากิจกรรม สู่ ทักษะชีวิต’

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ภาพประกอบจากเว็บไซต์แนวหน้า


ลูกเสือ 4.0 จาก 'วิชากิจกรรม สู่ ทักษะชีวิต' thaihealth


เพราะ "ทรัพยากรมนุษย์"เป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนาประเทศ ที่ใดที่ประชากรส่วนใหญ่มีคุณภาพที่นั่น สังคมมักมีความเจริญก้าวหน้า รัฐบาลชาติต่างๆ จึงพยายามทำให้พลเมืองในประเทศของตนมีคุณภาพสูงเท่าที่ จะเป็นไปได้ เช่น การทำให้การศึกษา ขั้นพื้นฐานเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ทุกคนไม่ว่า ยากดีมีจน รวมถึงการศึกษาชั้นสูงอาจมี เงินให้กู้เรียนเพื่อลดค่าใช้จ่ายปรับเปลี่ยน หลักสูตร พัฒนาศักยภาพผู้สอน


อย่างไรก็ตาม การสร้าง "ทุนมนุษย์" ไม่เพียงแต่ต้องมีความรู้ทางวิชาการ-วิชาชีพเท่านั้น "ทักษะชีวิต" ก็จำเป็นไม่แพ้กัน ซึ่งในระบบโรงเรียน วิชาเก่าแก่วิชาหนึ่งอย่าง "ลูกเสือ" ก็ได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ดังล่าสุดเมื่อไม่นานนี้ มีการเปิดตัว "หลักสูตรลูกเสือเสริมสร้างทักษะชีวิต" คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ สำหรับนำไปใช้ในสถานศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ


น.ส.ลัดดา จิตรวัฒนแพทย์ ผู้จัดการโครงการลูกเสือเสริมสร้างทักษะชีวิต เปิดเผยว่า การดำเนินการ ที่ผ่านมา ระยะที่ 1-2 โครงการได้จัดทำคู่มือครูลูกเสือ สำหรับจัดกิจกรรม การเรียนรู้การสอนวิชาลูกเสือชั้น ป.1- ป.6 และปรับหลักสูตรการฝึกอบรมผู้กำกับลูกเสือ ทั้งขั้นความรู้เบื้องต้นและขั้นความรู้ขั้นสูง ในระยะที่ 3 จึงมุ่งมั่น ที่จะทำให้กิจกรรมลูกเสือเสริมสร้างทักษะชีวิตเกิดประโยชน์สูงสุดแก่เด็กและเยาวชนแท้จริง รวมทั้งเกิดความยั่งยืนในระบบการศึกษา โดยพัฒนาและทดสอบหลักสูตร พัฒนาครูผู้สอนและวิทยากรของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ


"ขณะนี้มีความพร้อมที่จะ ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ ขับเคลื่อนวิชาลูกเสือเสริมสร้างทักษะชีวิต ไปสู่เด็กและเยาวชนกว่า 2 ล้านคนที่เรียนวิชาลูกเสือในโรงเรียนต่างๆ ควบคู่กับการพัฒนาระบบการบริหาร จัดการลูกเสือของโรงเรียนสู่ความเป็นเลิศด้วยการเทียบระดับ ทั้งนี้ การขับเคลื่อนดังกล่าวมุ่งหวังให้เด็กและเยาวชนได้รับการพัฒนาทักษะชีวิตอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงส่งเสริมกิจการลูกเสือของประเทศไทย ซึ่งดำเนินการครบ 107 ปีในปี 2561 ให้มีหลักสูตรที่ทันสมัยสอดคล้อง กับบริบทสังคมในปัจจุบัน" น.ส.ลัดดา กล่าว


ขณะที่ นายบุญเพิ่ม นามภูมิ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าตูมดงสระพัง จ.อุดรธานี กล่าวว่า โรงเรียนบ้านท่าตูมดงสระพัง รับผิดชอบเขต บริการ 5 หมู่บ้านจาก 2 ตำบล มีนักเรียนประมาณ 121-150 คน ปัญหาสำคัญที่พบในพื้นที่ ได้แก่ ยาเสพติด การลักขโมย สาเหตุสำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมและครอบครัว เด็กถูกทอดทิ้งให้อยู่กับปู่ย่าตายาย พ่อแม่ต้องไปทำงานหาเลี้ยงชีพ ครอบครัวแยกทาง


ส่วนทางโรงเรียนก็เจอผลกระทบจากปัญหาเด็กติดเกมมาเรียนด้วยสภาพอิดโรย เพราะเล่นเกมหามรุ่ง หามค่ำ เด็กย้ายโรงเรียนบ่อยสาเหตุจากปัญหาครอบครัว ซึ่ง ผอ.รร.บ้านท่าตูมดงสระพัง เปิดเผยว่า โดยส่วนตัวรักและศรัทธาในกิจกรรมลูกเสือ เลยพยายามนำกิจกรรมลูกเสือมาใช้แก้ไขปัญหา จนได้เข้าร่วมโครงการลูกเสือทักษะชีวิต บนความเชื่อว่าเมื่อใดที่สามารถทำให้เด็กเหล่านี้ "คิดดี-ทำได้ในทางที่ถูก" ย่อมเปลี่ยนได้ทั้งชีวิต


"โรงเรียนบริหารจัดการ 5 ประเด็น คือ 1.สร้างความตระหนัก 2.รักและเข้าใจในงาน 3.ประสานความร่วมมือ 4.ระบบ ทั้งการบริหาร จัดการ การบังคับบัญชาลูกเสือ การสนับสนุน การจัดกิจกรรม 5.ทำตาม กระบวนการ ปัจจุบันเมื่อนำกระบวนการ ลูกเสือสร้างทักษะชีวิตมาใช้ตามแนวทางปรากฏว่าที่โรงเรียนแทบจะไม่มีเด็ก ติดเกมเลย เด็กทุกคนมีวินัย รู้หน้าที่ตนเอง ส่งผลทางวิชาการคือผลสัมฤทธิ์การทดสอบทางการศึกษา ระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ดีขึ้นจนได้คะแนนเฉลี่ยเป็นอันดับ 1 ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถม ศึกษาอุดรธานี เขต 1 " นายบุญเพิ่ม ระบุ


เช่นเดียวกับ น.ส.ชมพูนุช บุตรพรม ครูผู้ช่วยโรงเรียนห้วย ซวกคกเลาใต้ จ.เลย เล่าว่า ด้วยความที่เป็นโรงเรียนประถมศึกษาขยายโอกาสขนาดเล็ก อยู่ติดชายแดนแม่น้ำโขงมีนักเรียน 118 คน ตนเป็นครูประจำชั้น ป.1 ต้องสอนทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ในตอนแรกยอมรับว่าด้วยความเป็นครูยุคใหม่ที่ไม่ให้ความสำคัญกับวิชาลูกเสือ เท่าใดนัก แต่พอได้ศึกษาคู่มือลูกเสือเสริมสร้างทักษะชีวิตรู้สึกประทับใจ เพราะต่างจากวิชาลูกเสือที่เคยเรียนมาที่เน้นแค่ความรู้


ลูกเสือ 4.0 จาก 'วิชากิจกรรม สู่ ทักษะชีวิต' thaihealth


น.ส.ชมพูนุช ระบุว่า หลักสูตรลูกเสือเสริมสร้างทักษะชีวิตสอนความรู้ ควบคู่กับการมีทักษะชีวิต ยกตัวอย่างเด็ก ป.1 ของโรงเรียนมีปัญหาไม่ทานผัก ที่ผ่านมา ครูส่วนใหญ่สอนว่าถ้ากินผักจะมีร่างกายแข็งแรง แต่ลูกเสือเสริมสร้างทักษะชีวิตจะสอนว่าถ้าเด็กทานผักเขาจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง ดังนั้นจะดีกว่า หรือไม่ถ้าสามารถสอนเด็กของเราเริ่มจาก 1 คนสามารถทานผักได้ ก็จะส่งผลให้เขามีสุขภาพร่างกายแข็งแรงควบคู่ ไปกับการมีความรู้ด้วย


"อยากจะบูรณาการเรื่องทักษะชีวิตเข้ากับวิชาเรียน เพราะใน 1 ชั่วโมงของการเรียนลูกเสือเสริมสร้างทักษะชีวิตไม่เพียงพอ การสร้างทักษะต้องทำต่อเนื่องและอาศัยเวลา และถ้าเป็นไปได้อยากขยายผลไปยังโรงเรียนอื่นๆ ใน สพป.เลย ให้นำหลักสูตรนี้ไปใช้ อยากให้ครูรุ่นใหม่ให้โอกาสกับวิชาลูกเสือเสริมสร้างทักษะชีวิตเพราะได้อะไรมาก ซึ่งสำหรับเราแล้วลูกเสือเสริมสร้างทักษะชีวิต ไม่ใช่แค่หลักสูตรที่สอนให้ลูกศิษย์มีความรู้ แต่สอนให้ลูกศิษย์มีชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ มีความสุข และปลอดภัย" น.ส.ชมพูนุช กล่าว


จากมุมมองผู้ใหญ่สู่เสียงสะท้อนของเยาวชน ด.ช.ชินดนัย โพธิ์เนียธ นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนวัดคงคาราม จ.ชัยนาท เผยว่า ที่โรงเรียนจะใช้วิธีการสอนแบบบูรณาการ โดยผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะกรรมการสถานศึกษา ได้ประสานกับหน่วยงานต่างๆ เข้ามา จัดอบรมให้ความรู้ ฝึกฝนการดำรงชีวิตประจำวันให้แก่นักเรียน และตนก็เป็นคนหนึ่งที่ตอนแรกก็เกิดคำถามเหมือนกันว่าทำไมต้องเรียนลูกเสือเสริมสร้างทักษะชีวิต แต่เมื่อได้มาเรียนก็เข้าใจว่าการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมมีความเสี่ยง มากมาย จึงต้องมีการสอนให้รับมือ ไม่นำตนเองเข้าไปอยู่ในความเสี่ยงนั้น


"ปกติเด็กนักเรียน 150 คน เวลาเลิกแถวออกนอกโรงเรียนจะต่างคนต่างเดินคนละทิศละทาง แต่พอผ่านการอบรมมาแล้ว มีการตั้งทีมสารวัตรลูกเสือเป็นเวรแต่ละวัน คอยดูแล ตักเตือนถ้าพบอะไรไม่ถูกต้อง แม้แต่ผมเองก็เคยได้รับการตักเตือน นอกจากนี้จะมีการเปิดประชุมกองเรียนตามฐานต่างๆ ได้แก่ รู้จักวิธีการปลอดภัยจากสารเสพติด รู้จักหลีกเลี่ยงสารปนเปื้อนในอาหาร สอนความเป็นสุภาพบุรุษ สุภาพสตรี ซึ่งถ้าสังคมไทยมีสิ่งเหล่านี้ปัญหาอื่นๆ ก็จะไม่ตามมา" ด.ช.ชินดนัย กล่าว


อย่างที่ทราบกันดีว่าลูกเสือเป็นวิชาเก่าแก่ และภาพที่คุ้นเคยคือ มีกลิ่นของการผจญภัยอยู่นิดๆ เช่น การเดินทางไกล ฝึกใช้แผนที่-เข็มทิศ ฝึกก่อกองไฟและทำอาหารในพื้นที่ ธรรมชาติ การผูกเงื่อนเชือก การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ฯลฯ เมื่อโลกเปลี่ยนไปและคนรุ่นใหม่ๆ เติบโตมาในเมืองที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีอำนวยความสะดวก วิชาลูกเสือจึงถูกมองว่าล้าสมัย ซึ่ง ดร.วรัท พฤกษากุลนันท์ ผู้อำนวยการสำนักการลูกเสือ ยุวกาชาด และกิจการนักเรียน ให้มุมมองว่า เด็กรุ่นใหม่เกิดมาในยุคใช้โทรศัพท์มือถือ เมื่อตัวป้อนเปลี่ยนวิธีการสอนแบบเดิม จึงใช้ไม่ได้


ประกอบกับวิชาลูกเสือมีความเป็น มาถึง 107 ปี จึงเป็นโจทย์ว่าจะผสมผสาน กับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอย่างไร ดังนั้น เมื่อหลักสูตรลูกเสือเสริมสร้างทักษะชีวิตตอบโจทย์ได้ ดังนั้น ปี 2562 สำนักการลูกเสือยุวกาชาดฯ จะเริ่มดำเนินการทำงานเชิงนโยบายให้มากขึ้น และนี่คือภารกิจสำคัญที่สำนักฯ ต้องนำไปสู่การปฏิบัติให้ได้ และจะนำไปใช้ในทุกสังกัดของ ศธ.ไม่เฉพาะ สพฐ. เท่านั้น


ด้าน นายพนัส บุญวัฒนสุนทร รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนากิจกรรมนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการ ศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เล่าว่า กว่า 10 ปี ของความพยายามนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย นี่จึงเป็นเรื่องมหัศจรรย์ เกิดเป็นหลักสูตร ที่สมบูรณ์แบบ ชัดเจนครูสามารถนำไป สอนได้ทุกคน จากการที่โรงเรียนต้นแบบจำนวน 150 โรงเรียนนำไปใช้แล้ว เชื่อมั่น จากการสะท้อนให้เห็นถึงแผนการเรียน ใน 60 นาที สามารถนำไปต่อยอดในชั่วโมงลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ดังนั้น สพฐ.จะผลักดันเต็มที่ ที่จะให้โรงเรียนกว่า 30,000 โรง ต่อยอดการนำไปใช้ในทุกโรงเรียนให้ได้


น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในประเทศอื่นๆ จะไม่บรรจุวิชาลูกเสือเนตรนารีไว้ในโรงเรียนแต่ตั้งเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ให้เด็กและเยาวชนไปสมัครเป็นสมาชิกเพื่อทำงานจิตอาสา แต่ประเทศไทยถือเป็นเรื่องพิเศษ เพราะเราบรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนรู้ทำให้เด็กทุกคนมีโอกาสได้เรียนรู้


ดังนั้นการที่เราปรับเป็นหลักสูตรพัฒนาทักษะชีวิตยิ่งนับเป็นเรื่องที่ดีมากเพราะ "ระบบการศึกษาของเราเน้นการแข่งขันทางวิชาการ วิชาทักษะหลักสูตรลูกเสือเสริมสร้าง ทักษะชีวิตจึงช่วยอุดช่องว่าง" ดังรายงานของธนาคารโลก (World Bank) ก็แนะนำว่าหากโรงเรียนเน้นพัฒนาเรื่องทักษะชีวิต-ทักษะสุขภาพของเด็ก ก็มักจะได้ผลดีในเรื่องการเรียนของเด็กไปด้วย


"วิชาลูกเสือเสริมสร้างทักษะชีวิตคือโอกาสทองในการสร้างพลเมืองรุ่นใหม่ที่เข้มแข็ง ซึ่งทำได้ตั้งแต่ปฐมวัย จึงอยากเชิญชวนโรงเรียนนำร่องทั้ง 150 โรงเรียนมา ร่วมกันขยายผล สร้างคุณค่าวิชาลูกเสือ โดยใช้ช่วงเวลาเรียนให้เป็นชั่วโมงในการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ เรียนรู้ แบบเด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน เพราะสิ่งเหล่านี้จะติดตัวเด็กไปจนเติบโต เกิดทักษะในชีวิตประจำวัน ซึ่งต้องอาศัย ทุกองคาพยพให้ขยายผลให้มากขึ้น หรือโรงเรียนใกล้เคียงกันจับกลุ่มกันเพื่อกระจายการเรียนรู้หลักสูตรใหม่ให้ขยายไปได้เร็วมากขึ้น" น.ส.ณัฐยา กล่าวทิ้งท้าย

Shares:
QR Code :
QR Code