ลูกบอกก่อนได้คงขอ ‘แม่จ๋าอย่ารีบ’ ท้องไม่พร้อมคือทุกข์
“วัยรุ่นที่คลอดมักจะเป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม และเป็นการตั้งครรภ์นอกสมรส วัยรุ่นจึงปกปิดปัญหา ทำให้มาฝากครรภ์ช้า ไม่บำรุงครรภ์ ซึ่งมีผลทั้งต่อมารดา และต่อทารก โดยพบว่าการคลอดก่อนกำหนด ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักตัวน้อย ที่อาจมีผลแทรกซ้อนตามมาภายหลังคลอด”
“วัยรุ่นต้องกลายมาเป็นแม่ตั้งแต่อายุยังน้อย มีวุฒิภาวะยังไม่พร้อมที่จะเลี้ยงดูบุตร อาจจะมีผลกระทบทางด้านสังคม จิตใจ ตามมา วัยรุ่นต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน เข้าสู่ระบบแรงงานก่อนวัยอันควร”
นี่เป็นสถานการณ์เกี่ยวกับการเป็นมารดา “เป็นแม่” ในแง่มุมที่ “เป็นปัญหา” แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทยมานานแล้ว และในปัจจุบันนี้สถานการณ์ดังกล่าวนี้ก็ยังไม่ดีขึ้นมากนัก ซึ่งในโอกาสที่ “วันแม่” เวียนมาถึงอีกครั้ง สังคมไทยก็น่าจะได้พิจารณาสถานการณ์เกี่ยวกับแม่ในมุมนี้บ้าง
“แม่” ในอีกมุมที่ทุกฝ่ายในสังคมก็ควรตระหนักเพื่อที่จะได้ร่วมกันนำไปสู่การแก้ไขสถานการณ์ทั้งนี้ กับสถานการณ์การตั้งครรภ์ “ตั้งท้อง” ของวัยรุ่นหญิงไทยอายุต่ำกว่า 20 ปีนั้น ทางสำนักอนามัยเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มีการทำสำรวจ ซึ่งในปี 2552 พบว่า สาเหตุการตั้งท้องนั้น เกิดจากการ ไม่ได้ป้องกันขณะมีเพศสัมพันธ์ ร้อยละ 45.5 , คุมกำเนิดไม่สม่ำเสมอ ร้อยละ 28.2, ขาดความรู้ในการคุมกำเนิด ร้อยละ 9.0, แพ้ยาคุม ร้อยละ 7.7, ยาคุมกำเนิดไม่มีประสิทธิภาพ ร้อยละ 6.4 และอีกร้อยละ 2.6 ของผู้ถูกสำรวจไม่ตอบคำถามถึงสาเหตุการตั้งท้อง ส่วนที่เป็นการถูกล่วงละเมิดถูกกระทำชำเรา มีร้อยละ 0.6
ขณะที่อนามัยโพล ปี 2552ยังมีการสำรวจเรื่อง การป้องกันการตั้งครรภ์เมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ซึ่งพบว่า ใช้ถุงยางอนามัย วัยเรียน ม.3ใช้ร้อยละ 64.3 ม.6 ใช้ร้อยละ 56.4 ปวช. ใช้ร้อยละ 38.8, ไม่ได้ทำอะไรเลย ม.3ร้อยละ 17.9 ม.6ร้อยละ 30.9 ปวช. ร้อยละ 43.5 , ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน ม.3ร้อยละ 10.7ม.6ร้อยละ 9.6 ปวช. ร้อยละ 10.0, นับวันก่อนหลังมีรอบเดือน ม.3 ร้อยละ 7.1 ม.6ร้อยละ 2.1 ปวช. ร้อยละ 4.3, ใช้ยาฉีดคุมกำเนิด ม.3 จากผู้ที่ถูกสำรวจไม่พบการใช้ ม.6 ใช้ร้อยละ 1.1 ปวช. ใช้ร้อยละ 1.0
มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อยนี่คือสถานการณ์จริง
อีกทั้งยังมีกรณีทัศนคติการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่ง.สำหรับทัศนคติเรื่อง การมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน นั้น เรื่องนี้ผู้ถูกสำรวจที่เห็นว่าจำเป็น โดยรวมร้อยละ 19.4ชายร้อยละ 34.0หญิงร้อยละ 7.9, ที่เห็นว่าเพื่อทดลองใช้ชีวิตก่อนแต่งงาน โดยรวมร้อยละ 51.4ชายร้อยละ 50.2หญิงร้อยละ 55.4, ที่เห็นว่าเพื่อเป็นการผูกมัดคู่รัก/แฟน โดยรวมร้อยละ 38.7ชายร้อยละ 38.3หญิงร้อยละ 40.0และความเห็นอื่น ๆ โดยรวมร้อยละ 9.9ชายร้อยละ 11.5หญิงร้อยละ 4.6
ทั้งนี้กับความเห็นที่ว่าการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานเป็นการผูกมัดคู่รัก/แฟนนั้น คำถามคือโดยข้อเท็จจริงเป็นเช่นนั้นเสมอไปล่ะหรือ?? คำตอบคือไม่เสมอไป!! และถ้าฝ่ายผู้หญิงคิดเช่นนี้ก็น่าจะสุ่มเสี่ยง
สุ่มเสี่ยงที่จะ “ตั้งท้องไม่พร้อม-เป็นแม่โดยไม่พร้อม” ถ้าตั้งท้องเดียวดาย-เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวก็ไปกันใหญ่ กับกรณีวัยรุ่นหญิงไทยตั้งท้องโดยไม่พร้อม-เป็นแม่โดยไม่พร้อมนี้ จากการศึกษาวิจัยโดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดย พญ.เบญจพร ปัญญายงพบว่า การคลอดลูกของเด็กและวัยรุ่นหญิงไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น การคลอดของวัยรุ่นที่มีอายุน้อยลงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง 10ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2552 มีเด็กและวัยรุ่นตั้งท้องคลอดลูก 122,736คน!! หรือประมาณ 336 คนต่อวัน!! ในจำนวนผู้คลอดนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ประมาณ 3,000 คนต่อปี!! ซึ่งผลที่อาจตามก็คือสถานการณ์ดังที่ได้ระบุไว้แต่ต้น ยังไม่นับรวมส่วนที่หาทางออกด้วยการ “ทำแท้ง” ที่มักไม่ปลอดภัย ผิดกฎหมาย และเป็นบาป
ทางออกของเรื่องนี้-ปัญหานี้ สำหรับทาง สสส. ก็มีการนำเสนอแนวทางลดปัญหา เบื้องต้นตั้งเป้าลดให้ได้ร้อยละ 20 ภายในปี 2555 ซึ่งก็มีหลายมาตรการประกอบการ ทั้งมาตรการป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น, มาตรการพัฒนาระบบบริการด้านสุขภาพและอนามัยเจริญพันธุ์, มาตรการด้านข้อมูล การเฝ้าระวัง และงานวิจัยในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น รวมถึงมาตรการเกี่ยวกับการพัฒนาเยาวชนไทย ซึ่งก็มีรายละเอียดต่างๆ อย่างครอบคลุม และก็เชื่อว่าฝ่ายต่าง ๆ คงได้มีการดำเนินการกันบ้างแล้วในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ดี ฝ่ายหนึ่งที่ก็ถือว่าสำคัญมากในการลดปัญหาท้องไม่พร้อม-เป็นแม่โดยไม่พร้อม ก็คือเด็กวัยรุ่นหญิง ซึ่งควรให้ความสำคัญกับค่านิยมเรื่อง “เพศสัมพันธ์ที่มีสุขภาวะ ไม่เสี่ยงต่อการท้องไม่พร้อม”
ถ้าจิตวิญญาณมีจริง และที่รอการเกิดสามารถจะบอกได้ก็คงบอกเจ้าของครรภ์ที่จะต้องมาเกิดว่า “แม่จาอย่ารีบ” เพราะอาจนำมาซึ่ง “ทุกข์สาหัส” ทั้งกับลูกและกับแม่!!
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์