‘ลิเกฮูลู’ การละเล่นพื้นบ้าน ‘พระประแดง’

'ลิเกฮูลู' การละเล่นพื้นบ้านชาวใต้ ถูกนำมาเผยแพร่และอนุรักษ์อย่างมีอัตลักษณ์ ณ พื้นที่พระประแดง


'ลิเกฮูลู' การละเล่นพื้นบ้าน 'พระประแดง' thaihealth'ลิเกฮูลู' การละเล่นพื้นบ้าน 'พระประแดง' thaihealth


บ้านปากลัด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ นับว่าเป็นชุมชนมุสลิมเก่าแก่ที่สุดของจังหวัดสมุทรปราการจากการค้นพบบันทึกของ อิหม่ามโต๊ะครูอับบาสบินอับดุรเราะห์มาน (แสงวิมาน) ผู้นำศาสนา ได้เขียนเป็นภาษามลายูบอกเล่าเรื่องราวในยุคอดีตถึงบรรพบุรุษของบ้านปากลัดที่ย้ายภูมิลำเนาจากปัตตานีมายังกรุงสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยกล่าวถึง 3 พี่น้อง โดยคนแรกคืออิหม่ามดอมุฮิ คนที่สอง คอเตบดามาลี และคนสุดท้าย บิหลั่นยะห์ยา ในบันทึกสายตระกูลว่า "ในการมาครั้งนั้นได้มีผู้ที่มีความรู้เรื่องศาสนาอิสลามติดตามมาด้วยเป็นจำนวนมาก จนมีการตั้งชุมชนและสถาบันที่ถูกจัดตั้งขึ้นพร้อมกับชุมชนคือมัสยิดนั่นเอง"


กว่า 229 ปีแล้วที่ชุมชนแห่งนี้ปักหลักอยู่โดยมีอัตลักษณ์ของตัวเองที่เด่นชัด และยังรักษาไว้อย่างเข้มแข็ง พร้อมนำมาเผยแพร่สู่สายตาประชาชนอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการละเล่นท้องถิ่นอย่าง "ลิเกฮูลู" และต่อมาทางชุมชนได้ร่วมโครงการกับโรงเรียนในย่านพระประแดง เพื่อบรรจุองค์ความรู้ประวัติศาสตร์บ้านปากลัดไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนด้วย เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้ศึกษาถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน


ครูอามีนะห์ มูซอ (ครูเจี๊ยบ) เล่าว่า "ลิเกฮูลู" เริ่มต้นจากเมื่อปี พ.ศ.2547 มีผู้ใหญ่ในหน่วยงานของภาครัฐเล็งเห็นว่า พื้นที่นี้เป็นจุดเสี่ยงเกี่ยวกับยาเสพติดและยังเป็นพื้นที่สีแดง ทางหน่วยงานภาครัฐจึงหารือกับผู้อำนวยการของโรงเรียนสอนศาสนาทับทิมแดงเนียมอุปถัมภ์และคณะครู โดยได้ข้อสรุปในทิศทางเดียวกันว่าให้ทำกิจกรรมขึ้นมาอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้เยาวชนได้ห่างไกลจากอบายมุขดังกล่าว


ด้วยชุมชนบ้านปากลัดมีเชื้อสายเดิมมาจากลุ่มน้ำปัตตานี ทางคณะครูจึงได้นำวัฒนธรรมของภาคใต้มาแสดงคือ "ลิเก'ลิเกฮูลู' การละเล่นพื้นบ้าน 'พระประแดง' thaihealthฮูลู" นั่นเอง


เริ่มแรกได้เป็นตัวแทนภาคที่ 1 รวม 9 จังหวัด ไปแสดงในงานของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และสำนักตรวจสอบคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ (สตส.) ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอยุธยา


นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก็มีงานแสดงตามที่ต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน "ลิเกฮูลู" ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานกับแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ด้วยการนำเนื้อหาความรู้ที่เกี่ยวกับการรณรงค์ที่แผนงานนี้มาประกอบการแสดง


เช่น กิจกรรมอย่าปล่อยให้เด็กอ้วน ทาง "ลิเกฮูลู" จึงได้คิดบทร้องให้เป็นการรณรงค์เกี่ยวกับการลดความอ้วนขึ้น หรือแม้แต่การให้กำลังใจกับคนที่ด้อยโอกาสกว่า แม้แต่การสร้างความสุขให้กับคนที่กำลังรอรถโดยสารสาธารณะ เพื่อเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลสำคัญๆ ที่สถานีขนส่งเส้นทางเหนือ อีสาน และใต้ สถานีรถไฟหัวลำโพง และอื่นๆ ที่สามารถไปได้


สำหรับการสอนและให้ความรู้แก่เด็กๆ เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมเหล่านี้ "ครูเจี๊ยบ" เล่าว่า จะสอนจากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย สิ่งที่เห็นได้ชัดจากการร่วมกิจกรรมนี้คือ การเปลี่ยนแปลงของเด็กๆ เช่น มีพัฒนาการที่ดีขึ้น และผู้ปกครองก็ให้ความร่วมมืออย่างมาก และเด็กที่ร่วมกิจกรรมก็ออกห่างจากปัญหายาเสพติด


ครูผู้สอนกล่าวต่อว่า สำหรับกิจกรรมส่วนใหญ่จะเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมทางภาคใต้ เช่น ลิเกฮูลู ตาลีกีปัส รองเง็ง ขณะนี้มีสมาชิกทั้งหมด ร่วม 50-60 คน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้นับถือชาวอิสลามเกือบทั้งหมด


"มีหลายคนที่ไม่ใช่คนอิสลามแล้วอยากมาเข้าร่วมกิจกรรม เราก็บอกว่ามาเข้าร่วมได้ ไม่จำกัดว่าเป็นชนชาติใด นับถือศาสนาอะไร เพราะคำนึงถึงประโยชน์ที่พวกเขาจะได้รับต่อไปมากกว่า แม้บางงานจะไม่มีค่าตัวให้กับเด็ก แต่ว่าถ้าใครมากับเรา อย่างน้อยก็มีที่พักและอาหารให้ไม่จำกัด" ครูเจี๊ยบกล่าวเชิญชวน


น้องญาสิมีน น.ส.บุญธิดา เกียรติ ศิลปิน อายุ 15 ปี บอกว่า เป็นนักเรียนในโรงเรียนสอนศาสนาทับทิมแดงเนียมอุปถัมภ์ เบื้องต้นเห็นชุดที่ใส่การแสดงดังกล่าวสวยงามจึงตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรม และสิ่งที่ได้รับกลับมาคือ สอนให้เรากล้าแสดงออกและเป็นผู้นำ รักและหวงแหนในศิลปวัฒนธรรมมากขึ้น อีกทั้งยังได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเพื่อนๆ คนอื่นด้วย จากที่ทำอะไรไม่เป็น ก็ได้เริ่มเรียนรู้ มีความรับผิดชอบ รู้จักการอยู่ร่วมกับคนอื่น และที่สำคัญยังเป็นการทำประโยชน์ให้แก่สังคมอีกด้วย โดยเฉพาะส่งเสริมให้เยาวชนห่างไกลยาเสพติด


ด้าน น้องเฟิส ด.ญ.ศรุตา บุญธรรม อายุ 12 ปี บอกว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้ร่วมกิจกรรมนี้ เพราะได้ทั้งความสุข สนุกสนาน รวมทั้งเปลี่ยนแปลงนิสัยหลายอย่าง รู้จักแบ่งปันมากขึ้น ไม่เอาเปรียบเพื่อน ไม่โยนความผิดให้กัน ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม และสร้างความสามัคคีในหมู่เพื่อนๆ ที่สำคัญได้ห่างไกลจากยาเสพติด รวมทั้งได้การอนุรักษ์วัฒนธรรมของชาวใต้ที่ตัวเองมีเชื้อสาย


นี่คือการละเล่นพื้นบ้านที่แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส.ให้การสนับสนุน เพราะเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นศิลปวัฒนธรรมในรูปแบบใด จะอยู่ภูมิภาคไหน จะนับถือศาสนาใด หรือต้นกำเนิดมาจากไหน เมื่อมาอยู่ใต้ร่มฟ้าเดียวกัน สามารถสานสัมพันธ์กันฉันพี่น้อง และสร้างความสุขให้เกิดขึ้นได้


สนใจกิจกรรมอื่นๆ ที่แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส.สนับสนุน ดูได้ที่นี่ www.artculture4health.com ไม่แน่คุณอาจเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างรอยยิ้มและสืบสานวัฒนธรรมบ้านเกิดให้คงอยู่ไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Shares:
QR Code :
QR Code