‘ละคร’ สร้างการเรียนรู้ให้เยาวชน

        สสส.ร่วมกับมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ภาคีละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงและครู 6 พื้นที่ทั่วประเทศ สร้างการเรียนรู้ใหม่ผ่านกระบวนการละคร บนพื้นฐานของการปฏิบัติจริง สอดรับกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21


'ละคร' สร้างการเรียนรู้ให้เยาวชน thaihealth


        นายพฤหัส พหลกุลบุตร มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) หัวหน้าโครงการพัฒนาเครือข่ายละครสร้างปัญญาเพื่อเยาวชน (Theatre for Transformation Network) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจัดทำในปี 2556-2557 มีแนวคิดว่ากระบวนการละครจะเป็นวิธีการในการสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญาของเยาวชนและสร้างสุขภาวะปัญญาของสังคมได้ด้วยวิธีต่างๆ ที่เน้นการเปลี่ยนแปลง (Transformation) จากภายในตัวของเยาวชน โดยเสริมพลัง คุณค่าเชิงบวก ด้วยฐานคิดทฤษฎี “การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง” (Theory of Learning For Transformation) ของกระบวนการละคร


        หัวหน้าโครงการย้ำว่า กระบวนการละครมุ่งให้เกิดการรับรู้ความจริง รู้เหตุ รู้ผล มีความเข้าใจและเห็นคุณค่าในตนเอง และการพัฒนาจิตอาสาโดยผ่านกระบวนการกลุ่ม รวมถึงการสร้างและพัฒนาเครือข่ายชุมชนนักปฏิบัติการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่การผลักดันกลไกการสร้างพื้นที่และกิจกรรมสร้างสรรค์ทางปัญญาสำหรับเยาวชน ผ่านศิลปะการละคร โดยมีเครือข่ายนักการละครและครูทั้งหมด 6 พื้นที่ ครอบคลุมทั่วประเทศที่นำกระบวนการละครไปใช้


    'ละคร' สร้างการเรียนรู้ให้เยาวชน thaihealth    ได้แก่ เชียงใหม่ มหาสารคาม อุบลราชธานี สงขลา ชลบุรี และอุตรดิตถ์ รวมทั้งผ่านครูและนักพัฒนาท้องถิ่น ในมิติของละครที่แตกต่างกัน เช่น “หลักสูตรละครหัวใจมนุษย์ในห้องเรียนแพทย์” ครูหมอน้อย พญ.ปาริชาติ วงศ์เสนา วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ม.อุบลราชธานี “ละครสร้างการเรียนรู้" ครูจิ๊บ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ “ละครในทัณฑสถานหญิง” ครูอ้อ มัลลิกา ตั้งสงบ เป็นต้น


       "การสร้างพลเมืองที่มีส่วนร่วมต่อปัญหาของชุมชนและสังคม เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งต่อสังคมไทยในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน การเรียนรู้ของเยาวชนที่ส่งเสริมกระบวนการคิดวิเคราะห์ มีวิจารณญาณ และสามารถสื่อสารความคิดเพื่อการแกัปัญหาอย่างเสมอภาคเท่าเทียม เป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งของโลกในศตวรรษที่ 21 ทั้งหมดทั้งปวงผมเชื่อว่ากระบวนการละครจะช่วยฝึกสิ่งเหล่านี้ได้ เพราะละครสนใจในความเป็นมนุษย์ " นายพฤหัสกล่าว


       นายไพบูลย์ โสภณสุวภาพ จากกลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์ จ.ชลบุรี กล่าวว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากแผนพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก ทำให้กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์และภาคีกลุ่มเพื่อนตะวันออกตั้งโจทย์คำถามที่สำคัญว่าจะทำอย่างไรที่จะติตตั้งวิธีคิดใหม่เพื่อให้เยาวชนและคนในชุมชนรับรู้และเท่าทันกับสถานการณ์ปัญหาในพื้นที่ และจะทำอย่างไรจึงจะดึงการมีส่วนร่วมของแกนนำเยาวชนให้หันมาเห็นคุณค่าและรักษาบ้านเกิดของตัวเอง กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์ได้พัฒนาแนวคิด “ศิลปะการละครเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง” ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของใจคน จึงนำมาใช้สร้างการเรียนรู้กับเยาวชนและคนในชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ใน จ.ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง พร้อมนำเสนอตัวอย่างการใช้ “การเรียนรู้ชุมชนผ่านกระบวนการละคร” ชุดกิจกรรมกระบวนการเรียนรู้ด้านในเพื่อสร้างปัญญาในมิติความเป็นมนุษย์นำไปสู่การผลิตละครเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนให้รักบ้าน รักเมือง เป็นการปลุกพลังหัวใจพลเมืองของคนในชุมชนได้อย่างแท้จริง


        “ความงอกงามของโครงการเรียนรู้บูรพาผ่านละคร คือ การเกิดมิติความเป็นมนุษย์ในใจคน ใจเอื้อ เคารพ อยู่ร่วมอย่างมีภูมิรู้ และพร้อมที่จะดูแลรักษาภาคตะวันออกผ่านกำลังที่ทำได้ เป็นปัญญาในกายตนที่เริ่มปรากฏภายในตัวเยาวชน ผู้ใหญ่และทีมงาน อีกทั้งเราเรียนรู้ไปพร้อมกับชุมชนจนเกิดนวัตกรรมสร้างการเรียนรู้ ชุด "กระบวนการศิลปะการละครเพื่อการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง" นายไพบูลย์กล่าว


        ส่วน นายโตมร อภิวันทนากร กลุ่มมานีมานะ จ.สงขลา ได้นำละครเข้าไปใช้ในการเรียนรู้ผลกระทบจากแผน'ละคร' สร้างการเรียนรู้ให้เยาวชน thaihealthพัฒนาภาครัฐในภาคใต้ต่อความเปลี่ยนแปลงกับพื้นที่ ชุมชน เช่น อ.จะนะ จ.สงขลา โดยพบว่าเครื่องมือละครซึ่งมีพลังในการสะท้อนเรื่องราวได้อย่างมีพลัง เข้าถึงคุณค่าทางจิตใจ และเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมระหว่างกลุ่มเยาวชนศิลปินผู้ทำละครกับผู้คนผู้ชมละครในชุมชน จึงถูกนำมาใช้พัฒนาเยาวชนให้มีทักษะในการสร้างสรรค์ผลงานละคร พร้อมกับสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่เยาวชนผู้ทำละครอย่างมาก ดังนั้นด้วยความต้องการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาต่างๆ ของเครือข่ายนักพัฒนาและนักละครในพื้นที่ภาคใต้


      "การสนับสนุนให้เยาวชนได้กลายเป็นผู้เล่นที่สำคัญของชุมชนนั้นเป็นเรื่องสำคัญจริงๆ มันไม่ใช่แค่ผลงานละครที่น่าสนใจ หรือความสามารถในการทำงานละครทำกิจกรรมที่แข็งแรงขึ้น แต่สิ่งที่เขาได้ลงมือทำด้วยกำลังความสามารถของตัวเขาเองด้วยวิธีการทางศิลปะ มุ่งที่จะสร้างปัญญาแก่ชุมชนนี้ มันมีความหมายในแง่ความรู้สึกต่อชีวิตเขามาก และศักยภาพในงานละครสร้างปัญญาเล็กๆ นี้เองมันก็สะท้อนให้เห็นบทบาทของความเป็นพลเมืองที่ไม่นิ่งดูดายกับปัญหาของชุมชน ด้วยวิธีคิดที่อยากจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น อยากเห็นปัญหาที่สร้างความทุกข์แก่ผู้คนหมดไป” นายโตมรกล่าว


       ทั้งนี้ ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่นำกระบวนการละครไปใช้ในการเรียนรู้แก่ชุมชนและเยาวชนหลากหลายรูปแบบ โครงการพัฒนาเครือข่ายละครสร้างปัญญาเพื่อเยาวชน จะดำเนินการจัดงานนวัตกรรมสร้างปัญญาเพื่อเผยแพร่ประสบการณ์การทำงาน องค์ความรู้ นวัตกรรม รวมทั้งผลงานละครขององค์กรภาคีเครือข่าย 6 พื้นที่และกลุ่มละครเยาวชน เพื่อนำเสนอต่อสาธารณชนและผู้สนใจทั่วไป ภายใต้ชื่องาน "นวัตกรรมละครสร้างปัญญา เปิดกะโหลก ชะโงกดูเงา"


 


 


      ที่มา: เว็บไซต์คมชัดลึก

Shares:
QR Code :
QR Code