ละคร ศิลปะ สะท้อนอิสระแห่งตัวตน
พัฒนาเยาวชนเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม – ชุมชน
“ศิลปะ” ไม่มีคำว่าถูกหรือผิดมีแค่ชอบหรือไม่ชอบ ศิลปะผสมผสานการละครคือนวัตกรรมใหม่ช่วยเปลี่ยนวิธีคิดมุมมองของเด็กและเยาวชนที่มองสังคมด้านลบกลับมาสู่ด้านบวกได้
ต.เจ็ดเสมียน จ.ชลบุรีที่นี่มีกลุ่มเด็ก และเยาวชนมาร่วมสืบสานศิลปะการละครในท้องถิ่นเอาไว้ผ่านฝีไม้ลายมือที่ไม่แพ้มืออาชีพ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีครูมืออาชีพอย่างกลุ่มภัทราวดีเธียเตอร์โดยมีต้นแบบศิลปินที่มีช่อเสียง ไม่ว่าจะเป็น ครูเล็ก ภัทรารวดี มีชูธน ครูช่าง ชลประครร จันทร์เรือง คุณพิเชษฏ์ กลั่นชื่น และคุณนิกร แซ่ตั้ง ซึ่งเป็นศิลปินศิลปาธรปีล่าสุด เข้ามามีบทบาทถ่ายทอดวิชาศิลปะการแสดงให้กับเยาวชน เด็กที่นี่จึงถอดแบบการใช้ศิลปะของการละครออกมาได้อย่างงดงาม
อีกทั้งการแสดงของเด็กและเยาวชนเหล่านี้ยังสามารถสานสัมพันธ์ระหว่างผู้เสพละคร หรือคนดูละคร สร้างความรักการเป็นชุมชนเจ็ดเสมียนเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “ตลาดเก่า 119 ปี เจ็ดเสมียน” ที่นักท่องเที่ยวแวะเวียนมาเยี่ยมชมไม่ขาดสาย เพื่อมาชมการแสดงศิลปะการละครเป็นประจำทุกวันหยุด สร้างความเป็น “หนึ่งเดียว” ทำให้สังคมไทยเป็นสุขได้ ซึ่งนั่นเป็นฐานกำลังที่จะช่วยสานต่อให้เกิดการพัฒนาเป็นเครือข่าย “ชุมชนคนละคร” ที่เข้มแข็ง…
เฉกเช่นเดียวกับ “โครงการสายใยผูกพัน สานฝันวันใหม่” จังหวัดนครราชสีมาที่ได้รับทุนจากยุทธศาสตร์ละครสำหรับเยาวชนปี 2 ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ อีกทั้งยังได้มีการศึกษาวิจัยเรื่อง “กระบวนการมีส่วนร่วมในท้องถิ่นเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเยาวชน ภายใต้การดูแลของกรมคุมประพฤติผ่านศิลปะบูรณาการ” มาใช้ผ่านศาสตร์และศิลป์หลายแขนงอย่าง ละคร ดนตรี บทกวี ภาพยนตร์ ศิลปะพื้นบ้าน มาเป็นเครื่องมือช่วยในการ “เปิดใจ” และค้นพบศักยภาพที่ซ่อนอยู่ภายในที่หลายคนไม่เคยคิดมาก่อนว่าตนเองก็ “มีดี” ออกมาได้อย่างน่าทึ่ง!!
จากเด็กและเยาวชน หรือ “ผู้ถูกคุมประพฤติ” ที่สังคมเมินค่าเมื่อเข้าร่วมโครงการ กลับได้มีโอกาสสัมผัสกับความละเอียดอ่อนของศิลปะผ่านผลงานชิ้นเอกหลากหลายรูปแบบที่ลุ่มลึกและงดงามไร้ขีดจำกัด…จนก่อเกิดเป็นผลงานมากมาย อาทิ หน้ากากรูป “ช้าง” ที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติ งานเขียนใบไม้สีเขียว งานปั้นดิน ภาพวาดหน้าเพื่อนด้วยลายเส้นที่บูดเบี้ยวบ่งบอกถึงสัมพันธภาพที่มีต่อกันผ่านฝีมือการวาด หรือแม้แต่การแสดงละคร ที่ต้องใช้ผลงานทั้งหมดมารวมกันแล้วใช้ความกล้าแสดงออกมาเป็นส่วนเพิ่มเติม จนสามารถเรียกทั้งเสียงหัวเราะรอยยิ้มจากผู้ชมได้อย่างไม่มีที่ติ จนผู้ปกครองของเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการบอกว่า “รู้สึกภาคภูมิใจที่ลูกสามารถเปลี่ยนแปลงตนเองได้หลังจากเข้าร่วมกิจกรรม”
“…แต่ก่อนเขาไม่เป็นแบบนี้ ตอนนี้ลูกใจเย็นขึ้น มีระเบียบวินัย รู้จักคุณค่าพลังแห่งตัวตน รู้จักการทำงานเป็นทีม ให้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และมีทัศนคติเชิงบวกต่อสังคม ภูมิใจที่ลูกเป็นคนใหม่ได้” คำจากผู้ปกครองที่นั่งมองการแสดงและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของลูก
ไม่น่าเชื่อว่านี่จะเป็นผลงานที่ได้จากคนที่ “สังคมอาจลืมและมองข้ามไป” แต่วันนี้พวกเขาสามารถสร้างปรากฏการณ์ใหม่ สร้างความภาคภูมิใจให้กับสังคมได้ ผ่านศักยภาพฝีไม้ลายมือในละครและศิลปะได้อย่างไม่มีข้อสงสัย
ที่มา : จุลสาร ร หัน สื่อสร้างสรรค์สร้างสุข แผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์
update:11-10-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่