ละครเปิดกะโหลกสร้างปัญญา
"ละคร" เป็นสื่อบันเทิงยอดนิยมของคนทุกเพศทุกวัย ที่ใครหลายคนๆ มักเสพติดเป็นประจำ เนื่องจากอรรถรสที่ได้รับชมทำให้เกิดความสุข สนุกและผ่อนคลายความตึงเครียดให้กับตัวเอง จนบางครั้งผู้ชมเกิดอาการอินจัดกับตัวละครและบทบาทของนักแสดงอยู่เสมอๆ ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างความบันเทิงเท่านั้น แต่ทว่าการแสดงละครสามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ของคนในชุมชนเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมได้
ฟังแล้วอาจจะดูเหลือเชื่อว่าละครจะสามารถชักจูงใจและปลุกพลังของประชาชนให้ทำสิ่งดีๆ เพื่อส่วนรวม แต่เกิดขึ้นจริงแล้วใน โครงการพัฒนาเครือข่ายละครสร้างปัญญาเพื่อเยาวชน ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ดำเนินการระหว่างปี 2556-2557 ใน 6 พื้นที่ ได้แก่ เชียงใหม่ มหาสารคาม อุบลราชธานี สงขลา ชลบุรี และอุตรดิตถ์
นายพฤหัส พหลกุลบุตร มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) หัวหน้าโครงการพัฒนาเครือข่ายละครสร้างปัญญาเพื่อเยาวชน กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีแนวคิดว่า กระบวนการละครจะเป็นวิธีการในการสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญาของเยาวชนและสร้างสุขภาวะปัญญาของสังคมได้ ด้วยวิธีต่างๆ ที่เน้นการเปลี่ยนแปลง (Transformation) จากภายในตัวของเยาวชน โดยเสริมพลัง คุณค่าเชิงบวก ด้วยฐานคิดทฤษฎี "การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง" (Theory of Learning For Transformation)
กระบวนการละครมุ่งให้เกิดการรับรู้ความจริง รู้เหตุรู้ผล มีความเข้าใจและเห็นคุณค่าในตนเอง และการพัฒนาจิตอาสาโดยผ่านกระบวนการกลุ่ม รวมถึงการสร้างและพัฒนาเครือข่ายชุมชนนักปฏิบัติการละคร เพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่การผลักดันกลไกการสร้างพื้นที่และกิจกรรมสร้างสรรค์ทางปัญญาสำหรับเยาวชน ผ่านศิลปะการละคร
โดยมีเครือข่ายนักการละครและครู ทั้งหมด 6 พื้นที่ครอบคลุมทั่วประเทศที่นำกระบวนการละครไปใช้ รวมทั้งผ่านครูและนักพัฒนาท้องถิ่นในมิติที่แตกต่างกัน เช่น "หลักสูตรละครหัวใจมนุษย์ในห้องเรียนแพทย์" ครูหมอน้อย พญ.ปาริชาติ วงศ์เสนา วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ม.อุบลราชธานี, "ละครสร้างการเรียนรู้ " ครูจิ๊บ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, "ละครในทัณฑสถานหญิง" ครูอ้อ-มัลลิกา ตั้งสงบ เป็นต้น
"การเรียนรู้ของเยาวชนที่ส่งเสริมกระบวนการคิดวิเคราะห์ มีวิจารณญาณ และสามารถสื่อสารความคิดเพื่อการแก้ปัญหาอย่างเสมอภาคเท่าเทียม เป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งของโลกในศตวรรษที่ 21 เชื่อว่ากระบวนการละครจะช่วยฝึกสิ่งเหล่านี้ได้ เพราะละครสนใจในความเป็นมนุษย์"หัวหน้าโครงการฯ กล่าว
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า กระบวนการละครมีมิติที่สำคัญทั้งทางด้านอารมณ์ ทำให้คนดูเกิดการรับรู้ ความรู้สึกที่ส่งถึง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ไม่เฉพาะด้านความคิด แต่ละครทำให้เกิดพื้นที่ในการพูดคุยกัน แลกเปลี่ยนกันเพื่อทบทวนตัวเอง และยังกระตุกความคิดและสั่นสะเทือนอารมณ์ของผู้รับชมได้เป็นอย่างดี
ขณะที่ นายไพบูลย์ โสภณสุวภาพ กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์ จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า โจทย์ที่สำคัญของกลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์และภาคีกลุ่มเพื่อนตะวันออกคือ ทำอย่างไรจะติดตั้งวิธีคิดใหม่ให้เยาวชนและคนในชุมชนรับรู้และเท่าทันกับสถานการณ์ปัญหาในพื้นที่ และดึงการมีส่วนร่วมของแกนนำเยาวชนให้หันมาเห็นคุณค่าและรักษาบ้านเกิดของตัวเอง โดยได้พัฒนาแนวคิด "ศิลปะการละครเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง" ให้ความสำคัญกับเรื่องใจ นำมาสร้างการเรียนรู้กับเยาวชนและคนในชุมชนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนให้รักบ้านรักเมือง ปลุกพลังหัวใจพลเมืองของคนในชุมชน
ด้าน นายโตมร อภิวันทนากร กลุ่มมานีมานะ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า นำละครเข้าไปใช้ในการเรียนรู้ผลกระทบจากแผนพัฒนาภาครัฐในภาคใต้ต่อความเปลี่ยนแปลงกับชุมชน โดยพบว่าละครซึ่งมีพลังในการสะท้อนเรื่องราว เข้าถึงคุณค่าทางจิตใจ และเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมระหว่างกลุ่มเยาวชน ศิลปินผู้ทำละคร กับผู้คนผู้ชมละครในชุมชน จึงนำมาใช้พัฒนาเยาวชนให้มีทักษะในการสร้างสรรค์ผลงานละคร พร้อมกับสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเยาวชนผู้ทำละครอย่างมาก เป็นการสนับสนุนให้เยาวชนเป็นผู้มีบทบาทสำคัญของชุมชน เพราะการได้ลงมือทำละครด้วยกำลังความสามารถของตนเอง และสะท้อนให้เห็นบทบาทของความเป็นพลเมืองที่ไม่นิ่งดูดายกับปัญหาของชุมชน.
ละครสร้างปัญญา
ฤทธิ์-นาวา ภิญโญยาง วิทยาลัยอาชีวศึกษามหาสารคาม เผยว่าตัวเองเข้ามาทำละครจากการชักชวนของรุ่นพี่ ซึ่งในช่วงแรกรู้สึกไม่ชอบ แต่พอทำไปเรื่อยๆ เกิดความคุ้นเคย และสนุกไปกับมัน ยิ่งพอนำละครที่เราทำไปแสดงให้คนอื่นดูแล้วเขาชอบทำให้เรามีความสุข โดยประโยชน์ที่ได้จากการทำละครคือ ทำให้เรากล้าแสดงออก ทำให้เรารู้ว่าเราเองก็สามารถทำได้อย่างคนอื่น และยังรู้จักกระบวนการทำละคร สามารถนำมาปรับใช้ในการเรียนได้
โดยละครที่ทำเกี่ยวกับการทะเลาะวิวาทของนักเรียนต่างสถาบัน สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากการสูญเสีย เอาปัญหาที่เกิดขึ้นจริงที่เรามองเห็นมาสะท้อนให้ผู้อื่นได้รู้ว่าเราอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ให้สังคมวัยรุ่นที่มีเรื่องทะเลาะวิวาท ให้ตระหนักถึงผลที่เกิดขึ้นจากการทะเลาะวิวาท ว่าไม่ได้มีแต่ตัวเองเท่านั้นที่เกิดผลกระทบ แต่ยังมีอีกหลายคนที่อาจจะได้รับผลที่เกิดขึ้นจากการการกระทำของเรา
จั๊บ-ธัญสุดา ปิ่นหอม กลุ่มเครือข่ายสภาเด็กและเยาวชน เทศบาลตำบลนาเยีย จ.อุบลราชธานี บอกว่าการทำละครให้ประโยชน์มากมายกับตัวเรา ทั้งทำให้เรากล้าแสดงออก กล้าที่จะติดต่อประสานงาน พูดคุย ได้พัฒนาตนเองในการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นมากขึ้น โดยการทำละครหนึ่งเรื่องยังทำให้เราปรับเปลี่ยนตัวเองจากที่เคยรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นน้อย ทำให้เราได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนอื่นและได้สะท้อนความคิดเห็นของคนเอง และได้รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเราคาดหวังว่าละครที่ทำคนดูจะได้ตระหนักถึงผลกระทบและปัญหาที่เราได้ใช้สื่อละครสะท้อนออกไปบ้างไม่มากก็น้อยค่ะ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์