ละครทีวี…อิทธิพลเงียบของสังคม
สิ่งบันเทิงที่ส่งตรงถึงบ้าน บริการถึงห้องนอน คงไม่พ้น “ละคร” ที่ยุคปัจจุบันมีให้เลือกชมหลากรสหลายแนวกันมากมาย โดยสิ่งที่ตามมาก็คืออิทธิพลของละคร มักทำให้เกิดปัญหาเรื่องเด็กมีพฤติกรรมเลียนแบบสื่อ ซึ่งเป็นปัญหามาช้านาน ที่ทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญ
ในการเสวนาหัวข้อเรื่อง "ผลกระทบและอิทธิพลของโทรทัศน์ต่อสิทธิเด็กและสตรี" จากงานประชุมเสวนาเรื่อง "ภาพสะท้อนของเด็กและสตรีในละครโทรทัศน์ไทย" โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ณ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ จึงเป็นการแลกเปลี่ยนเพื่อหาทางออกที่ดีในการผลิตสื่อที่มีคุณภาพต่อสังคม
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สำหรับเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ขวบ เราไม่สนับสนุนการใช้สื่อโทรทัศน์กับเด็ก เพราะมีประโยชน์น้อยมาก และมีผลกระทบทางลบต่อเด็กอย่างมาก แต่สิ่งที่จำเป็นและถูกจับตาดูตลอดเวลาก็คือ กระบวนการเลี้ยงดูของเด็กที่จะกล่อมเกลาให้เด็กมีศักยภาพที่ดี ส่วนเด็กเล็กวัย 3-5 ขวบ เมื่อรับชมสื่อ เขาจะยังไม่เข้าใจในสิ่งที่เห็น และไม่สามารถอธิบายเรื่องราวได้ เพราะประสบการณ์ชีวิตไม่มากพอ แต่ความทรงจำที่ได้รับชมมันจะถูกสะสมไปเรื่อยๆ และไปเข้าใจในตอนที่โตขึ้น ซึ่งในวัยเรียนของเด็กจะเกิดเป็นพฤติกรรมเลียนแบบ และเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่ทำตามสื่อและสิ่งเร้าทันที โดยมีงานการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า การเติบโตของคนเรานั้นจะเรียนรู้สิ่งที่อยู่ในห้องเรียนร้อยละ 20 แต่จะเรียนรู้นอกห้องเรียนถึงร้อยละ 80 ซึ่งในนี้มีสื่อรวมอยู่ด้วยอย่างแน่นอน จึงเกิดเป็นเวทีนี้ขึ้นมาว่าผลกระทบจากสื่อในเด็กเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
“เราจึงต้องตั้งคำถามว่าอยากเห็นอะไรในสังคมไทยกันแน่ หากเคยชมสื่อแอนิเมชั่นของญี่ปุ่นเกี่ยวกับเทนนิส จะพบว่าในการ์ตูนเรื่องนี้นักกีฬาได้ไปแข่งขันเทนนิสถึงริเวอร์ตัน ซึ่งในความเป็นจริงยังไม่เคยมีนักกีฬาญี่ปุ่นคนไหนไปจนถึงจุดนั้น แต่สื่อของเขาสร้างแรงบันดาลใจว่าเราไปจนถึงริเวอร์ตันได้ ถ้าเราเรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวเอง ดังนั้นจะเห็นว่าสื่อโทรทัศน์กับการรับรู้ของเด็กมันมีอิทธิพลต่อเขา ซึ่งเราทำให้เกิดด้านใดก็ได้ เรามีสิทธิที่จะเลือกว่าอยากให้พื้นที่สื่อของเราค่อยๆ สร้างภาพกับเขาอย่างไร
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเสมอก็คือว่า สื่อของท่านเข้าถึงเด็ก และเด็กวัยไหนกำลังนั่งจ้องดูสิ่งนี้อยู่ ท่านกำลังส่งสารอะไรไปให้เขา และเขารับรู้สิ่งนี้ว่าอะไร ซึ่งในสังคมเราไม่ได้มีเด็กที่แข็งแรง ที่พร้อม มีวิจารณญาณทั้งหมด เราต้องเอื้อถึงเด็กที่ไม่แข็งแรงด้วย เราทุกคนสามารถพัฒนาสติปัญญาให้กับเด็กไทยได้ หากเราอยากเห็นสิ่งดีงามในสังคมอย่างไร เราก็สามารถสร้างภาพสังคมที่ดีงามลงบนสื่อได้เพื่อที่เราจะเดินไปข้างหน้า" รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
นางวิสา เบ็ญจะมโน ประธานคณะอนุกรรมการการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านเด็กและสตรี และความเสมอภาคของบุคคล กล่าวว่า สื่อโทรทัศน์เป็นสื่อถ่ายทอดเพียงทางเดียว (one-way communication) ซึ่งหากเด็กได้รับจากสื่อเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีผู้ใหญ่คอยแนะนำในสิ่งเหมาะสมจะเป็นอันตราย เพราะเด็กอยู่ในช่วงของการจดจำข้อมูล และอาจจะนำไปสู่การเลียนแบบ หากสื่อเป็นสื่อเชิงบวกก็จะสร้างพื้นฐานและการจดจำที่ดีต่อเด็ก แต่หากสื่อเป็นการสื่อสารเชิงลบก็เป็นการสร้างการจดจำในแง่ลบ สุดท้ายเด็กจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบจนนำไปสู่ปัญหาสังคม
สื่อโทรทัศน์ถือเป็นสื่อที่เด็กเข้าถึงได้ง่ายที่สุด การผลิตละครซ้ำๆ เดิมๆ สร้างความจดจำให้กับเด็ก ละครบางเรื่องนำมาสร้างหลายรอบ จนเกิดพฤติกรรมเรียนรู้ จดจำและเลียนแบบ ทั้งพฤติกรรม คำพูด กิริยามารยาทของตัวละคร ส่วนเรื่องความคิดเห็นของเด็กก็จะขึ้นอยู่กับการรับรู้ที่เป็นรูปธรรม และนำไปสู่การพัฒนาความรู้สึกความรับผิดชอบชั่วดี จริยธรรม ค่านิยมและทัศนคติ ส่วนในเรื่องของการลดทอนความเป็นคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้น ในละครของไทยมักจะให้ผู้หญิงแสดงบทบาทที่ถือว่าเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่น แสดงเป็นผู้หญิงของผู้มีอิทธิพล บทบาทผู้หญิงที่ดูต่ำต้อย ความไม่เสมอภาคระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย และถูกสร้างขึ้นให้เป็นเมียน้อย เป็นต้น การสร้างตัวละครเช่นนี้จึงเป็นการชี้นำและถูกบิดเบือนแบบแผนในการประพฤติที่ดีงาม นำไปสู่การละเมิดทางด้านร่างกายในอนาคตหากเด็กเรียนรู้และจดจำพฤติกรรมดังกล่าวไป
นางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) กล่าวถึงกระบวนการผลิตละครในยุคปัจจุบันว่า ละครในยุคนี้มีการผลิตเนื้อหาที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางด้านจิตใจ วัตถุ หรือทางด้านความคิดออกมาซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นการปลูกฝังและตอกย้ำให้เด็กเรียนรู้และเกิดการจดจำและนำไปสู่ปัญหาสังคมในอนาคต ซึ่งผู้ผลิตละครสามารถหลีกเลี่ยงหรือทดแทนการผลิตได้คือ การเสนอมุมมองอื่นที่มีความเหมาะสม ไม่สร้างเนื้อหาที่มีความรุนแรงในละคร โดยสอดแทรกจุดเล็กๆ ให้เห็นคุณค่าของตัวละครลงไปในเนื้อหา โดยศึกษาจากภาคประชาสังคม คนใกล้ชิด หรือการนำวรรณกรรมมาตีความให้มีเนื้อหาที่มีคุณค่าต่อสังคม เราควรจะใช้อิทธิพลในเชิงบวกมาช่วยในการมองหากลไก สิ่งหนึ่งที่สังคมมองคือ เรื่องของกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งนักจิตวิทยาและนักเขียนบทต้องมาทำงานร่วมกัน ซึ่งเชื่อว่าการผลักดัน พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สามารถช่วยสร้างสื่อที่ดีให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ของครอบครัวและสังคมได้
นายสิทธิวัชร์ ทับแป้น ผู้กำกับละครฟ้ากระจ่างดาว ช่อง 7 ผู้กำกับรางวัลท็อปอวอร์ด 2004 จากละครอุ่นไอรัก (ช่อง 7) เผยว่า ในการผลิตละครหนึ่งเรื่องจะต้องได้รับการกลั่นกรองจากทางสถานีทั้งด้านบทละคร เนื้อเรื่อง แล้วจึงส่งมาทางทีมงาน ซึ่งหากเนื้อหามีความรุนแรง ทางทีมงานก็จะทำให้มันเบาบางลง โดยปกติเราก็ไม่อยากให้มีภาพหรือความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อสังคม ซึ่งอย่างฉากเลิฟซีน ปกติก็เพียงแค่หอมแก้มกัน โน้มตัวลงก็จบแล้ว แต่ในสมัยนี้ไม่ใช่ ละครมันเป็นการขาย หากไม่มีภาพพวกนี้ก็จะบอกว่าไม่สมจริง ซึ่งการสมจริงก็ต้องมีภาพที่หวือหวา ถอดเสื้อผ้าทีละชิ้น โดยภาพเหล่านี้เมื่อออกไปก็ไม่เป็นผลดีกับเด็กที่รับชม และเป็นตัวอย่างให้เด็กเห็นว่าสังคมไทยเป็นแบบนี้ ถ้าเราได้ดูบ่อยๆ ก็จะคิดว่าเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ แต่หากตัดทอนสิ่งไม่ดีออกไปก็เป็นผลดีกับละครและผู้รับชม
“ในฐานะผู้กำกับก็ต้องรับผิดชอบต่อภาพและเนื้อเรื่องที่ออกมาทางสื่อโทรทัศน์ ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้รับชม และในการแสดงของตัวละคร ที่มีฉากที่หลายคนมองว่าไม่เหมาะสม อย่างกิริยาด่าทอ ตบตี กระทืบเท้า เหล่านี้ ในมุมมองของละครหากไม่มีฉากดังกล่าว ละครก็จะขาดสีสัน ไม่มีรสชาติ ในส่วนของนักแสดงหากเล่นไม่ถึง ผู้ชมก็ไม่สนุกกับภาพที่ออกมา ซึ่งอีกด้านก็ย่อมส่งผลกระทบต่อเด็กๆ แต่ทั้งนี้หากละครที่ไม่มีฉากดังกล่าวเลย เป็นละครที่ดี ถามว่ามีใครดูไหม ก็ต้องบอกว่ามีแต่น้อย ซึ่งผู้อุปถัมภ์ก็ไม่ชอบ และละครถ้าไม่มีผู้อุปถัมภ์มันก็จบ สร้างไม่ได้
ดังนั้นเราควรมาจับมือ พบกันครึ่งทาง ระหว่างสถานี ช่อง ผู้จัดละคร ผู้อุปถัมภ์ ว่าควรมีเนื้อหาละครที่มีความเหมาะสมในสัดส่วนที่พอดี เชื่อว่าถ้าทำได้ เมืองไทยย่อมมีละครน้ำดีให้ชมเพิ่มขึ้นอีกมาก และเด็กเยาวชนไทยก็จะได้แบบอย่างที่ดีไปปฏิบัติตาม” ผู้กำกับละคร กล่าว
ที่มา: เว็บไซต์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต