ลอยกระทง’ 56 กำจัดน้ำเมา ไม่เอาปัจจัยเสี่ยง

ภาพความทรงจำครั้งเก่าในค่ำคืนพระ จันทร์เต็มดวง ผู้คนทั่วทุกหัวระแหงต่างพากันจัดหากระทงน้อยใหญ่ประดับประดาด้วยดอกไม้และ ธูปเทียนสวยงาม เพื่อนำไปลอยยังแหล่งน้ำใกล้ที่พำนัก เพราะเชื่อกันว่าในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 น้ำนองเต็มตลิ่ง คือฤกษ์งามยามสำคัญที่จะได้ขอขมาต่อพระแม่คงคา พร้อมๆ กับลอยทุกข์ลอยโศกไปกับสายน้ำ เหนือสิ่งอื่นใดคือการได้ระลึกถึงความสำคัญของ ‘น้ำ’ ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับมวลมนุษย์

ลอยกระทง

แต่ทว่าในปัจจุบันมนุษย์เองกลับใช้ ‘น้ำเมา’ เข้ามาทำลายภาพความงดงามของ ‘ประเพณีลอยกระทง’ ให้ เหือดหายลงไป แล้วแทนที่ด้วยภาพของเหตุการณ์ร้ายๆ ที่เกิดจากความขาดสติ ทั้งอุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท การล่วงละเมิดทางเพศสู่ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ เป็นต้น

สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และภาคีเครือข่ายชุมชนท้องถิ่น จึงดำเนินงานผ่านมาตรการรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงอันเกิดจากเหล้า เพื่อคลายความกังวลใจของนักท่องเที่ยวและบุคคลทั่วไปโดยมุ่งหวังคืนความงด งามของประเพณีลอยกระทงกลับมา ด้วยวิธีการเปลี่ยนงานเทศกาลให้กลายเป็นงานบุญที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานและ เปี่ยมด้วยความสุข ผ่านกระบวนการจัดการตนเองของท้องถิ่น ภายใต้แนวคิด ตัดเหล้าเบียร์และปัจจัยเสี่ยงออกจากงาน

ตัดเหล้าออกจากงาน บุญจะส่งให้เราสุขใจ

นายธีระ วัชระปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ให้คำแนะนำ 7 แนวทางสู่การปฏิบัติในการจัดงาน ‘ลอยกระทงปลอดเหล้า’ ดังนี้ว่า “1.ต้อง รักษาคุณค่าของงานบุญประเพณีนี้ไว้ให้คงอยู่ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกคน  2.เจ้าภาพมีบทบาทสำคัญ ที่จะต้องไม่รับเงินหรือการสนับสนุนใดๆ ทั้งสิ้นจากธุรกิจน้ำเมา 3.เจ้าภาพต้องประกาศนโยบายสนับสนุนการจัดงานให้เกิดความสุข สนุกสนาน โดยปราศจากเครื่องดื่มน้ำเมาซึ่งเป็นต้นเหตุของความสูญเสียที่จะตามมา 4.ทุกคนที่เกี่ยวข้องควรช่วยกันสอดส่องชี้เป้าเฝ้าระวังไม่ให้มีปัจจัย เสี่ยงอยู่ในงาน 5.หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรแสดงเจตนารมณ์ร่วมกับชุมชนอย่างชัดเจน 6.สื่อท้องถิ่นมีส่วนสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมแนวทางการทำงานเพื่อเป็นพื้นที่ ตัวอย่างสู่สาธาณะ พร้อมกันนี้ยังเป็นการขยายพื้นที่และเพิ่มภาคีเครือข่ายการทำงาน และ 7.พลังประชาสังคมคือพลังสำคัญที่จะช่วยให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จ”

นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ตัวแทนจากสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวถึงข้อมูลสถิติจากการดำเนินงานที่ผ่านมาว่า “การจัดงานลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ จังหวัดสุโขทัยในปี 2554 ที่จัดแบบปลอดเหล้าเบียร์ สามารถลดจำนวนอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตลงได้ร้อยละ 100 ขณะที่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวงานยี่เป็งเชียงใหม่ รู้สึกพึงพอใจกับมาตรการรณรงค์ไม่ดื่มหรือจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูง ถึงร้อยละ 90.82 ในปี 2555”

การปล่อยโคมไฟ อีกปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวัง

เสาวคนธ์ ประทุม ตัวแทนเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ เล่าถึง ‘งานประเพณีเดือนยี่เป็งเชียงใหม่’ ว่า คงปฏิเสธไม่ได้ว่าตอนนี้การปล่อยโคมไฟได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด เชียงใหม่ในเชิงการท่องเที่ยวไปแล้ว แต่น้อยคนนักที่มีความรู้เรื่องการปล่อยโคมไฟที่ถูกต้อง จนเป็นต้นเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ในเขตชุมชนสร้างความเสียหายที่ไม่อาจ ประเมินค่าได้

“โดยมาตรฐานของตัวโคมนั้นจะต้องมีขนาดเส้น ผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 90 ซม. และความสูงไม่เกิน 140 ซม. ทำจากวัสดุธรรมชาติด้วยกระดาษว่าวและโครงทำจากไม้ไผ่ ระยะการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงไม่เกิน 8 นาที ห้ามพ่วงหรือติดพลุ ดอกไม้ไฟ หรือสิ่งอื่นใดไปกับโคมขณะปล่อย รวมถึงควรจะปล่อยขึ้นในที่โล่งไม่มีต้นไม้หรือเสาไฟกีดขวาง และในเขตที่อนุญาติให้ปล่อยเท่านั้น นอกจากนี้เวลาที่เหมาะสมในการปล่อยโคมไฟคือช่วงเวลา 21.00-21.30 น. เพื่อไม่เป็นอันตรายและกระทบกับการบินน้อยที่สุด” ตัวแทนจากเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ อธิบายเสริม

เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว อย่าปล่อยให้ ‘ประเพณีลอยกระทง’ เป็น เพียงวาระเสพความบันเทิงของคนหนุ่มสาว เป็นเหตุการณ์แห่งความสูญเสียของใครหลายคน หรือถูกมองว่าเป็นแค่การผลิตซ้ำทางวัฒนธรรมซึ่งไหลไปกับกระแสความเปลี่ยน ผ่านในมิติของการท่องเที่ยวเท่านั้น

หากแต่ทุกคนควรที่จะต้องร่วมมือกัน ‘เฝ้าระวังและกำจัดปัจจัยเสี่ยง’ เพื่อคงไว้ซึ่งความงดงามของประเพณีไทยสืบไป 

 

 

เรื่องโดย ฐาปน คำทา Team Content www.thaihealth.or.th

Shares:
QR Code :
QR Code