ลดปัญหาจากการใช้ยา ปรึกษาเภสัชกร
ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า
แฟ้มภาพ
สำหรับผู้ใช้ยาที่ต้องใช้ยารักษาประจำและต่อเนื่องโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ ข้อมูลจากภญ.จันทิมา โยธาพิทักษ์ผู้ช่วยนายกสภาเภสัชกรรม ฝ่ายวิชาการ แนะนำว่า ควรมี “สมุดบันทึกยา” พกไว้ติดตัว ซึ่งบันทึกรายการยาที่ผู้ป่วยต้องใช้เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นยาที่ได้จาก โรงพยาบาล ร้านยา คลินิก หรือ สถานพยาบาลอื่นๆ และยังต้องบันทึกรายละเอียดของผู้ป่วยด้วย เช่น อายุ น้ำหนักตัว ส่วนสูง รวมทั้งประวัติการแพ้ยา อาการข้างเคียงของยาที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย พฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้แพทย์หรือเภสัชกร สามารถส่งต่อข้อมูลเรื่องยา และเลือกจ่ายยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยโดยไม่มีปัญหากับยาที่ผู้ป่วยใช้เป็นประจำอยู่แล้ว ทำให้ลดความเสี่ยงต่อการได้รับยาซ้ำซ้อนยาตีกัน หรือแพ้ยาซ้ำ รวมถึงเพิ่มความปลอดภัยจากการใช้ยาได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งในภาวะฉุกเฉินหรือเกิดวิกฤติภัย สมุดบันทึกยาที่พกติดตัวไว้จะช่วยให้ผู้ป่วยที่ไม่มีโอกาสไปรับการรักษาในสถานพยาบาลเดิม สามารถได้รับยาจากหน่วยบริการอื่นได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ผู้ป่วยบางคนชอบไปพบแพทย์หลายๆโรงพยาบาลหรือคลินิก ทำให้อาจได้รับยาชนิดเดียวกันจนเกิดการรับประทานยาซ้ำซ้อน หรือเกิด “การตีกัน” ของยา ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงแก่ผู้ป่วยได้ การไปพบแพทย์หรือเภสัชกรจึงควรมีรายการยา หรือนำยาที่กำลังใช้อยู่ทุกชนิดไปด้วยทุกครั้ง เพื่อให้เภสัชกรพิจารณาว่ามียาที่รับประทานซ้ำซ้อนกันหรือไม่ หรือมียาชนิดใดที่ตีกันหรือไม่ จะได้หาทางแก้ไขและป้องกัน เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากการใช้ยา
ข้อมูลจาก รศ.ดร.ภญ.กนกพร นิวัฒนนันท์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยถึงตัวอย่างของยาตีกันที่อาจเกิดขึ้น เช่น ผู้ที่ใช้ยากันเลือดแข็ง ชื่อ ยาวาร์ฟาริน ซึ่งเป็นยาที่มีโอกาสเกิดยาตีกันกับยาอื่นได้มาก ต้องระมัดระวังในการซื้อยาอื่นๆ ยาสมุนไพรหรืออาหารเสริมต่างๆ มาใช้ตัวอย่างยาที่พบได้บ่อยว่าเกิดตีกันกับยาวาร์ฟาริน คือ ยาแก้ปวดแก้อักเสบ เช่นไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค ซึ่งเป็นยาที่แนะนำให้ต้องกินหลังอาหารทันที ผลของการเกิดยาตีกันจะทำให้เกิดเลือดออกผิดปกติในอวัยวะต่างๆ เช่น ที่ผิวหนังเห็นเป็นจ้ำเลือด หรืออาจเกิดเลือดออกที่ข้อ หรือในช่องท้องหรือที่สมองได้ นอกจากนี้การใช้ยาสมุนไพรต่างๆ เช่น ขมิ้นชัน บัวบก ฟ้าทะลายโจร หรือ อาหารเสริม เช่น น้ำมันปลาร่วมกับ ยาวาร์ฟาริน ก็จะเพิ่มโอกาสการเกิดเลือดออกผิดปกติได้เช่นกัน
ข้อควรปฏิบัติเพื่อลดปัญหาจากการใช้ยา มีดังนี้ (1) ต้องรู้จักชื่อยาที่ใช้ (2) มีประวัติแพ้ยาต้องแจ้งแพทย์ เภสัชกรทุกครั้งเมื่อมารับการรักษา (3) ถ้ามียา สมุนไพร อาหารเสริมที่ต้องใช้เป็นประจำควรบันทึกไว้ในสมุดบันทึกยา และให้แพทย์ หรือเภสัชกรดูทุกครั้งเมื่อมารับการรักษา (4) อ่านฉลากยาก่อนใช้ยาทุกครั้ง (5) ใช้ยาตามคำแนะนำในฉลากยา (6) ภายหลังที่ใช้ยาที่ไม่เคยรู้จัก หรือใช้เป็นครั้งแรกให้หมั่นสังเกตตัวเอง ถ้าพบความผิดปกติสงสัยแพ้ยาให้รีบกลับมาพบแพทย์หรือปรึกษาเภสัชกรใกล้บ้าน
เพื่อให้ได้รับยาอย่างสมเหตุผล เมื่อมีอาการเจ็บป่วยควรไปพบแพทย์หรือปรึกษาเภสัชกรในร้านยาใกล้บ้าน ไม่ซื้อยาจากร้านขายยาที่ไม่มีเภสัชกร หรือร้านชำ จะต้องไม่กินยาของผู้อื่น ถึงแม้จะมีอาการคล้ายกัน และเมื่อได้รับยาแล้วก็ควรจะใช้ยาตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ อ่านฉลากยาก่อนใช้ยาทุกครั้งเภสัชกรโรงพยาบาลกับความปลอดภัยเรื่องยาของผู้ป่วย
ข้อมูลจาก ภก.อำนวย พฤกษ์ภาคภูมินายกสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า เภสัชกรโรงพยาบาล มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับ “ยา” ตั้งแต่กระบวนการจัดหา จัดเก็บ เพื่อให้ได้ยาที่มีคุณภาพพร้อมใช้และเพียงพอต่อการให้บริการ ซึ่งรวมถึงการผลิตยาบางรายการที่ไม่มีจำหน่ายในท้องตลาด เตรียมยาและผสมยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายตามแพทย์สั่ง เช่น ยาหยอดตา ยาสำหรับผู้ป่วยเด็กยาเคมีบำบัด สารอาหารที่ให้ทางหลอดเลือดดำเป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของแพทย์และความจำเป็นในการใช้ของผู้ป่วยในแต่ละโรงพยาบาล
สำหรับงานบริการเภสัชกรรมผู้ป่วยนอกเภสัชกรโรงพยาบาลมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องก่อนจ่ายยา โดยการส่งมอบยาจะประเมินผู้ป่วยแต่ละราย พร้อมให้คำแนะนำการใช้ยาที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วย นอกจากนี้ เภสัชกรยังทำหน้าที่กระจายยาไปยังหอผู้ป่วยเพื่อให้บริการแก่ผู้ป่วยใน ซึ่งมีรูปแบบต่างๆ ขึ้นกับบริบทของโรงพยาบาล เช่น การจัดยาแบบรายวัน หรือ การจัดยาแบบหนึ่งหน่วยการใช้ (unit dose) เป็นต้น
ปัจจุบันได้ขยายบทบาทไปสู่การดูแลผู้ป่วยด้านยาที่เรียกว่าการบริบาลทางเภสัชกรรมซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ เพื่อให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยและได้รับประสิทธิภาพสูงสุดจากการใช้ยา ผ่านการดำเนินงานในรูปแบบต่างๆ เช่น การประสานรายการยาสำหรับผู้ป่วยที่ผ่านการตรวจรักษาจากแพทย์หลายท่าน ไม่ว่าจะในโรงพยาบาลเดียวกันหรือต่างโรงพยาบาล เพื่อป้องกันการได้รับยาซ้ำซ้อน ไม่ได้รับยาที่ควรได้รับหรือได้รับยาที่ตีกันกับยาเดิม เภสัชกรจะประเมินและติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา วางระบบในการป้องกันอุบัติการณ์แพ้ยาซ้ำ มีการประเมินการใช้ยา การตรวจติดตามและวัดระดับยาในเลือด การบริบาลผู้ป่วยนอกในคลินิกโรคเรื้อรังต่างๆ รวมถึงการบริบาลทางเภสัชกรรมบนหอผู้ป่วย รวมทั้งทำหน้าที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับยาในทุกมิติให้กับทีมสหวิชาชีพ เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการดูแลรักษาด้วยยาแก่ผู้ป่วย ทั้งนี้ รพ.มหาวิทยาลัย รพ.ศูนย์ (รพศ.) รพ.ทั่วไป (รพท.) หรือแม้แต่รพ.ชุมชนขนาดใหญ่ จะมีเภสัชกรปฏิบัติหน้าที่ให้บริการผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีการอยู่เวรให้บริการพร้อมกับบุคลากรต่างวิชาชีพในโรงพยาบาลมาเป็นเวลานานมากแล้ว ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีในผู้ที่ทำงานในโรงพยาบาลทุกแห่ง
การปฏิบัติงานทางเภสัชกรรมของโรงพยาบาลในประเทศไทยได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง มีการจัดทำมาตรฐานวิชาชีพเภสัชกรรมโรงพยาบาลมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 การปฏิบัติงานวิชาชีพของเภสัชกรโรงพยาบาลในปัจจุบันจึงไม่ได้มีเฉพาะการ “จ่ายยา” ให้กับผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทร่วมกับสหวิชาชีพ ในการทำหน้าที่ดูแลและติดตามการใช้ยาของผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน รวมถึงการออกเยี่ยมบ้านเพื่อความต่อเนื่องของการรักษา และให้เกิดความมั่นใจว่าผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุดและเกิดความปลอดภัยจากการใช้ยา ฉะนั้นหากมีปัญหาการใช้ยา ให้ปรึกษาเภสัชกรเพื่อลดปัญหาความไม่ปลอดภัยจากการใช้ยาที่อาจเกิดขึ้นได้