ลดจุดเสี่ยงเขาพับผ้า อุบัติเหตุรถคว่ำ
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อไม่นานมานี้ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อม ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. ลงพื้นที่ติดตามการทำงานขับเคลื่อนการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนของ สสส.และภาคีเครือข่ายลดอุบัติเหตุ จ.ตรัง
นายสมัคร เลือดวงหัด แขวงทางหลวง จ.ตรัง กล่าวว่า พื้นที่ อ.นาโยง มีจุดเสี่ยงบริเวณถนนเพชรเกษม ช่วงเขาพับผ้าพื้นที่หมู่ 1 หมู่ 7 ต.ช่อง ระหว่าง กม.1129-1133+400 เส้นทางจาก จ.ตรัง ไป จ.พัทลุง เฉลี่ยเกิดอุบัติเหตุวันละครั้ง เนื่องจากเป็นทางโค้งขึ้นลงเขา เป็นข้อจำกัดในการออกแบบ ดังนั้นการขับขี่บริเวณนี้ต้องจำกัดความเร็วไม่เกิน 60 กม.ต่อชม. ส่วนใหญ่อุบัติเหตุมาจากการใช้ความเร็วเกินกำหนดและช่วงฝนตกถนนลื่น เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ทั้งที่ก่อนเข้าจุดเสี่ยงมีป้ายแจ้งเตือนเป็นระยะ อีกทั้งตีเส้นสีแดง (Red AntiSkid) ช่วยลดอุบัติเหตุได้ส่วนหนึ่งแต่ช่วงฝนตกยังมีอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่อง ความเสียหายส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินของเอกชนมากกว่าของรัฐ
นายสมัคร กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขหลังจากนี้จะเชิญวิศวกรด้านความปลอดภัยมาตรวจสอบสภาพถนนอีกครั้งในเบื้องต้นจะใช้ยางพารามาลาดพื้นผิวเพื่อเพิ่มความฝืด ได้ของบประมาณไว้ 1 ล้านบาทดำเนินการในปี 60 และอีก 500 ล้านบาท ใช้ในการปรับปรุงสภาพทางกายภาพ อาทิ สร้างคันทางให้สูงขึ้น อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาประชาชนในพื้นที่ติติงว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นเพราะการออกแบบถนนไม่รองรับเพราะเข้าใจว่าเมื่อใช้ความเร็วมากกว่า 60 กม.ต่อชม. จะไม่เกิดอุบัติเหตุต้องย้าว่าจุดนี้ต้องใช้ความเร็วตามที่กำหนดเท่านั้น นอกจากนี้มีข้อเสนอแนะว่าก่อนถึงจุดเสี่ยงควรมีการตั้งด่านตรวจก่อน เพราะลักษณะเป็นพื้นที่ป่าเขาการใช้กล้องจับความเร็วอาจไม่ได้ผลเท่ากับมีด่านคอยตรวจตราซึ่งเมื่อขับมาด้วยความเร็วทางตรงเมื่อเจอเข้ากับโค้งที่เป็นภูเขาจึงบังคับรถไม่ได้
พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า จ.ตรัง เป็นจังหวัดที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับต้นของภาคใต้มี 2 อำเภอที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นอำเภอต้นแบบการจัดการความปลอดภัยทางถนนคือ อ.นาโยงและ อ.สิเกา โดย สสส.ให้ทุนสนับสนุนเป็นน้ามันหล่อลื่นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาทำงานป้องกันความปลอดภัยทางถนนร่วมกันโดยสสส.สนับสนุนให้คณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด (สอจร.) เป็นกลไกทำงานระหว่างตำรวจจราจร ชุมชน อำเภอ โรงพยาบาล เป็นต้นโดยเข้าไปแก้ไขจุดเสี่ยง และรณรงค์ร่วมกับการสวมหมวกนิรภัย