ลดความเสี่ยงดูแล ‘หัวใจ’
รู้เท่าทัน ‘โรคใหล‘ ก่อนสาย!!
ช่วงเทศกาลวันแห่งความรักที่มีความหมายความสดใส ในวันนี้อาจถือเป็นอีกวันเวลาที่ดีใน การดูแลหัวใจ ให้ความสำคัญกับสุขภาพและดังที่ทราบ โรคหัวใจ เป็นโรคที่อันตรายเป็นภัยเงียบใกล้ตัว
ใหลตาย โรคท้องถิ่นของภาคอีสานซึ่งทำให้ชายหนุ่มที่ดูปกติแข็งแรงดี แต่เมื่อเข้านอนกลายเป็นศพในตอนเช้าโดยไม่ทราบสาเหตุ บางครั้งผู้ตายอาจส่งเสียงครางคล้ายคนละเมอ (ใหล) หรือหายใจไม่ออกแต่หากญาติมาพบและทำการปั๊มหัวใจได้ทันก็อาจรอดตายได้ จากบทความซึ่งสรุปสาระสำคัญโดย นพ.กัมปนาท วีรกุลและคณะแพทย์ คณะผู้วิจัย ได้ร่วมทำการวิจัยให้ความรู้กล่าวถึงการเสียชีวิตอย่างกะทันหันจากโรคใหลและการป้องกันว่า โรคใหลไม่ได้พบเฉพาะแต่ในคนไทย แต่ยังพบในประเทศลาว ประเทศฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น ฯลฯ โดยเรียกต่างกันไป แต่ความหมายของคำบ่งบอกถึงการเสียชีวิตในขณะนอนหลับทั้งสิ้น การเสียชีวิตในลักษณะเช่นนี้ยังพบในภาคเหนือ เรียกว่า หลับรวด
สาเหตุการเสียชีวิตกะทันหันจากโรคใหลเกิดจากการเต้นระริกที่ไม่มีการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจที่เกิดขึ้นเอง (Spontaneous ventricular fibrillation, VF) ทำให้สมองขาดเลือดและออกซิเจนกะทัน หันเป็นผลให้กล้ามเนื้อตามตัว แขน ขาเกิดอาการเกร็งและหายใจเสียงดังเนื่องจากมีเสมหะ ในหลอดลม บางรายจะมีอุจจาระ ปัสสาวะราดจากการสูญเสียการควบคุมของระบบประสาทอัตโนมัติ ผู้ป่วยจะมีใบหน้า ริมฝีปากเขียวคล้ำและเสียชีวิตในเวลารวดเร็ว
หากไม่ได้รับการกู้ชีวิตที่มีประสิทธิภาพและใช้ไฟฟ้ากระตุกหัวใจให้กลับมาทำงานเป็นปกติ ในบางครั้งการเต้นระริกอาจหยุดเองได้และผู้ป่วยจะรอดตายได้เช่นกันแต่ก็อาจ จะเกิดสมองพิการถาวรหากขาดออกซิเจนนาน
การศึกษาทางพันธุกรรมทำให้ทราบว่าร้อยละ 30 ของ ผู้ป่วยจะเกิดความผิดปกติในหน่วยควบคุมพันธุกรรมของร่างกายที่เรียก “ยีน” เป็นผล ให้การควบคุมการผ่านของประจุไฟฟ้าบางตัวในเซลล์ทำงานลดลงหรือหยุดทำงาน ทำให้ผนังบางส่วนเกิดการคลายตัวทางไฟฟ้าที่เร็วกว่ากล้ามเนื้อหัวใจส่วนอื่นที่ปกติจึงถูกกระตุ้นซ้ำและเกิด VF ขึ้น
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิด VF คือ การสูญเสียโพแทสเซียมและ แมกนีเซียมจากร่างกาย เช่นจากการอาเจียน ท้องร่วง กินยาขับปัสสาวะ หรือดื่มกาแฟ ชา หรือแอลกอฮอล์ซึ่งมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ รวมทั้งการเกิดความเครียดจากการอดนอน ทำงานหนักและการมีไข้สูง
โรคนี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ โดยลูกจะมีโอกาสรับความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ได้รับจากพ่อหรือแม่ร้อยละ 50 และโอกาสจะเพิ่มขึ้นหากพ่อและแม่มีความผิดปกติทั้งคู่ ผลการศึกษาโรคนี้ทั้งในและต่างประเทศพบว่า เพศชายจะเป็นโรคนี้มากกว่าเพศหญิงในอัตรา 8 ต่อ 1 แม้สาเหตุ จะยังไม่ทราบชัดแต่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการแสดงออกของ ยีน และธรรมชาติทางไฟฟ้าของหัวใจซึ่งอาจจะแตกต่างกันในแต่ละเพศ
ผู้ที่ถือว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดใหลตาย ได้แก่ เคยมีอาการใหลแต่รอดตายหรือมีอาการหมดสติโดยไม่ทราบสาเหตุที่ไม่ได้เกิดจากโรคลมชักหรือสาเหตุทางสมองและผู้ที่มีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติแม้จะยังไม่มีอาการ แต่มีประวัติการเสียชีวิตกะทันหัน หรือมีโรคใหลตายในครอบครัวสายตรงซึ่งการป้องกันการเสียชีวิตกะทันหันจากโรคใหล นั้นแบ่งออกเป็น การป้องกันการเสียชีวิตในผู้ที่ยังไม่มีอาการแต่มีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ กลุ่มนี้ควรพบแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงโดยละเอียด และควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงคือ ไม่ดื่มสุรา หรือสารที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะที่ทำให้เสียเกลือแร่ ควรทานอาหารที่มี โพแทสเซียม แมกนีเซียม เป็นประจำ อย่างเช่น ผลไม้ประเภทกล้วย ส้มและหากเป็นไข้ ควรรีบรักษา ทานยา เช็ดตัวเพื่อลดอุณหภูมิกายลง
ส่วนการป้องกันการเสียชีวิตในผู้รอดตายจากใหลมาแล้ว จะมีโอกาสตายจาก VF ซ้ำราวร้อยละ 20 ต่อปี จึงมีความจำเป็นต้องผ่าตัดฝังเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ (AICD) ใต้ผนังหน้าอก เนื่องจากเครื่องดังกล่าวสามารถป้องกันการตายจาก VF ที่เกิดซ้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ที่ต้องการทราบรายละเอียดสอบถามได้ที่ ศูนย์ป้องกันและพัฒนาการรักษาโรคหัวใจ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช โทร. 0-2974-9770
จากที่กล่าว โรคหัวใจเป็นโรคที่อันตรายควรระวังตั้งแต่อายุยังน้อย ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ และหลอดเลือดหัวใจมากขึ้นจาก 16 ต่อแสนคน เป็น 96 ต่อแสนคน จากการดำเนินชีวิตที่เร่งรีบและค่านิยมในการบริโภคอาหารที่ผิด การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจนอกจากการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่และควบคุมความดันโลหิตแล้ว การเลือกกินอาหารที่ถูกต้องเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง
อาหารไทยหัวใจดี โครงการที่มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ ภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดตั้งโครงการจัดทำ ตราสัญลักษณ์ “อาหารรักษ์หัวใจ” ขึ้นเพื่อใช้แสดงบนบรรจุภัณฑ์ของ ผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับการตรวจวิเคราะห์แล้วว่ามีส่วนประกอบที่ไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ สมอง ไต และตา เมื่อบริโภคในปริมาณพอเหมาะ เพื่อช่วยเพิ่มความสะดวกในการเลือกซื้อสินค้าที่มีมากมาย ในท้องตลาด อีกทั้งยังเป็น การสนับสนุนสินค้าที่มีส่วนประกอบที่พอดี
เมื่อพบเห็นตราสัญลักษณ์ “อาหารรักษ์หัวใจ” บนผลิต ภัณฑ์อาหารใด ๆ ก็ตามมั่นใจได้ว่าเป็นอาหารที่ได้รับการรับรองว่าไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ สมอง ไต และตา ด้วยหลัก เกณฑ์ที่ว่า ถ้ามีกรดไขมันจะต้องมีชนิดของกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว และไขมันอื่น ๆ ในสัดส่วนที่เหมาะสม ถ้ามีเกลือจะต้องมีปริมาณเกลือไม่มาก หรือถ้ามีน้ำตาลก็ต้องมีปริมาณน้ำตาลไม่มาก หรือมีใยอาหารสูง เมื่อบริโภคในปริมาณที่ให้พลังงานเหมาะสมจะไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งตราสัญลักษณ์อาหารรักษ์หัวใจ มีดังนี้คือ กลุ่มที่ 1 ธัญชาติและผลิตภัณฑ์ มีปริมาณ ใยอาหารเพียงพอ ปริมาณ เกลือ และไขมันไม่สูง กลุ่ม ที่ 2 อาหารทะเล เนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์ มีปริมาณไขมัน และสัดส่วนชนิดของไขมัน ที่พอเหมาะ และเติมเกลือ แต่น้อย
กลุ่มที่ 3 นมและผลิตภัณฑ์ มีปริมาณไขมัน และสัดส่วนของไขมันที่เหมาะสม ระดับน้ำตาลและเกลือที่ไม่สูง กลุ่มที่ 4 น้ำมัน และไขมัน สัดส่วนของชนิดไขมันที่เหมาะสม และระดับปริมาณวิตามินอีไม่ต่ำนัก และ กลุ่มที่ 5 ถั่ว และผลิตภัณฑ์ ปริมาณระดับไขมัน และสัดส่วนที่เหมาะสม ระดับน้ำตาลและเติมเกลือแต่น้อย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0-2716-6658, 0-2716-6843
ในโอกาสนี้จึงถือเป็นอีกช่วงเวลาที่ดีต่อการดูแลหัวใจ สุขภาพอนามัยให้สมบูรณ์แข็งแรงซึ่งไม่เพียงมีความหมาย ต่อโรคหัวใจ หากแต่ยังหลีกไกลจากโรคที่เกี่ยวเนื่องกับหัวใจความเจ็บป่วยจากโรค ต่าง ๆ ทั้งปวงอีกด้วย.
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
Update:15-02-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่