ลดความขัดแย้งในครอบครัว อย่างสร้างสรรค์
ที่มา : SOOK Magazine No.69
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ปัญหาครอบครัวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป เพราะความขัดแย้งระหว่างสมาชิกภายในบ้านเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกครอบครัว ซึ่งปัญหาความขัดแย้งอาจะบานปลายจนกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว
วิธีรับมือความขัดแย้งในครอบครัวอย่างสร้างสรรค์
1. กล่าวขอโทษก่อนและรู้จักให้อภัย เป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดความไม่เข้าใจกันในครอบครัว แต่สิ่งที่จะช่วยเยียวยาให้ความสัมพันธ์ในครอบครัว เกิดความเข้าใจและอบอุ่นดังเดิม คือ ความกล้าที่จะขอโทษและให้อภัยซึ่งกัน หากสถานการณ์ตึงเครียดมาก มีปากเสียงรุนแรง อาจต้องรอให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอารมณ์เย็นลงก่อน แล้วจึงเอ่ยคำขอโทษ อย่าปล่อยให้ความไม่เข้าใจสะสม ค้างคา จนทำให้เกิดความเกลียดชังจากทิฐิและเกิดความขัดแย้งจนยากที่จะแก้ไข
2. รู้จักควบคุมอารมณ์ เป็นเรื่องปกติที่แต่ละคนมีความคิดเป็นของตัวเองหรือมีความคิดเห็นคนละมุมมอง แต่จะเกิดเป็นปัญหาเมื่อไม่รู้จักเก็บอารมณ์เมื่อเกิดความรู้สึกโกรธ เสียใจ ดังนั้นหากไม่อยากให้ครอบครัวหันหน้าออกจากกัน ต้องรู้จักใช้เหตุผล หลีกเลี่ยงการโต้เถียงและไม่ใช้อารมณ์เป็นใหญ่ ถ้าทนไม่ไหวต่อการยั่วยุจริง ๆ ให้หลีกเลี่ยงการลงไม้ลงมือหรือใช้ความรุนแรง โดยการเดินหนีไปสักระยะหนึ่ง เมื่อหายโกรธค่อยกลับมาพูดคุยกันโดยไม่ใช้อารมณ์
3. หาเวลาพูดคุยกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา การเผชิญและก้าวผ่านปัญหาครอบครัวคงเป็นเรื่องยากหากสมาชิกคนใดคนหนึ่งทำเพียงลำพัง แต่เมื่อสมาชิกทุกคนช่วยกันก็จะแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น หาเวลาที่ทุกคนสะดวกเพื่อพบปะพูดคุยกัน ให้สมาชิกทุกคนรู้ถึงจุดประสงค์ของการพบปะพูดคุยและมีส่วนร่วมในการเสนอคำแนะนำและวิธีแก้ปัญหาภายในครอบครัว ควรเปิดโอกาสให้ทุกคนพูดถึงสิ่งที่คิดออกมาตรง ๆ เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด และควรคำนึงถึงเรื่องที่จะพูดคุยกันว่าเหมาะที่เด็กเล็กจะเข้ารับฟังด้วยหรือไม่ เพราะอาจเกิดการถกเถียงและใช้อารมณ์ โดยเฉพาะในยามที่เผชิญกับปัญหา
4. ยอมรับและเคารพความคิดเห็นของสมาชิกในบ้าน การยอมรับความคิดเห็นคือการแสดงให้เห็นว่า รับรู้ เห็นคุณค่า และยอมรับความคิด ความเห็น หรือ ความเชื่อของผู้อื่น ถึงแม้ความเห็นของสมาชิกแต่ละคนจะแตกต่างกัน คำพูดปิดท้ายการพูดคุยที่บอกว่า “ขอบใจทุกคนที่มาช่วยกันคิดหาวิธีแก้ปัญหา” จะยิ่งช่วยให้สมาชิกในครอบครัวอยากมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหามากยิ่งขึ้น
5. กำหนดกฎ ข้อปฏิบัติในการอยู่ร่วมกันในบ้าน เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความเข้าใจที่ตรงกันของทุกคนในครอบครัว เช่น กำหนดเวลาการกินอาหารเย็นร่วมกันของสมาชิกในครอบครัว การแบ่งหน้าที่ในส่วนต่าง ๆ ของแต่ละคนที่ต้องช่วยเหลือกัน กำหนดเวลาการกลับบ้านของลูกวัยรุ่นที่ไม่ทำให้ผู้ใหญ่เป็นห่วง
6. หาทางการเลี้ยงดูเด็กเล็กร่วมกัน พ่อแม่วัยทำงานอาจมีแนวทางการเลี้ยงลูกแบบสมัยใหม่ ในขณะที่ผู้สูงวัยอาจเคยเลี้ยงเด็กในอีกรูปแบบหนึ่ง เพื่อเลี่ยงการเกิดปัญหาที่ไม่เข้าใจกัน ควรทำการตกลงเรื่องแนวทางการเลี้ยงเด็กที่ต้องการอย่างชัดเจนเสียก่อน หรืออาจจะพบกันครึ่งทาง ประยุกต์ทั้งสองแนวทางเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ต่อเด็ก
ดังนั้น เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นภายในครอบครัว คนในบ้านควรร่วมมือกันจัดการปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้ชีวิตครอบครัวราบรื่น และสามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้