ลงพื้นที่หาแนวทางแก้ปัญหา ‘ขาดบุคลากรสุขภาพ’
ที่มา : มูลนิธิพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพแห่งชาติ (ศสช.)
ภาพประกอบจากมูลนิธิพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพแห่งชาติ (ศสช.)
ศสช.ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนแนวทางแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพเพื่อให้เพียงพอและตอบสนองต่อความต้องการของคนในพื้นที่ และเรียนรู้ปัญหาอย่างตรงจุด หวังแก้ปัญหาด้านสุขภาพในระยะยาว
ด้วยสภาพสังคมด้านสุขภาพของประเทศไทยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งการเกิดโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมถึงการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) จากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวันโดยไม่คำนึงเรื่องสุขภาวะของประชาชนที่มีมากขึ้น ขณะเดียวกันความต้องการบุคลากรด้านสุขภาพเพื่อดำเนินการป้องกันและส่งเสริมด้านสาธารณสุขให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ยังมีไม่เพียงพอ ดังนั้น แพทย์และบุคลากรด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องปรับตัวและเข้าใจบริบทของชุมชนให้มากยิ่งขึ้น
เป็นที่มาของการลงพื้นที่ เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพและพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพบุคลากรด้านสุขภาพให้ตอบสนองต่อความต้องการของคนในชุมชน โดย มูลนิธิพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพแห่งชาติ (ศสช.) ร่วมกับ โรงพยาบาลอุบลรัตน์ และโรงพยาบาลน้ำพอง จ.ขอนแก่น เมื่อเร็ว ๆ นี้
ศ.พญ.วณิชา ชื่นกองแก้ว เลขาธิการ มูลนิธิพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพแห่งชาติ (ศสช.) กล่าวถึงทิศทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนและพัฒนาศักยภาพบุคลากรสุขภาพของไทยว่า ถึงแม้ว่าการกระจายบุคลากรด้านสุขภาพในประเทศไทยในทุกวันนี้ จะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งเห็นได้จากอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรในภาพรวมทั้งประเทศมีแนวโน้มดีขึ้นจาก 1 : 3,277 คน ในปี 2544 เป็น 1 : 2,893 คน ในปี 2553 และอัตราส่วนพยาบาลต่อประชากร จาก 1 : 794 คน ในปี 2544 เป็น 1 : 531 คน ในปี 2553 แต่ทั้งหมดยังคงกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และภาคกลางเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่สถานบริการในพื้นที่ห่างไกลยังมีปัญหาการกระจายและขาดแคลนบุคลากรวิชาชีพ ทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของพื้นที่ อีกทั้งยังไม่สามารถให้บริการด้านสุขภาพได้อย่างทั่วถึงซึ่งก็มีผลต่อการให้บริการด้านสุขภาพของประชาชนและอาจส่งผลถึงประสิทธิภาพต่อการรักษาในระยะยาว
ผนวกกับข้อมูลขององค์กรอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ที่ได้รวบรวมข้อมูลด้านการศึกษาบุคลากรสุขภาพจาก 57 ประเทศ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย โดยให้บุคลากรสุขภาพจากโรงพยาบาลชุมชนหรือกลุ่มทำงานด้านสุขภาพในชุมชนที่ประสบผลสำเร็จเป็นต้นแบบของความเปลี่ยนแปลง อีกทั้งควรปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของชุมชน เช่น การศึกษาแบบสหวิชาชีพ (Interprofessionnal Educaation : IPE) โดยทั้งหมดที่กล่าวถึงจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการผลิตบุคลากรสุขภาพที่มีคุณภาพและแก้ปัญหาสุขภาพของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี ซึ่งสอดรับกับผลวิจัยเพื่อสังเคราะห์ทางเลือก และข้อเสนอเชิงนโยบายในการวางแผนความต้องการกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศในศตวรรษหน้า (2560-2596) ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โดยระบุว่า การวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพไม่ใช่แค่การผลิตเพื่อเพิ่มปริมาณกำลังคนเข้าสู่ระบบเท่านั้น หากแต่ต้องวางแผนทั้งระบบ ตั้งแต่การผลิต การกระจาย และการคงอยู่ของกำลังคน
“จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น ศสช.จึงได้เริ่มโครงการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพในศตวรรษที่ 21 เพื่อปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรและเกิดความร่วมมือในการปฏิรูปการศึกษาบุคลากรสุขภาพ โดยเน้นการเรียนรู้ชุมชนเป็นฐานพร้อมสร้างกระบวนการทำงานด้านการศึกษาร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สถาบันการศึกษาและองค์กรวิชาชีพสุขภาพ รวมถึงการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการกำหนดนโยบาย เพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาด้านบุคลากรด้านสุขภาพในระยะยาว โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งขณะนี้มีหลายพื้นที่ที่เล็งเห็นความสำคัญของโครงการดังกล่าวและเริ่มดำเนินการเปลี่ยนแปลง เช่น รพ.อุบลรัตน์ และ รพ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ซึ่งสามารถแก้ปัญหาบุคลากรด้านสุขภาพในชุมชนได้เป็นอย่างดี” เลขาธิการ ศสช. ระบุ
ด้าน นพ.วิชัย อัศวภาคย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลน้ำพอง จ.ขอนแก่น เล่าถึงการผลิตบุคลากรสุขภาพของ รพ.น้ำพอง ว่า จากปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ที่เกิดขึ้น รพ.น้ำพอง ได้ศึกษาและวางแนวทางแก้ไขด้วยการจัดจ้างแพทย์เฉพาะทาง 7 สาขา ได้แก่ อายุรแพทย์ ศัลยแพทย์ สูตินรีแพทย์ จักษุแพทย์ แพทย์ออร์โธปิดิกส์ แพทย์โรคหัวใจ แพทย์โรคหอบหืด โดยเชิญมากจากโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นและมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมถึงโครงการแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและพยาบาลชุมชน เพื่อชุมชน ของชุมชน โดยชุมชน ด้วยการจัดบริการเวชศาสตร์ครอบครัว โดยมีแพทย์ประจำศูนย์เวชปฏิบัติครอบครัวขึ้นตรวจ และเปลี่ยนบทบาทพยาบาลฝ่ายส่งเสริมสุขภาพให้เป็นพยาบาลชุมชนประจำหมู่บ้าน
ในส่วนกระแสการลาออกของพยาบาลภาครัฐไหลไปสู่ภาคเอกชน และพยาบาลจบใหม่ปฏิเสธการร่วมงานกับโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทาง รพ.น้ำพอง จึงร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน และสถาบันการศึกษา ผลิต “พยาบาลชุมชน” ตามแนวคิด “เลือกคนดีเรียนได้ มากกว่าเลือกคนเก่งเรียนดี” โดยมีหลักการคัดเลือก 4 ขั้นตอน คือ 1.การคัดเลือกที่โปร่งใสและมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน 2.การปรับหลักสูตรให้เอื้อต่อการเป็นพยาบาลชุมชน 3.มีเวทีติดตามเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้ใช้ ผู้ผลิตและนักศึกษาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และ4.การสนับสนุนเมื่อจบมาทำงานในพื้นที่
“นอกจากนี้ รพ.น้ำพอง ยังยังให้ความสำคัญในเรื่องการเรียนรู้แบบใช้พื้นที่เป็นฐาน และเรียนรู้ระหว่างสหวิชาชีพ จึงทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา ให้นักศึกษารุ่นใหม่ได้ศึกษาวิชาความรู้จากของจริง โดย แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว กายภาพบำบัด ทันตแพทย์ และทันตภิบาล เภสัชกร ทำให้ปัจจุบัน รพ.น้ำพอง ไม่มีปัญหาการขาดอัตราทุกวิชาชีพ และยังพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ผอ.รพ.น้ำพอง ชี้แจงเพิ่ม
ขณะที่ นพ.อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น กล่าวถึงการสร้างสุขภาพดีให้แก่คนในชุมชนว่า จะต้องมีครบทั้ง 4 มิติ คือ กาย ใจ ปัญญา และสังคม จึงได้เปลี่ยนระบบบริการของโรงพยาบาล จากระบบบริการแบบตั้งรับเป็นบริการเชิงรุก คือจัดพยาบาลชุมชนและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขลงพื้นที่ภายในชุมชน เพื่อเรียนรู้การเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างแท้จริง ซึ่งการเข้าไปแบบเพื่อนจะได้รับความร่วมมือที่ดีจากชุมชน ทำให้สามารถแก้ปัญหาด้านสุขภาพได้ง่ายขึ้น
“ส่วนเรื่องการขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพ รพ.อุบลรัตน์ มีโครงการบุคลากรคืนถิ่น โดยร่วมกับทุกภาคส่วนในการผลิตบุคลกรด้านสุขภาพ โดยคัดเลือกจากนักเรียนในพื้นที่ ให้เข้ามาทดลองทำงานด้านสุขภาพเป็นเวลา 60 ชั่วโมง เพื่อได้เรียนรู้การทำงาน เมื่อเรียนจบออกมาจะได้ทราบถึงการทำงานที่แท้จริง อีกทั้งยังช่วยลดอัตราการย้ายของบุคลากรด้านการแพทย์อีกด้วย” ผอ.รพ.อุบลรัตน์ อธิบายเพิ่ม
ทั้งนี้ นักศึกษาแพทย์จากหลายสถาบันที่ได้ฝึกประสบการณ์วิชาชีพด้วยระบบศึกษาแบบสหวิชาชีพ ที่ รพ.อุบลรัตน์ ร่วมกันสะท้อนองค์ความรู้หลังเข้ารับการอบรมว่า จากการลงพื้นที่ชุมชนมีโอกาสได้เรียนรู้ปัญหาด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งมีหลายปัจจัยที่เป็นต้นเหตุปัญหาด้านสุขภาพ ที่ถึงแม้จะไม่ใช่ปัญหาโดยตรงแต่ก็สามารถส่งผลต่อสุขภาพของคนในชุมชนได้ในระยะยาว ซึ่งการเข้าไปเรียนรู้ในชุมชน ได้ลงพื้นที่จริง คิดว่าจะช่วยแก้ไขและป้องกันปัญหาได้อย่างตรงจุด อีกทั้งยังได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่หลากหลายจากบุคลากรทางการแพทย์ด้านอื่นๆ ซึ่งทำให้มีความรู้และประสบการณ์ที่กว้างมากขึ้น
การขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่หลายหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ไข เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการที่เพียงพอต่อความต้องการ และดำเนินการป้องกันปัญหาด้านสุขภาพของคนไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ