‘ร้านคนจับปลา’ แหล่งอาหารสดจากทะเลสู่ผู้บริโภค
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
ภาพประกอบจากแฟนเพจ 'ร้านคนจับปลา' fisherfolk
'ร้านคนจับปลา' fisherfolk แหล่งอาหารสดจากทะเลสู่ผู้บริโภค ทางเลือกใหม่ชาวประมง 'ปากบารา'
อ่าวปากบารา ตั้งอยู่ ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล เป็นแหล่งทำประมงชายฝั่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทุกๆ วันกลุ่มชาวประมงจะออกเรือไปจับสัตว์น้ำเพื่อนำมาเป็นอาหารและจำหน่ายให้แพปลา แต่ที่ผ่านมาผลผลิตที่จำหน่ายไปถึงมือผู้บริโภคปลายทางกลับมีราคาสูงกว่าที่จำหน่ายให้แก่พ่อค้าคนกลางเป็นอย่างมาก เนื่องจากปัญหาผลผลิตถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา ทำให้ชาวประมงพื้นบ้าน 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านปากบารา บ้านตะโละใส และบ้านท่ามาลัย หันมารวมตัวกันจัดตั้งร้านจำหน่ายสัตว์น้ำที่จับได้ ส่งขายตรงถึงผู้บริโภค เพื่อตัดพ่อค้าคนกลางออกไปจากห่วงโซ่การค้าขาย ทำให้สามารถจำหน่ายผลผลิตให้ผู้บริโภคได้ในราคายุติธรรม
"ร้านคนจับปลา" เป็นจุดศูนย์รวมสัตว์น้ำของชาวบ้านทั้ง 3 หมู่บ้าน และเป็นแหล่งกระจายสินค้าจากทะเลที่เน้นหลักการจัดการผลผลิตของตนเอง
ฮาสานะห์ เกะมาซอ หนึ่งในคณะกรรมการร้านคนจับปลาและเจ้าหน้าที่สมาคมรักษ์ทะเลไทย บอกว่า กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านได้พูดคุยกันถึงการจัดการผลผลิตของตนเอง โดยเห็นตรงกันว่า หากขายผ่านพ่อค้าคนกลางมักถูกกดราคาอยู่เสมอ แต่กลับพบว่าราคาสินค้าในตลาดที่ขายให้ผู้บริโภคสูงกว่าราคาที่ผู้ผลิตขายให้พ่อค้าคนกลางหลายเท่าตัว กลุ่มชาวประมงจึงร่วมกันดำเนิน "โครงการร้านคนจับปลาสตูล" เมื่อปี 2558 โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
"ช่วงเริ่มต้นมีเงินลงทุนเพียง 3,000 บาท นำเงินไปซื้อกุ้งจากชาวประมงส่งเป็นเครือข่ายในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง และภายในจังหวัดสตูล มาให้กลุ่มแม่บ้านช่วยแปรรูปผลผลิตเพื่อจำหน่าย รวมทั้งมีช่องทางจำหน่ายในร้านเลมอนฟาร์ม จำหน่ายทางออนไลน์ ผ่านโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก
เป้าหมายหลักของร้านคนจับปลาก็เพื่อเพิ่มศักยภาพในการจัดการผลผลิตของประมง พื้นบ้าน ซึ่งจะต้องทำประมงอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและต่อผู้บริโภค ไม่ใช้เครื่องมือประมงอย่างผิดกฎหมาย หรือทำประมงแบบทำลายล้าง ขณะเดียวกันก็สร้างทางเลือกให้ผู้บริโภคได้ซื้อสัตว์น้ำที่สด สะอาด ปลอดภัย รู้แหล่งที่มาจากประมงพื้นบ้านโดยตรง ผู้บริโภคจะเข้าใจว่าฤดูไหนมีสัตว์น้ำประเภทไหน พร้อมกับการกระตุ้นเตือนจิตสำนึกในการปกป้องแหล่งอาหารทะเลไปด้วย
สำหรับผลผลิตของกลุ่มประมงพื้นบ้านมีพวกปลาต่างๆ เช่น ปลาเก๋า ปลากะพง ปลาอินทรีย์ ปลาน้ำดอกไม้ กุ้งแชบ๊วย หมึกหอม หมึกกระดอง ฯลฯ ซึ่งจับได้ตามฤดูกาล เราจะรับซื้อในราคาที่สูงกว่าแพปลาร้อยละ 10-20 โดยจะทำหน้าที่เป็นคนกลางจัดการผลผลิตให้ชาวประมง กำไรที่ได้แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนแรกร้อยละ 50 เป็นต้นทุนหมุนเวียนในร้าน ร้อยละ 30 เป็นเงินปันผลของสมาชิกผู้ถือหุ้นปีละหนึ่งครั้ง และร้อยละ 20 นำไปสนับสนุนงานอนุรักษ์ เช่น การสร้างบ้านปลา ธนาคารปู และยังรับซื้อจากสินค้าจากแพปลาในราคาเดียวกันด้วยแต่ต้องเป็นแพปลาที่เป็นสมาชิกเท่านั้น
การเกิดร้านคนจับปลานอกจากทำให้ผู้ผลิตขายผลผลิตได้โดยตรงแล้ว ยังเกิดการจ้างงานสร้างรายได้ให้แก่แม่บ้านชาวประมงด้วย นุซุรา งะสมัน มือชำแหละปลาประจำร้านคนจับปลา เล่าว่า มาทำงานที่ร้านคนจับปลา เมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้มีรายได้ไว้ใช้จ่ายในครอบครัว จากเดิมแม่บ้านไม่มีรายได้ นอกจากนี้ยังได้ร่วมออกร้านขายของในงานต่างๆ ทำให้ได้เปิดหูเปิดตา ได้ประสบการณ์อีกด้วย
การดำเนินงานของร้านคนจับปลาไม่ได้ก้าวเดินโดยลำพัง มีเครือข่ายต่างๆ เข้ามาให้การสนับสนุน อาทิ สมาคมชาวประมงสตูล ศูนย์วิจัยประมงชายฝั่งสตูล ช่วยเหลือด้านข้อมูลทางวิชาการ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ปากน้ำให้การสนับสนุนโรงเรือน สำนักงานเกษตรอำเภอละงูสนับสนุนอุปกรณ์จัดเก็บสัตว์น้ำ ปัจจุบัน ร้านคนจับปลาอยู่ระหว่างขยายการรับซื้อผลผลิตสัตว์น้ำจาก ชาวประมงพื้นบ้านที่รู้แหล่งผลิตในพื้นที่อื่นๆ ของจังหวัด และขอใบรับรองมาตรฐานอาหารทะเลปลอดภัยจากสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้าน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ปัจจุบัน "ร้านคนจับปลา" ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่รู้จักกันในชื่อ "fisherfolk" ส่วนสำคัญมาจากการจำหน่ายผ่านออนไลน์ที่เชื่อมต่อระบบขนส่งที่รวดเร็ว
การเกิดขึ้นของ "ร้านคนจับปลา" ถือเป็นทางเลือกใหม่ให้ชาวประมงพื้นบ้านสามารถจำหน่ายผลผลิตโดยตรงสู่ผู้บริโภคในราคายุติธรรม วินวิน ทั้งสองฝ่าย คือ ผู้บริโภคได้รับประทานอาหารสด ปลอดภัย ขณะเดียวกันสามารถสร้างงานสร้างอาชีพให้สมาชิกกลุ่มประมงและชาวชุมชน ที่สำคัญ คือ เป็น Social Enterprise ดำเนินธุรกิจที่นอกจากแสวงหารายได้แล้ว ยังเป็นกิจการเพื่อสังคมก่อให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และส่งผลให้เศรษฐกิจของชุมชนมีความแข็งแกร่งอีกด้วย