ร้อนนี้ ระวังโรคอาหารเป็นพิษ

‘สสจ.นพ.’ เตือน ระวังโรคอาหารเป็นพิษฯ เผยต้น ปี’58 พบผู้ป่วยร่วม 4,000 ราย


เตือน ระวังโรคอาหารเป็นพิษ thaihealth


นายแพทย์ประภาส วีระพล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม กล่าวว่า โรคอาหารเป็นพิษ เป็นโรคหนึ่งที่พบระบาดในช่วงหน้าร้อน ซึ่งการเจ็บป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ เนื่องจากรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค อาหารไม่สะอาด อาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ และอาหารที่ทำล่วงหน้าเกิน 4 ชั่วโมง โดยอากาศร้อนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตได้เร็ว ส่งผลให้อาหารบูดง่าย ซึ่งในช่วงต้นปี 2558 พบผู้ป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษแล้วอย่างน้อย 4,000 ราย


“10 เมนูอาหารที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคอาหารเป็นพิษ คือ 1.ลาบ/ก้อยดิบ เช่น ลาบหมู ก้อยปลาดิบ 2.ยำกุ้งเต้น 3.ยำหอยแครง 4.ข้าวผัดโรยเนื้อปู โดยเฉพาะกรณีที่ทำในปริมาณมาก เช่น อาหารกล่องแจกนักเรียนหรือคณะท่องเที่ยว 5.อาหาร/ขนม ที่ราดด้วยกะทิสด 6.ขนมจีน 7.ข้าวมันไก่ 8.ส้มตำ 9.สลัดผัก และ 10.น้ำแข็ง สำหรับอาการของโรคอาหารเป็นพิษ จะมีอาการสำคัญ คือ คลื่นไส้ อาเจียน เป็นไข้ อุจจาระร่วง ซึ่งทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่จากการถ่ายอุจจาระ


การรักษาในเบื้องต้นควรให้สารละลายเกลือแร่โอ อาร์ เอส เพื่อป้องกันการขาดน้ำหากไม่มีสามารถทดแทนได้โดยใช้น้ำต้มสุก 1 ขวดน้ำปลาใหญ่ หรือประมาณ 750 ซีซี ผสมน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ และเกลือแกงครึ่งช้อนชาผสมให้เข้ากัน ทิ้งให้เย็นลง แล้วรับประทานแทนน้ำ หรือไม่เช่นนั้น ให้ทานอาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก หรือน้ำข้าว หรือแกงจืด โดยไม่งดอาหาร รวมทั้งนมแม่ (กรณีของเด็ก) ส่วนเด็กที่ดื่มนมผสมให้ผสมเหมือนเดิม แต่ปริมาณลดลงและให้สลับกับสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ จะอย่างไรก็ตาม หากรักษาเบื้องต้นแล้วอาการไม่ทุเลาลง ต้องไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด ไม่ควรกินยาเพื่อให้หยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคค้างอยู่ในร่างกาย เป็นอันตรายมากขึ้น” นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม กล่าว


 


 


ที่มา : สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code