‘ร้องเพลง’ ‘เต้นรำ’ กิจกรรมเพื่อสุขภาพผู้สูงวัย
ฟื้นฟูสภาพจิตใจส่งผลดีต่อร่างกาย
“ยิ่งอายุมากขึ้นเท่าไร ยิ่งต้องใส่ใจตัวเองมากขึ้นเท่านั้น” คงไม่ผิดนักสำหรับคำๆนี้โดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุที่สภาพร่างกายเสื่อมโทรมลงตามเวลา ความแข็งแรงของกระดูกลดลง พร้อมกับความจำเริ่มเสื่อมถอย วิธีหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ ให้ห่างไกลภาวะโรคซึมเศร้าได้คือใช้วันว่างของชีวิตออกไปพบปะเพื่อนฝูงหรือทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น
เหมือนกับวิถีชีวิตของกลุ่มผู้สูงอายุกลุ่มหนึ่งที่มีหัวใจชื่นชอบในเสียงเพลง จึงมักไปพบปะสังสรรค์กันในวันธรรมดาและวันหยุด โชว์เสียงร้องบทเพลงเก่าบนเวทีขับกล่อมจิตใจของกันและกัน คุณลุงคุณป้าเรียกสถานที่นี้ว่า “พิพิธภัณฑ์เพลงอมตะ” เป็นพื้นที่เช่าอยู่บริเวณศูนย์อาหารชั้น 2 ห้างสรรพสินค้าคาร์ฟูร์ลาดพร้าว
ภายในสถานที่แห่งนี้ใช้พื้นที่ทานอาหารเป็นมุมพักผ่อนทานข้าวเคล้าเสียงเพลงเปิดรับคนทุกเพศทุกวัยที่มีใจรักในเสียงดนตรี สามารถขึ้นไปโชว์เสียงร้องของตัวเองได้ แต่ขอบอกไว้ก่อนเลยว่าไม่มีเพลงวัยรุ่นแดนซ์กระจาย เนื่องจากที่นี้เป็นแหล่งรวมตัวของผู้สูงอายุที่ชื่นชอบบทเพลงเก่า จึงเป็นที่มาของคำว่า “พิพิธภัณฑ์เพลงอมตะ” ซึ่งคนที่ฟังชื่อนี้อาจคิดว่าต้องเป็นห้องใหญ่ กว้างขวาง ตรงกันข้ามไม่ใช่เลยมีเพียง เวที นักดนตรี บทเพลง และคุณลุงคุณป้ามาโชว์เสียงร้องพร้อมวาดลวดลายการเต้นลีลาศอีกต่างหาก
เพราะฉะนั้น ถ้าใครไม่ถนัดร้องก็ลองไปนั่งฟังเพลงสบายๆ หรือชวนคนรักเต้นรำ เปลี่ยนบรรยากาศทานข้าวนอกบ้านก็ย่อมได้ สำหรับกิจกรรมมีทุกวันจันทร์-อาทิตย์ เริ่มตั้งเต่เวลา 12.00 น. – 19.00 น. แล้วคุณจะมีความสุขเหมือนกับผู้สูงอายุท่านนี้
นางอาภรณ์ อิทรโชติ หรือป้าแป้ง อายุ 58 ปี หนึ่งในกลุ่มผู้สูงอายุ เล่าว่า ทุกวันหลังเสร็จภาระกิจการทำงานบ้านแล้ว จะนั่งรถเมล์จากที่พักถนนนวลจันทร์นวมินทร์ มาขับร้องบทเพลงเก่าที่นี้เป็นประจำตลอดระยะเวลา 4 ปี เสียงดนตรีที่บรรเลงให้ได้ยิน ได้ฟังและขับร้องนั้นทำให้จิตใจสดชื่น ผ่อนคลายความเครียดที่สะสมมานานนับปี โรคไมเกรนที่เคยเป็นอยู่ค่อยๆบรรเทาเบาบางลง สมาชิกในครอบครัวเห็นประโยชน์ของกิจกรรมที่ทำ จากที่เคยห้ามด้วยความเป็นห่วงเรื่องสุขภาพ หันกลับมาสนับสนุนชื่นชมความสามารถและให้กำลังใจตอบแทน ทำให้ทุกวันนี้ได้รับคำชมจากคนรอบข้างสร้างแรงบันดาลใจให้อยากร้องเพลงต่อไป
โดยกิจกรรมการร้องเพลงฟังเพลงดังกล่าว ล้วนมีประโยชน์ต่อสุขภาพจิตใจของผู้สูงอายุ ช่วยฝึกการทำงานของอวัยวะที่ใช้ในการพูดและการหายใจส่งผลดีต่อระบบร่างกาย ทั้งนี้การร้องเพลงด้วยความรู้สึกที่แท้จริงนอกจากจะมีความสุขใจแล้วยังช่วยรักษาตัวเองทางอ้อม เพราะเสียงเพลงช่วยขับกล่อมจิตใจให้มีสมาธิกับสิ่งที่ทำ เมื่อสภาพจิตใจดีร่างกายย่อมแข็งแรงตามไปด้วย อีกทั้งการออกมาสังสรรค์กับเพื่อนวัยเดียวกันย่อมดีกว่าการอยู่บ้านตามลำพัง
เนื่องจากสาเหตุของโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุส่วนใหญ่มาจาก “ความเหงา” การอยู่บ้านเพียงลำพังไม่ได้พบเจอใครทำให้รู้สึกเซ็ง เศร้า หรือเสียใจอย่างไม่มีเหตุผล เกิดความเบื่อหน่ายและรู้สึกตัวเองไร้ค่า ระบบความคิดตลอดจนการเคลื่อนไหวเชื่อช้าทำให้รู้สึกหงุดหงิด ส่งผลให้ความยากอาหารเปลี่ยนแปลงไป คือ อาจเบื่ออาหาร หรือรับประทานมากขึ้น บางคนอาการรุนแรงถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย
เกี่ยวกับเรื่องนี้นายสมศักดิ์ ทวีศักดิ์ หรือคุณตา อายุ 74 ปี บอกว่า ทุกครั้งเมื่อต้องอยู่บ้านคนเดียวนั้นจะรู้สึกเหงาเพราะไม่มีใครให้พูดคุยด้วย แม้จะพักอาศัยอยู่กับภรรยาและลูกสาวคนโตก็ไม่ได้มีเวลาอยู่ด้วยกันทั้งวัน ทุกคนต่างออกไปทำงานนอกบ้าน ทำให้เขารู้สึกเบื่อหน่ายชีวิตที่ต้องนั่งดูโทรทัศน์ เริ่มคิดมากฟุ้งซ่านกับตัวเอง เริ่มมีอาการขี้หลงขี้ลืม สุขภาพจิตใจไม่ดี ชีวิตขาดความสดชื่น แต่หลังจากตัดสินใจมาทำกิจกรรมนอกบ้านอย่างการร้องเพลง เต้นรำตามคำชวนของเพื่อนผู้สูงอายุในวัยเดียวกันได้รับมิตรภาพกลับมาพร้อมรู้จักคนมากขึ้น กระทั่งร่วมกลุ่มกันไปเที่ยวในสถานที่ต่างๆ ทำให้ไม่รู้สึกเหงาโดดเดี่ยวอีกต่อไป
คุณตา บอกด้วยว่า ขณะขับรถติดไฟแดงผู้สูงอายุสามารถฝึกคิดเลขเร็วผ่านการบวกป้ายทะเบียนรถต่างๆ เพื่อกระตุ้นการทำงานของสมองอยู่เสมอ สำหรับการฟังเพลงของผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ชื่นชอบบทเพลงอมตะหรือเพลงเก่าสมัยหนุ่มสาว ส่วนตัวเขาโปรดปรานงานเพลงของวงสุนทราภรณ์ ไม่ว่าจะเป็นเพลงพรหมลิขิต เพลงจำปาทอง เพลงคิดถึง ล้วนเป็นเพลงที่มีเนื้อหาสาระสอดคล้องกับชีวิตจริงของคน บทเพลงจึงเปรียบเหมือนตัวแทนอารมณ์ความรู้สึกของคนเราในช่วงเวลานั้นๆได้
เหนือสิ่งอื่นใดการทำกิจกรรมนอกบ้านของผู้สูงอายุ ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบ่งปันทางความคิดเมื่อแต่ละคนมาจากหลายสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า พยาบาล แม่บ้าน นายแพทย์ ทนายความหรือข้าราชการชั้นสูง แต่ทุกคนเชื่อมสัมพันธ์กันได้ด้วยใจรักในเสียงเพลง
ด้านนพ.ณรงค์ สดุดี หรือคุณหมอณรงค์ อายุ 82 ปี อดีตอธิบดีกรมการแพทย์ บอกว่า เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นสมองจะสั่งงานช้า การทรงตัวไม่ดีต้องหาทางกระตุ้นการทำงานของร่างกายด้วยการออกกำลังกายเบาๆให้เหมาะสมกับช่วงวัย อย่างการเต้นลีลาศช่วยเพิ่มการทรงตัวและป้องกันการล้มในผู้สูงอายุได้ ซึ่งทางที่ดีต้องทำต่อเนื่องกันอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ผู้สูงอายุควรออกกำลังกายอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง
นอกจากการเต้นลีลาศจะเป็นการฝึกทรงตัวแล้ว ยังมีประโยชน์ช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกผ่อนคลาย ร่างกายได้หมุนเวียนถ่ายเทของเสียออกทางเหงื่อทำให้สุขภาพดีขึ้น เพราะการเต้นรำกับเสียงเพลงทำให้อารมณ์ดีร่าเริงแจ่มใส ผู้สูงอายุจะมีความสุขที่ได้ร่วมกิจกรรมกับผู้อื่นหลุดพ้นความคิด “ตัวเองไร้ค่า”
หากคุณลุงคุณป้าหรือผู้สูงอายุท่านใด เบื่อกับการอยู่บ้านตามลำพังอยากออกไปท่องเที่ยวพักผ่อนนอกบ้าน “พิพิธภัณฑ์เพลงอมตะ” คงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคุณ อยากทราบข้อมูลหรือสอบถามเส้นทาง ป้าแป้งมีคำตอบ โทร. 087-714-2217
ถ้าไม่สะดวกออกมาด้วยตัวเอง ลองกระซิบบอกลูกหลานหรือชวนเพื่อนฝูงไปร้องเพลงเต้นรำกันดีกว่า เมื่อร่างกายพร้อมสุขภาพจิตดีอายุจะได้ยืนยาวยิ่งขึ้น^_^
เรื่องโดย: กิตติยา ธนกาลมารวย team content www.thaihealth.or.th
update: 29-12-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: กิตติยา ธนกาลมารวย