ร้องทวงหนี้โทรคมนาคม
ผู้บริโภคร้องโดนบริษัทโทรคมทวงหนี้ไม่เป็นธรรม ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ล่าสุดพบเป็นหนี้ร้อยเจ็ดบาท ขู่ไม่ใช้หนี้โดนเข้าบัญชีดำ ผอ.สบท. เผยเป็นหนี้ต้องใช้ แต่ทวงหนี้ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เปิดเผยว่า มีผู้บริโภคจำนวนหนึ่งร้องเรียนมายัง สบท.ว่า ถูกบริษัทโทรคมนาคมใช้วิธีทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม ให้ข้อมูลเท็จเพื่อข่มขู่ หรือทำให้เสื่อมเสีย ทั้งนี้ในปัจจุบันพบว่า บริษัทโทรคมนาคมใช้วิธีการทวงหนี้ 2 รูปแบบคือ การส่งจดหมายโดยบริษัทโทรคมนาคมที่เป็นเจ้าหนี้เอง หรือการจ้างบริษัทเอกชนให้ดำเนินการทวงหนี้แทนให้
“วิธีการส่งจดหมายโดยบริษัทโทรคมนาคมนั้นๆ เอง จะมีการอ้างข้อมูลที่บางครั้งมีลักษณะหลอกลวงให้ผู้บริโภคหลงเชื่อและกลัว ใช้วิธีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น เป็นหนี้จำนวน 107 บาท ส่งจดหมายแจ้งว่า หากไม่ชำระจะนำข้อมูลการค้างชำระเข้าสู่ระบบบัญชีดำ หรือ black list โดยระบุว่า อาจส่งผลกระทบต่อท่านในการทำนิติกรรมทางการเงินกับสถาบันการเงินต่างๆ และจะไม่สามารถขอติดตั้งโทรศัพท์ได้อีก ซึ่งการเป็นหนี้โทรคมนาคมไม่เกี่ยวกับประวัติเครดิตใดๆ ทั้งสิ้น ยกเว้นเป็นการหักผ่านบัตรเครดิต เช่น ซื้อไอโฟนผ่านบัตรเครดิต” นายประวิทย์กล่าว
ผอ.สบท. กล่าวต่อไปว่า ส่วนอีกกรณีที่ใช้วิธีการทวงหนี้โดยจ้างบริษัทเอกชนนั้น จะมีวิธีการที่ถูกร้องเรียนมามาก เพราะใช้วิธีการข่มขู่ในรูปแบบต่างๆ เช่น การโทรติดตามหนี้กับบุคคลที่สาม เช่น คนในครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงาน อย่างระรานหรือรบกวน เพื่อให้เสื่อมเสียชื่อเสียง จนกลายเป็นปัญหาในครอบครัวและในที่ทำงาน หรือการใช้คำพูดที่ก้าวร้าว ข่มขู่ ผู้ร้องรายหนึ่งแจ้งว่า ถูกบริษัทรับจ้างทวงหนี้โทรติดตามหนี้ทางโทรศัพท์ทั้งวันหรือโทรเล่าเรื่องให้เพื่อนร่วมงานฟังจนทราบกันทั้งบริษัท หรือบางรายถูกตามทวงหนี้จนต้องออกจากงาน ทั้งนี้แรงจูงใจที่ต้องทวงหนี้โหดเพราะมีการรับซื้อหนี้ เช่น บริษัทเจ้าหนี้รับแค่ร้อยละ 30 ที่เหลือบริษัททวงหนี้ได้เป็นรายได้
“โดยหลักแล้วเมื่อเป็นหนี้ผู้ร้องก็ต้องใช้ บริษัทมีสิทธิทวงหนี้แต่การทวงหนี้ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย การใช้วิธีการโทรไปแจ้งที่ทำงาน แจ้งเพื่อนร่วมงานหรือแฟกซ์ไปตามออฟฟิศจึงไม่สมควร สำหรับผู้บริโภคหากได้รับหนังสือทวงหนี้ให้ตรวจสอบความถูกต้อง หากพบว่าไม่ถูกต้องให้โต้แย้งทันที และถ้าเป็นหนี้จริงให้หาทางยุติหนี้ อาจเจรจาไกล่เกลี่ยหรือผ่อนชำระกับบริษัท แต่หากเจอกรณีว่า บริษัทใช้วิธีการทวงหนี้ที่ไม่ถูกกฎหมายก็ดำเนินคดีได้ในประเด็นทวงหนี้ไม่เป็นธรรม โดยร้องเรียนไปที่ สคบ. หรือสภาทนายความ สำหรับบริษัทโทรคมนาคม ควรตรวจสอบพฤติกรรมการทวงหนี้ของบริษัทที่ดำเนินการให้ว่าอยู่ในกรอบของกฎหมายหรือไม่ ไม่ควรปล่อยให้บริษัททวงหนี้ใช้วิธีการนอกกฎหมายเพราะย่อมส่งผลกระทบต่อภาพพจน์บริษัทโทรคมนาคม ซึ่งเป็นบริษัททุนขนาดใหญ่” นายประวิทย์กล่าว
ที่มา : มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียบเรียงจากสำนักสื่อสารสาธารณะและบริการประชาชน สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.)