ร่วมสร้าง “รถรับ-ส่ง นักเรียนปลอดภัย”
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ภาพโดย สสส.
เป็นอีกหนึ่งกระแสที่กำลังถูกพูดถึงอีกครั้งในช่วงนี้ หลังสื่อใหญ่ระดับโลกกระพือข่าวคนไทยตายบนท้องถนนอันดับ 1 ของโลก เหตุเพราะความจนและเหลื่อมล้ำ
รายงานข่าวดังกล่าว เสมือนเป็นการตอกย้ำลึกถึงปัญหาข้อระบบขนส่งสาธารณะที่ยังไม่สามารถครอบคลุมและได้มาตรฐานสำหรับคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่สาเหตุจากข้อจำกัดการเข้าถึงบริการรถสาธารณะที่ปลอดภัย ทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนจึงต้องหันไปพึ่งพาทางเลือกอื่นในการเดินทาง เช่น การใช้รถจักรยานยนต์ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงและส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุตามมา จนมีรายงานของกระทรวงสาธารณสุขช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มเยาวชนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ทางถนนเฉลี่ยปีละ 1,688 ราย
ดังนั้น ปัญหาเรื่องรถรับ-ส่งนักเรียนที่ปลอดภัยได้มาตรฐานคือความจำเป็นสำคัญทางการศึกษาที่ไม่ควรถูกมองข้ามอีกต่อไป
"รถรับ-ส่งนักเรียนถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเราเอาเด็กนักเรียนที่เป็นอนาคตของชาติมาไว้ในรถของเรา" หนึ่งในเสียงสะท้อนจาก สุริยัน ตื้อยศ เครือข่ายผู้ประกอบการรถรับ-ส่งนักเรียน ในจังหวัดเชียงราย แสดงมุมมอง ในเวที TED Talks หัวข้อ "กลไกการจัดการเพื่อรถรับ-ส่งนักเรียนที่ปลอดภัย" ในงานสัมมนาวิชาการระดับชาติเรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 14 ภายใต้หัวข้อ "เดิน ขี่ ขับ ไปกลับ ปลอดภัย" (Play your part and share the road) โดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ร่วมกับศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย
ขณะที่ กมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เอ่ยถึงปัญหานี้ว่า การจัดการรถรับ-ส่งนักเรียนให้ถูกต้อง อาจต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ประกอบกับการขนส่งสาธารณะที่มีไม่ทั่วถึงทุกพื้นที่ ทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนไม่มีทางเลือกในการเดินทางและหันไปเดินทางในรูปแบบอื่น เช่น การใช้รถจักรยานยนต์ที่เด็กยังมีความรู้เรื่องกฎระเบียบไม่เพียงพอ
"ปัญหาหลักของรถรับ-ส่งนักเรียนคือ การขาดหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการจัดการ รถที่นำมาใช้ไม่ผ่านการตรวจสภาพตามที่กรมการขนส่งฯ กำหนด เพราะส่วนหนึ่งเป็นรถของชาวบ้านในพื้นที่ที่มีจิตอาสานำรถส่วนตัวมารับ-ส่งลูกหลานภายในหมู่บ้าน และไม่ได้มีรายได้หรือกำไรจากการรับ-ส่ง" กมล กล่าว
ด้าน วัฒนดนัย ธนัญชัย นักวิจัยโครงการถอดบทเรียนรถรับ-ส่งนักเรียน กล่าวถึงองค์ประกอบหลักของปัญหาระบบรถรับ-ส่งนักเรียน โดยให้ข้อมูลว่า ปัญหาส่วนหนึ่งเริ่มจากการเลือกรถให้บุตรหลานของผู้ปกครอง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงมาตรฐานการตรวจสอบ ในขณะที่รถรับ-ส่ง ส่วนใหญ่ไม่ได้มาตรฐาน โดยจากการดำเนินโครงการวิจัยฯ คณะทำงานได้สรุปออกมาเป็นโมเดลกลาง ดังนี้ 1. ประเมินสถานการณ์ รวบรวมข้อมูล นำเสนอข้อมูลร่วมกัน ทั้งคนขับรถ ผู้ประกอบการ ผู้ปกครอง โรงเรียน และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทราบปัญหาเดียวกัน 2. พัฒนาเครือข่าย โดยนำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน 3. เพิ่มแรงเสริม ลดแรงต้าน ให้ความรู้ทั้งผู้ประกอบการ คนขับรถจะต้องรู้กฎจราจร ตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้โดยสาร 4. การบังคับใช้จริง เช่น การบังคับใช้กฎหมาย ให้คนขับรถรับ-ส่ง รู้ถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รณรงค์ให้มีการให้ความรู้ซ้ำ 5. การประเมินผล เพื่อติดตามปัญหาอุปสรรคของการทำงาน เพื่อวางแผนแก้ไขต่อไปในอนาคต และ 6. การคืนข้อมูลให้ทั้งในระดับจังหวัด ระดับพื้นที่ โดยโรงเรียนสามารถนำไปเป็นนโยบายของแต่ละพื้นที่ต่อไป
อย่างไรก็ดี รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เอ่ยเสริมว่า การขยายผลให้นักเรียนได้เข้าถึงสิทธิความเสมอภาคด้านการศึกษาและความปลอดภัยในชีวิตและร่างกาย ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจของรัฐบาลที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อการดูแลคุ้มครองเด็กให้เป็นไปตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยและการได้รับการศึกษาบนพื้นฐานของโอกาสที่เท่าเทียมกัน
ซึ่งความเห็นดังกล่าวยังถูกสนับสนุนโดย พิสิษฐ์ วงศ์เธียรธนา ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาและให้คำปรึกษา กองกฎหมาย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เอ่ยว่า "อยากให้ทุกคนมองเรื่องนี้เป็นเรื่องของการศึกษา เพราะหากเด็กไม่สามารถไปโรงเรียนได้ หรือโรงเรียนไม่มีเด็ก การมีโรงเรียนก็จะไม่มีความหมายอีกต่อไป"
พร้อมได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการจัดการรถรับ-ส่งนักเรียนปลอดภัย ดังนี้ 1. กำหนดให้โรงเรียนเป็นจุดจัดการรับ-ส่งนักเรียนที่ปลอดภัย 2. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดสรรงบประมาณเพื่อให้มีทางเลือกในการเดินทางไป-กลับโรงเรียนที่ทั่วถึงและมีมาตรฐานความปลอดภัยภายใต้ภารกิจของการศึกษา 3. จัดตั้งอนุกรรมการด้านความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนขึ้นในศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนนส่วนกลางและทุกจังหวัด 4. ขนส่งจังหวัดร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากำหนดปฏิทินและแนวทางในการจัดการรถรับส่งนักเรียนให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่
มาฟังมุมของคนทำงานระดับพื้นที่ นงเยาว์ ผาสุก รองผู้อำนวยการโรงเรียนศีขรภูมิพิสัย จังหวัดสุรินทร์ ได้บอกเล่าประสบการณ์จากการนำร่องพื้นที่ต้นแบบของการจัดระบบรถรับ-ส่งนักเรียนด้วยโมเดล SPS Care ว่า เป็นการนำแนวคิด ได้แก่ S-Survey คือการสำรวจปัญหานักเรียนที่เดินทางมาโรงเรียน P-People จัดทีมทำงาน S-Safe ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้น และ Care การเอาใจของเครือข่ายที่ต้องช่วยกันทำงาน มาประยุกต์ใช้ โดยเข้าไปคุยกับคนขับรถรับ-ส่งแบบกัลยาณมิตร จัดตั้งชมรมรถรับ-ส่ง เพื่อสร้างข้อตกลงร่วมกันในการดูแลเด็ก ตั้งแต่การให้ความรู้ การจัดรถให้ได้มาตรฐาน การสร้างจิตสำนึกให้รู้หน้าที่ในการขับรถ รวมไปถึงการให้ครูตรวจดู นักเรียนตั้งแต่ลงจากรถ เป็นต้น นอกจากนี้มีโครงการ "สานสัมพันธ์ วันทำบุญอบอุ่นทั้งตำบล" ให้ครูกับนักเรียนร่วมไปทำบุญที่วัด ฟังพระเทศน์ เรื่องของการดูแลลูก การเดินทางอย่าง ปลอดภัย ถือเป็นการจัดระบบการทำงาน แบบ บวร บ้าน วัด และโรงเรียนร่วมกัน
ซึ่งคนจากพื้นที่เชียงรายอย่าง สุริยัน ร่วมให้มุมมองเพิ่มเติมว่า การแก้ปัญหาของรถรับ-ส่งนักเรียน ควรต้องประกอบไปด้วย 4 ส่วนคือ 1. ผู้ประกอบการหรือผู้ขับรถ ที่จะต้องสร้างให้เป็นนักขับมืออาชีพ และสร้างจิตสำนึกให้ทุกคนดูแลนักเรียนเหมือนลูกหลานตนเอง 2. ภาคีเครือข่ายที่จะต้อง มีส่วนร่วมในการทำงาน 3. ผู้ปกครองและนักเรียนที่ต้องให้ความร่วมมือ 4. โรงเรียนจะต้องเป็นจุดศูนย์กลางในการประสานความร่วมมือจากทุกฝ่าย