ร่วมสร้างสุข บ่มเพาะสุขภาวะดี ที่ทำงาน

ข้อมูลจาก : งาน Thailand HR TECH 2024 “เพราะองค์กรสุขภาวะจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และสุขภาพที่ดีของคนทำงาน”

ภาพโดย พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                    เพราะ 1 ใน 3 ของชีวิตคนเรา หมดไปกับการทำงาน ดังนั้นจะดีแค่ไหน หากทั้งชีวิตที่ทุ่มเทไป  นอกจากสร้างรายได้แล้วยัง “สร้างสุข” เมื่อที่ทำงานสร้างสุขได้ ตลอดเวลา 8 ชั่วโมงของการทำงานจะไม่ใช่เวลาแห่งความวิตกกังวลในชีวิต

                    งาน Thailand HR TECH 2024 “เพราะองค์กรสุขภาวะจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และสุขภาพที่ดีของคนทำงาน” ที่ รอยัล พารากอน ฮอลล์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ออกบูธสร้างสรรค์ ชวนองค์กร-คนทำงาน มาร่วมกันตามหาเส้นทางสู่การเป็น “องค์กรสุขภาวะ” ด้วยแนวคิด “Happy Workplace” และเปิดประสบการณ์ด้วยการจัดให้มีเวิร์กชอป “Happy Workplace Listens!” พื้นที่ปลอดภัยเพื่อพูดคุย แลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิด ประสบการณ์ ผ่านเครื่องมือฟังด้วยใจ  โดย นางสาวศิริกัญญา แก้วพฤกษ์  SR.Employee Engegamet  บริษัท CDG GROUP หนึ่งในผู้ร่วมทำกิจกรรม ระบุว่า 1 ชั่วโมงของการเข้าร่วมกิจกรรม Happy Workplace Listens รับฟังด้วยใจ ได้เรียนรู้ มุมมองความคิด ภายในใจของตนเอง คาดว่าจะนำไปปรับใช้กับบริษัทของตนเอง ซึ่งทำเกี่ยวกับงานด้านเทคโนโลยี เนื่องจากพนักงานของออฟฟิตมีหลากหลายเจนเนอเรชั่น ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างวัย ยากแก่การสื่อสาร รับฟัง เพราะทุกคนมุ่งมั่นกับภาระงานที่ได้รับมอบหมายให้จบสิ้นไปในแต่ละวัน

                    “อยากนำสิ่งที่เรียนรู้ไปปรับใช้ ทำให้เกิดการพูดคุยกลุ่มเล็ก ๆ ในออฟฟิต เพราะเห็นประโยชน์ของการรับฟัง ไม่ใช่การฟังคนอื่น แต่เป็นการรับฟังตัวเองด้วย และสามารถนำไปปรับใช้ได้ หากทุกคนเปิดใจกันมาก ปัญหาความแตกต่างไม่เข้าใจกันในคนแต่ละช่วงวัย ที่มีความคิด การแสดงออกที่แตกต่างกัน ภาระหน้าที่ที่แตกต่างก็ลดลง เพราะที่ผ่านมาแต่ละคนต่างละเลยการรับฟังซึ่งกันและกัน” นางสาวศิริกัญญา กล่าว

                    ขณะที่นายทรงยศ จารุสมบัติ ทีม Coverage to Coach ภาคี สสส. ที่เข้ามาร่วมเป็นโค้ช สอนและร่วมทำกิจกรรมการฟัง กล่าวว่า เชื่อว่าหลายสิ่งในองค์กร ทั้งการทำงาน ความสัมพันธ์ เริ่มต้น จากการรับฟัง ทั้งฟังตนเอง ฟังเพื่อน ฟังทีมงาน และฟังกันภายในองค์กร ส่งผลให้การทำงานราบรื่น แม้ว่าความสุขจะเริ่มต้นด้วยตัวเอง แต่หากคนในองค์กรสร้างความสดใส ยิ้มแย้ม พูดคุยกันดี คนทำงานมีความสุข หัวหน้าก็ย่อมยิ้มและมีความสุขตามไปด้วย

                    หลักของการรับฟังที่ดี มี 5C ด้วยกัน และส่งผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน ได้แก่

-Connect ก่อให้เกิดการเริ่มต้องเข้าหากัน สร้างความสัมพันธ์ เกิดการเรียนรู้ ทักทายกัน เชื่อมโยง

– Content ก่อให้เกิดเนื้อหา หัวข้อในการสนทนาพูดคุยกัน

– Context ก่อให้เกิดความกล้า กล้าที่จะเริ่มพูดสื่อสาร เปิดใจในเรื่องที่อาจไม่เคยพูดมาก่อน

-Collaberation ก่อให้เกิดความช่วยเหลือ หากต้องการได้รับ เป็นผลเชื่อมโยงมาจาก Context

-Conclude ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เกิดข้อสรุปต่างๆ

                    ทั้งนี้ หลักในการรับฟังนั้นต้องปราศจากอคติ และเป็นการพูดคุย ณ เวลาหนึ่ง ขณะหนึ่ง อยู่กับปัจจุบัน ไม่นำอดีตมาผูกใจเจ็บ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพของการทำงานมากที่สุด

                    “เชื่อว่าทุกคนคุยกันอยู่แล้ว แต่หากเพิ่มเติมจุดเล็กๆ น้อยๆ การสื่อสารก็จะทำให้คนทำงานมีความสุขมากขึ้น ไม่ใช่ปากบอกรับฟัง แต่ก้มหน้าทำงาน เหมือนที่สังคมปัจจุบันที่เป็นกันอยู่ ไม่ได้ใส่ใจรับฟังอย่างแท้จริง สิ่งที่หายไปคือความสัมพันธ์” นายทรงยศ กล่าวว่า

                    ส่วนที่หลายคนมองว่า ยิ่งมากคน ยิ่งมากความ การสื่อสารกันไปจะทำให้ปัญหาภายในองค์กรลุกลามบานปลาย นายทรงยศ กล่าวว่า “คน” และ “พฤติกรรมของคน” ทำให้ทุกหน่วยงาน ที่ทุกองค์กร ล้วนแล้วแต่มีเบื้องหลัง มีปัญหาในการทำงานทั้งสิ้น ใน 8 ชั่วโมงของการทำงานไม่สามารถเลี่ยงได้ ทั้ง นินทาลับหลัง หรือ ทำพฤติกรรม TOXIC ใส่คนรอบข้าง แต่เมื่อใช้โปรแกรมการรับฟังเรื่องเหล่านี้ต้องถูกตัดออกไป และมุ่งหน้าให้เกิดประสิทธิภาพของงานเท่านั้น ดังนั้น โปรแกรมการรับฟังจึงเหมาะกับ กลุ่ม HR และกลุ่ม OD เพื่อให้นำไปปรับใช้ในองค์กรต่อไป

                    “กฎของการรับฟังที่ต้องทำอย่างชัดเจนเข้มข้น คือ คนที่ทำหน้าที่รับฟัง ต้องเป็นเสมือนพื้นที่ปลอดภัย ไม่นำเรื่องราวที่คุยไปส่งต่อ สิ่งที่อยู่ข้างนอกก็ต้องไม่หยิบยกมาพูดถึง ใช้หลักของการอยู่กับปัจจุบันเท่านั้น” นายทรงยศ กล่าว

                    ขณะที่ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการ สสส. กล่าวบรรยาย Wellbeing Getting Started   ตอนหนึ่ง ว่า การสร้างสุขภาวะที่ดีในองค์กร หรือ wellbeing อาจเป็นคำคุ้นเคย ในการสร้างความสุขให้กับตัวเองในแต่ละวัน บางคนแค่รับประทานอาหารอร่อยก็มีความสุขแล้ว แต่ความสุขในการทำงานแตกต่างและมาจากหลายองค์ประกอบ ต้องทั้ง “กายดี” ร่างกายแข็งแรง ทำให้การทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ได้รับค่าตอบแทน สวัสดิการที่เหมาะสม “จิตใจดี” มีความสุขในการทำงาน ทำงานที่ชอบและไม่มีเรื่องห่วงกังวลจากครอบครัว ส่งผลให้ทำงานเต็มประสิทธิภาพ, “ปัญญาดี” มีความก้าวหน้าในการทำงาน มีความสัมพันธ์ในองค์กรดี กับเพื่อนร่วมงาน กับเจ้านาย ไม่ถูกรังแก กลั่นแกล้ง หรือ บูลลี่ และ “สภาพแวดล้อมดี” สถานที่ทำงานแวดล้อม ไม่อึดอัด รู้สึกผ่อนคลาย

                    แต่ทั้งนี้พบว่าคนวัยทำงานส่วนใหญ่ แม้ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม กลับมีพฤติกรรมเสี่ยงและนำไปสู่โรค NCDs โดยมักใช้ข้ออ้างจากความเครียด หรือความสุขที่ประสบความสำเร็จจากการทำงาน ใช้สังสรรค์ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ รับประทานอาหารไขมันสูง ล้วนแต่ทำลายสุขภาพ ทำให้ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ เสียชีวิตก่อนวันอันควรมากถึง 1,000 คนต่อวัน ด้วยโรคมะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ

                    หากดูจำเพาะเจาะจงที่ความเครียดจะพบว่าในเด็กวัยเรียน มีปัญหาความเครียด ถึง 1 ใน 3  ส่วนคนวัยทำงาน เกิดเครียดจากเศรษฐกิจ 30.8% เครียดจากปัญหาสังคม 20.3% และเครียดจากปัญหาครอบครัว 14.5% ส่วนช่วงอายุของคนที่มีภาวะความเครียดพบในกลุ่ม 18-34 ปี และยังพบว่าในกลุ่มคนทำงานมากถึง 75% มีความเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขจากการทำงาน และไม่รู้จักวิธีการจัดการกับความเครียด

                    “คนชอบพูดว่าอย่าเครียด แต่ไม่มีวิธีแก้ และรับฟังแบบไม่ใส่ใจ ไม่หาสาเหตุของความเครียด หรือ ทำความเข้าใจกับความรู้สึกของตัวเอง ถ้าความเครียดมากเกินไปและไม่ได้รับการแก้ไข อาจทำให้ป่วยซึมเศร้า ส่งผลกระทบต่อการทำงาน ชีวิตประจำวัน และสุขภาพได้ ขณะเดียวกันต้องเข้าใจว่า ในความเครียด ไม่ได้มีแค่มุมร้าย มุมดีก็มี หากเครียดนิดหน่อย ก็เป็นแรงผลักดันกระตุ้นให้เกิดความท้าทาย เกิดการพัฒนา” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า

                    ดร.นพ.ไพโรจน์ ยังกล่าวด้วยว่า หากองค์กรมีการปรับพัฒนา สร้างสุขภาวะที่ดีให้เกิดขึ้นในที่ทำงาน ก็จะช่วยรักษาพนักงานให้อยู่ในองค์กร คงประสิทธิภาพการทำงานไว้ได้ดี เพราะคนไม่เจ็บป่วย ก็ไม่สิ้นเปลืองสวัสดิการ ทำงานเต็มประสิทธิภาพ ส่วนแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการออกนอกระบบ ทำงานอิสระก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะบางกลุ่มอาชีพเฉพาะมีความจำเป็น ฉะนั้นต้องหาทางจูงใจเปลี่ยนแนวคิดให้คนรุ่นใหม่ ยังคงเลือกทำงานในกลุ่มอาชีพหรือสาขาที่มีความจำเป็นกับสังคมต่อไป

                    แนวคิดสร้างสุข ขจัดทุกข์ ดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย หากเป็นแนวปฏิบัติเฉพาะบุคคล แต่หากเป็นแนวปฏิบัติของส่วนรวม และองค์กร คงเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะทุกคนต้องร่วมกันสร้างสังคม สภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน อย่างน้อยก็ลดความเครียด ความเจ็บป่วยทางใจที่สะท้อนออกมาทางกาย เพื่อให้งานคงประสิทธิภาพ และจะดีที่สุด หากพื้นที่ทำงานเป็นพื้นที่ปลอดภัยเพื่อพูดคุย แลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิด ประสบการณ์ ในรูปแบบของ “องค์กรสุขภาวะ” Happy Workplace

Shares:
QR Code :
QR Code