รู้ Lifestyle ไกล Stroke
เรื่องโดย เทียนทิพย์ เดียวกี่ Team Content www.thaihealth.or.th
ภาพโดย ปารมี ขันธ์แก้ว Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
“วี้ หว่อ วี้ หว่อ วี้หว่อ”
เสียงสัญญาณไซเรน จากรถฉุกเฉิน ดังใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ รถทุกคันบนท้องถนน พยายามหลีกซ้าย หลีกขวา เพื่อให้ทางกับรถฉุกเฉินไปก่อน และต่างก็เอาใจช่วยให้ผู้ป่วยในรถคันดังกล่าว รอด ปลอดภัย
นอกจากอุบัติเหตุ ก็คงหนีไม่พ้นการเจ็บป่วยฉับพลัน ที่ต้องรีบให้การรักษาและไปให้ถึงมือหมอโดยเร็วที่สุด หลายคนนึกถึงการเจ็บป่วยด้วยโรค Stroke หรือ หลอดเลือดสมอง ที่มีการแนะนำว่าหากเป็นแล้วต้องรีบไปโรงพยาบาลและให้การรักษาภายใน 3 ชม.
วันที่ 29 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันอัมพาตโลก มีขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักรู้ถึงสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต และให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น เพราะโรคหลอดเลือดสมองสามารถป้องกันได้
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค กองโรคไม่ติดต่อ ปี 2563 ระบุว่า องค์การอัมพาตโลก (World Stroke Organization [WSO]) ได้รายงานว่าโรคหลอดเลือดสมอง เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต ทั่วโลกมีจำนวนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจำนวน 80 ล้านคน และพิการจากโรคหลอดเลือดสมอง จำนวน 50 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ62.5คงจะดีไม่น้อยหากเราเข้าใจและสามารถปฏิบัติตามเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและลดความเสี่ยงในการเกิดโรค อย่างโรคหลอดเลือดสมองได้
รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สสส. อธิบายว่า Stroke คือ โรคหลอดเลือดสมอง อาจจะเป็นหลอดเลือดสมองอุดตัน หลอดเลือดสมองแตก ทำให้มีอาการสมองขาดเลือด แล้วก็มีอาการทางสมอง ทางระบบประสาท เช่น ปวดหัวเฉียบพลัน แขนขาชาครึ่งซีก หรือแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก ปากเบี้ยว บางคนก็เดินเซ เวียนหัวเฉียบพลัน อาจจะมีคลื่นไส้อาเจียน ตามองเห็นไม่ชัด ตามัว ตามองเห็นครึ่งซีก
ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองเกิดได้จากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่มักเกิดจากพฤติกรรม เช่น กินเค็มเกินไป กินอาหารไขมันสูง ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้นำไปสู่โรคหลอดเลือดสมองโรค NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่น ๆ ได้ ซึ่ง สสส.และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องได้รณรงค์อย่างต่อเนื่องในการลดการบริโภค หวาน มัน เค็ม ลดการสูบบุหรี่ ลดการดื่มสุรา เพิ่มการออกกำลังกาย และเพิ่มการกินผักผลไม้ เพื่อป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทำให้ประชาชนมีสุขภาพดี ลดค่าใช้จ่ายในภาครัฐ
สัญญาณเตือนของโรคนี้ เมื่อมีอาการควรจะรีบพบแพทย์ ได้แก่คำว่า F A S T
F Face ใบหน้าชาครึ่งซีก ปากเบี้ยว หนังตาตก
A Arm แขนขาไม่มีแรงครึ่งซีก
S Speech พูดไม่ชัด ลิ้นคับปาก
T Time รีบพบแพทย์ภายใน 3 ชม.
รศ.นพ.สุรศักดิ์ ยังทิ้งท้ายอีกว่า โรคหลอดเลือดสมองนอกจากเกิดในผู้สูงอายุแล้วอาจจะเกิดในผู้ป่วยที่มีอายุไม่มาก แต่อาจจะมีโรคประจำตัวได้ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดัน รวมทั้งผู้ที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่หรือดื่มสุราเป็นประจำ ก็อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองก่อนวัยอันควรได้ ดังนั้น โรคนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในผู้ป่วยสูงอายุเสมอไป
“Stroke รู้เร็ว รักษาทัน ป้องกันได้” จะเห็นได้ว่าโรคหลอดเลือดสมองสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงที่จะเกิดได้ เพียงแค่เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่ได้กล่าวไปข้างต้น ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองแล้ว ยังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้แก่ร่างกาย เพื่อที่จะต่อสู้กับโควิด-19 อีกด้วย