รู้จัก 2 โมเดล ‘เกษตรอินทรีย์ครบวงจร’
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
แฟ้มภาพ
หากเอ่ยถึงเมืองสงขลา และฉะเชิงเทรา หลายคนนึกไปไม่ถึงว่าจะได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่ต้นแบบด้านการส่งเสริมด้านอาหารและ รักสุขภาพ
เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เลือกให้ 2 พื้นที่ดังกล่าวเป็นต้นแบบของเกษตรอินทรีย์และอาหารปลอดภัย
โดยเลือกจากพื้นที่ยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยว ชูอาหารปลอดภัยตลอดห่วงโซ่ ระบบกระจายผลผลิตถึงมือผู้บริโภค สร้างความมั่นคง ส่งเสริมระบบนิเวศอาหารยั่งยืน เป็นต้นแบบที่มีการบริหารจัดการตัวเองอย่างมี ประสิทธิภาพ เชื่อมโยงกับการพัฒนาเมืองสีเขียว
สนามชัยเขต เกษตรอินทรีย์ทั้งระบบ
สำหรับกลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่ที่มีความเข้มแข็งและมีความมั่นคงทางอาหารในระบบเกษตร อินทรีย์
มีจุดเด่นด้านการส่งเสริมการผลิต และระบบการบริหารจัดการผลผลิต ผัก ข้าว อินทรีย์ ครบวงจรตลอดทั้งห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่การผลิต การบริการจัดการผลผลิต และการ จัดการด้านการตลาด เป็นต้นแบบของพื้นที่ในโซนภาคตะวันออก
พลูเพ็ชร สีเหลืองอ่อน ผู้ประสานงานและกรรมการรับรองฟาร์มฝ่ายส่งเสริมของกลุ่มเกษตรอินทรีย์ อ.สนามชัยเขต กล่าวว่า กลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขตดำเนินงานภายใต้เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกจังหวัดฉะเชิงเทรา มีการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้ผลิตผ่านระบบสมาชิก มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้สมาชิกกลุ่มปรับระบบการผลิตทางการเกษตรเข้าสู่ระบบการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืน
โดยให้ความสำคัญกับการจัดตั้ง ระบบควบคุมการผลิตภายในกลุ่ม และ การขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ สากล ทั้งนี้ เครือข่ายมีแนวทางพัฒนา ระบบการผลิตโดยจัดกระบวนการเรียนรู้ ในรูปแบบโรงเรียนเกษตรกรอินทรีย์ รวมทั้งวางแผนและจัดการตลาดผลผลิต ด้วยการประกันราคารับซื้อ การกระจาย สินค้าไปยังชุมชนโรงเรียน โรงพยาบาล ร้านอาหารสุขภาพ ตลาดนัดสีเขียว และเลมอนฟาร์ม
"เครือข่ายของเราไม่ได้มุ่งเน้นการผลิตหรือขายอย่างเดียวเท่านั้น เพราะผู้ผลิตกับผู้บริโภคถือเป็นคนคนเดียวกันที่ ควรเข้าถึงอาหารปลอดภัยที่เพียงพออย่างเกื้อกูลกัน จึงมีการกำหนดราคาผัก ผลไม้ ข้าวในราคาที่เป็นธรรม โดยราคาจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด แต่คำนวณตามต้นทุนการผลิตที่เป็นจริง ซึ่งไม่ได้แพงกว่าราคาผลผลิตเกษตรที่ใช้สารเคมี พร้อมกับทำการตลาด ที่สร้างความสัมพันธ์กับผู้บริโภคเหมือนเป็นพี่น้อง" พลูเพ็ชร กล่าว
เรียนรูเกษตรคนเมือง ที่บานภูลิตา
บ้านภูลิตา จ.สงขลา นอกจากจะให้บริการอาหารเพื่อสุขภาพ ภายใต้แนวคิด การผลิตเกษตรต้นน้ำปลอดสารพิษ เกษตรอินทรีย์ เกษตรสุขภาพขึ้นเองบนพื้นที่จำกัด นำวัตถุดิบทางการเกษตรมาปรุงอาหารตามหลักโภชนาการและบริการสู่ปลายน้ำ
ปัจจุบันยังได้เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรคนเมืองบ้านภูลิตา ใช้แนวคิด "พื้นที่น้อยนิด ผลผลิตทั้งปี" กระจายพื้นที่ใช้สอยและนวัตกรรมเพื่อสร้างปัจจัยการพึ่งพาตนเอง 5 ด้าน ได้แก่ ด้านอาหาร พลังงาน ปัจจัยการผลิต ชุดความรู้ และการตลาด แบบเครือข่าย ดิจิทัล
โดยมีฐานเรียนรู้ที่สอดแทรกกิจกรรมมากมาย เริ่มจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เรียนรู้เกษตรวิถีคนเมือง เพื่อการดำเนินชีวิตภายใต้การบริโภคผักปลอดสารพิษ ผลิตเกษตร ต้นน้ำ ส่งเสริมให้เด็กเยาวชน ประชาชน ทั่วๆ ไปใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์โดยหันมาปลูกผักทานเองในครัวเรือน
สนธิกาญจน์ วิโสจสงคราม ผู้อำนวยการศูนย์กสิกรรมไทยบ้านภูลิตา และประธานเครือข่ายอาหารสุขภาพอำเภอเมืองสงขลา กล่าวว่า ศูนย์เรียนรู้เกษตรคนเมืองบ้านภูลิตา ต่อยอดแนวคิดการจัดการและนวัตกรรมบนพื้นที่น้อยนิดผลผลิตทั้งปี ส่งต่อสู่กสิกรรมไทยบ้านภูลิตา เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวชุมชนและการพัฒนาเสริมศักยภาพเยาวชน ภายใต้การปลูกฝังเด็กรุ่นใหม่ให้หันมามองวิถีเกษตรพอเพียง การให้ การแบ่งปัน และการเดินตามรอยเท้าพ่อและศาสตร์แห่งพระราชา
"กสิกรรมไทยบ้านภูลิตา ตั้งอยู่ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา บนพื้นที่ 100 กว่าไร่ ที่พลิกฟื้นสวนยางพาราอันแห้งแล้งให้เป็นป่ายางที่อุดมไปด้วยแหล่งอาหาร เน้นเกษตรปลอดสารพิษต้นน้ำของอาหารสุขภาพ โดยปลูกพืชในลักษณะ การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ได้แก่ ปลูกไม้กิน ไม้ใช้สอย และไม้เศรษฐกิจ ให้เกิดความหลากหลายของสังคมพืชและความหลากหลายทางชีวภาพ ประโยชน์ที่ 4 ก็จะสร้างความสมบูรณ์ในระบบนิเวศที่พึ่งพากันในพื้นที่กสิกรรม"
ผู้อำนวยการศูนย์กสิกรรมไทยบ้านภูลิตา กล่าวต่อว่า กสิกรรมไทย บ้านภูลิตาเป็นการจัดการตามแนวคิดการสร้างสถานการณ์สมมติหากเกิดสงครามโลก หรือวิกฤตทางด้านอาหาร พลังงาน จะพึ่งตนเองอย่างยั่งยืนได้ อย่างไร? โดยพึ่งปัจจัยภายนอกน้อยที่สุด
"จึงทำให้การออกแบบพื้นที่ตอบโจทย์การพึ่งพาตนเองในปัจจัยด้านอาหารโดยมี กสิกรรม ปศุสัตว์ ประมง ปัจจัยด้านพลังงานโดยมีการนำพลังงานทดแทนมาใช้ในการผลิตปัจจัยอาหารเพื่อลดต้นทุนไฟฟ้า แก๊ส โดยใช้ โซลาร์เซลล์ เตาชีวมวล ก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์
ปัจจัยด้านผลิตสามารถลดต้นทุน โดยนำมูลสัตว์มาผลิตปุ๋ย การผลิตน้ำหมัก จุลินทรีย์ เพาะพันธุ์กล้าใช้เอง จนต่อยอด การสร้างชุดความรู้จากปัจจัยพึ่งพาตนเองทั้ง 3 ปัจจัยหลัก จึงเอื้อต่อการทำการตลาดแบบการดึงผู้คนเข้าเรียนรู้ เข้ามาท่องเที่ยว ในเชิงท่องเที่ยวชุมชน การเปิดตลาดหน้าร้าน หน้าสวน การแปรรูปผลผลิต การเข้าค่าย โฮมสเตย์ เป็นการสร้างอาชีพในชุมชน ฟื้นฟูระบบ นิเวศชุมชน และเป็นการต่อยอดสู่เครือข่ายชุมชน และสืบสานต่อเด็กเยาวชนคนรุ่นต่อๆ ไป และสู่ความยั่งยืน" สนธิกาญจน์ ปิดท้ายด้วยภาพฝัน