รู้จักแอพฯ ‘Saraphi Health’ ระบบข้อมูลสุขภาพแห่งอำเภอสร้างสุข
กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปเสียแล้วกับทุกครั้งที่ต้องไปรับบริการยังสถานพยาบาลเมื่อผู้ป่วยคนใดจะมาขอรับการบริการเป็นครั้งแรกจะต้องกรอกประวัติข้อมูลอะไร ต่อมิอะไรมากมาย ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เจ็บปวดมาก ในความรู้สึกของผู้ป่วย เนื่องจากว่า ในช่วงวินาทีที่ผู้ป่วยต้องพาตัวเองมาขอรับการบริการในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บนั้น มันเป็นช่วงที่ “กำลังเข้าหน้าสิ่วหน้าขวาน”แบบว่า… “โอย…เจ็บปวดจะแย่อยู่แล้ว ทำไมต้องมากรอกอะไรให้มันวุ่นวาย”
ซึ่งหากจะขอต่อรองได้ คงจะขอร้องกันแบบนิ่มๆ ว่า “ขอให้แก้ไขความเจ็บไข้ได้ป่วยเสียก่อน แล้วค่อยมา กรอกข้อความกันไม่ได้เหรอ”
เลยทำให้คิดไปว่า “จะดีแค่ไหนเมื่อเข้าไปยังสถานพยาบาลใด เพียงแค่ยื่นบัตรประจำตัวประชาชน เจ้าหน้าที่กรอกรหัสก็สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลสุขภาพประจำตัวของผู้มารับบริการได้ทันทีว่าอยู่ในสิทธิการรักษาพยาบาลใด มีโรคประจำตัวหรือไม่ แพ้ยาใด ฯลฯ”
ถ้ามีความต้องการเช่นนี้ “ปานมณี” มีเรื่องที่น่ายินดีจะบอกให้ทราบว่า…ขณะนี้มีการนำร่องแอพพลิเคชั่น “saraphihealth” ในอ.สารภี จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่สร้างขึ้นเพื่อจัดเก็บข้อมูลสุขภาวะชุมชนของ ทุกคนในอำเภอ ที่สำคัญยังมีการนำเอา google map มาพัฒนา ทำให้สามารถระบุตำแหน่งพื้นที่หมู่บ้าน และชุมชนที่ดูแลได้ รวมทั้งสามารถเห็นสภาพพื้นที่ อ.สารภีผ่าน “สตรีทวิว แอพพลิเคชั่น… แม้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะยังไม่มีฐานข้อมูลสุขภาพอย่างเป็นระบบชัดเจน แต่เป็นเรื่องที่น่ายินดี
เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร.เอกรัฐ บุญเชียง หัวหน้าภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้ออกแบบโปรแกรม เล่าว่า การนำ saraphihealth มาใช้เก็บข้อมูลสุขภาวะชุมชนจะช่วยให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขสามารถวิเคราะห์และวางแผนการจัดการสุขภาพของคนในชุมชนได้อย่างถูกต้อง ช่วยลดภาระโรคจากการเจ็บป่วยเรื้อรัง มีการฟื้นฟูผู้ป่วยโรคเรื้อรังอย่างเป็นระบบ สำหรับการจัดเก็บข้อมูลทางโครงการได้จัดอบรมให้แก่เยาวชนและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในพื้นที่ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดการเก็บข้อมูลดังกล่าว ซึ่งสามารถเก็บข้อมูล ได้ตามเป้าแล้วคือ 60% หรือประมาณ 20,000 กว่าครัวเรือน หรือ 40,000 กว่าคน
การกรอกข้อมูลลงในโปรแกรมจะช่วยลดความซ้ำซ้อน ความผิดพลาด ลดต้นทุนการบันทึกข้อมูลลง แบบสอบถาม เพราะเป็นการกรอกข้อมูลลงในโปรแกรมเลย ทำให้มีการประมวลผลอย่างรวดเร็ว และแม่นยำ สามารถเรียกใช้ข้อมูลได้ทันที โดยข้อมูลที่กรอกลงโปรแกรมจะเป็นคำถามเกี่ยวกับสุขภาพด้านต่างๆ เมื่อเวลาจะเรียกใช้ข้อมูลก็สามารถดูตามรายโรคได้ทันที ทั้งยังสามารถเรียกข้อมูลได้ในแบบทั้งอำเภอ เป็นรายตำบล และเป็นรายหมู่บ้านได้ มีกราฟแสดงสถิติอย่างชัดเจนอีกด้วย
นพ.จรัส สิงห์แก้ว ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสารภี จ.เชียงใหม่ ผู้ที่นำแอพพลิเคชั่นดังกล่าวมาใช้ประโยชน์มองว่า การสร้างข้อมูลสุขภาวะชุมชนด้วยโปรแกรมดังกล่าว จะนำไปสู่การนำปัญหามาเป็นตัวตั้งและจัดบริการสุขภาพให้ตรงกับสภาพปัญหาในชุมชนเพราะบริบทของแต่ละชุมชนมีความแตกต่างกันออกไป อีกทั้งยังทำให้มีข้อมูลที่ครอบคลุม เช่น คนในครอบครัวมีความเสี่ยงเจ็บป่วยด้วยโรคทางกรรมพันธุ์ หรือไม่ ความเสี่ยงที่จะเกิดจากการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า หรือสภาพสิ่งแวดล้อม ที่พักอาศัย ซึ่งเป็นเรื่องของชีวอนามัยก็จะถูกรวบรวมไว้และนำไปสู่การประสานงานกับทุกภาคส่วน เพื่อจัดทั้งบริการสุขภาพ การรณรงค์ ป้องกันปัญหาที่ตรงจุด ซึ่งการมีข้อมูลที่เที่ยงตรงทำให้เกิดการทำงานได้ทั้งเชิงรับ และเชิงรุก สามารถวางแผนจัดลำดับความสำคัญในการดูแลผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึงเรียกได้ว่าเป็นการทำงานด้านสุขภาพที่มีการนำ เทคโนโลยีสารสนเทศมาเชื่อมโยงกับระบบบริการสุขภาพตรงกับ แนวคิดของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ(สสส.)ในการจัดทำโครงการ “อำเภอสร้างสุข”
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีมาเชื่อมโยงกับระบบบริการสุขภาพ จะช่วยจัดการระบบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ นำไปสู่การลดภาระโรค โดยที่ชุมชนสามารถเรียนรู้และวางแผนร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด อย่าง อ.สารภีก็เป็นต้นแบบ ซึ่งในอนาคตจะดำเนินการในอีก 2 พื้นที่คือ อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ และ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์
ส่วนการจะนำมาดำเนินการใช้ทั่วประเทศ ดร.สุปรีดา บอกว่า สธ.และ สปสช.จะต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ นำเทคโนโลยีมาช่วย และต้องทำในระดับนโยบาย อาจนำไปขยายได้หลายแบบ เช่น การขยายไปในระดับพื้นที่ 12 เขตบริการ เพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เป็นต้น
หากสามารถทำได้จริง คงไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะมีระบบ ข้อมูลสุขภาพแบบออนไลน์ สามารถดึงข้อมูลมาได้ทันที ช่วยลดระยะเวลาการกรอกประวัติส่วนตัว ช่วยให้แพทย์ วินิจฉัยโรคและอาการได้ดียิ่งขึ้น เท่านี้การจะทำอำเภอสร้างสุข ทั่วประเทศคงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า