‘รุ่นใหญ่’ กระทุ่มล้ม โชว์ไลน์แดนซ์
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
แฟ้มภาพ
ประเทศญี่ปุ่น ได้ชื่อว่าเป็นประเทศ ระดับสุดยอดที่มีผู้สูงอายุอยู่เป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มว่าจะมีประมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ฟังดูเหมือนน่าภาคภูมิใจว่าประชากรชาวญี่ปุ่นมีสุขพลานามัย สมบูรณ์ประชากรมีอายุยืนยาว แต่ในเวลา เดียวกันภาครัฐก็ต้องเป็นห่วงและคอยดูแลเอาใจใส่ต่อบุคคลเหล่านี้ให้อยู่อย่างมีความสุขมากยิ่งขึ้น
ประเทศไทยของเรา อีก 14 ปีข้างหน้า คือในราวปี พ.ศ.2574 เราก็จะได้ ขึ้นอันดับเป็นประเทศระดับสุดยอดที่มี ผู้สูงอายุเป็นจำนวนมากอีกประเทศหนึ่ง ประมาณว่าในปีนั้นประชากรผู้สูงอายุของไทยจะเพิ่มเป็น 19 ล้านคน เพราะฉะนั้นตอนนี้เราต้องเตรียมการที่จะหาวิธีที่จะให้ผู้สูงอายุเหล่านี้อยู่อย่างมีความสุขมากที่สุด หากมองถึงการจะสร้างความสุข ให้กับผู้สูงอายุ เราต้องมองถึงปัญหา และหาทางที่จะแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุให้น้อยที่สุด
ปัญหาของผู้สูงอายุมีหลายด้าน อาทิ ด้านสุขภาพทางกายที่เป็นไปตามวัย ของผู้สูงอายุ ปัญหาด้านจิตใจโดยเฉพาะโรคซึมเศร้าก็เพิ่มมากขึ้นในผู้สูงอายุ เพราะฉะนั้นหลายๆ ฝ่ายจึงต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาเพื่อให้ผู้สูงอายุในประเทศไทยมีคุณภาพ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มี การดำเนินโครงการส่งเสริมการ ออกกำลังกายและการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในระดับพื้นที่ขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ โดยมุ่งเน้นการออกกำลังกายของผู้สูงอายุ ที่เหมาะสมตามบริบทของพื้นที่ และ จัดให้มีการประกวดรูปแบบการออกกำลังกาย ภายใต้ธีม "สูงวัย แจ่มใส แข็งแรง" ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. และผลการคัดเลือก มีทีมเข้ารอบ ชิงชนะเลิศ 8 ทีม พบว่า ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในครั้งนี้เป็น ทีม สว.กระทุ่มล้มของเทศบาลเมืองกระทุ่มล้ม จังหวัดนครปฐม
ผศ.ดร.สุวิณี วิวัฒน์วานิช คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ทรงวุฒิด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ผู้สูงอายุ จาก สสส. กล่าวว่า สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. เห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิต ผู้สูงอายุทุกมิติ และเชื่อมประสานหน่วยงาน ต่างๆ เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวให้ประสบความสำเร็จ โดยต้องได้รับการดูแล และสร้างเสริมสุขภาพอย่างเหมาะสม โครงการส่งเสริมการออกกำลังกายและการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในระดับพื้นที่ เป็นการจุดประกายให้ผู้สูงอายุตื่นตัวกับ การออกกำลังกายและการมีกิจกรรมทางกาย เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภายกายและใจที่ดี รวมไปถึงมิติของการอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมอย่างมีคุณค่า เพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อนสังคมต่อไป
รศ.พ.ต.ดร.รุ่งชัย ชวนไชยะกูล วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล รองผู้จัดการโครงการ ส่งเสริมการออกกำลังกายและการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในระดับพื้นที่ อธิบายว่า โครงการนี้สร้างความแข็งแรงด้านการ ออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุในชุมชนซึ่งนับเป็นฐานที่สำคัญ โดยร่วมกับพื้นที่นำร่อง 8 แห่ง คือ 1.เทศบาลกระทุ่มล้ม จังหวัดนครปฐม 2.องค์การบริหารส่วนตำบลยายชา จังหวัดนครปฐม 3.เทศบาลตำบลเสาธงหิน จังหวัดนนทบุรี 4.เทศบาลนนทบุรี จังหวัด นนทบุรี 5.องค์การบริหารส่วนตำบลบึงน้ำรักษ์จังหวัดฉะเชิงเทรา 6.องค์การบริหารส่วนตำบลหมอนทอง จังหวัดฉะเชิงเทรา 7.องค์การบริหารส่วนตำบลหนองเหียง จังหวัดชลบุรี 8.เทศบาลหนองปรือ จังหวัดชลบุรี
รศ.พ.ต.ดร.รุ่งชัย เล่าต่อว่า ทีมงานได้ลงไปให้ความรู้ในชุมชนเรื่องการออกกำลังกายที่ถูกต้องสำหรับผู้สูงอายุ และข้อควรระวังในการออกกำลังกายสำหรับ ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว หลังจากนั้นชมรมผู้สูงอายุในพื้นที่ก็นำข้อมูลไปคิดท่าออกกำลังกายที่เหมาะสมตามสุขภาพและบริบทของชุมชน มีการติดตามและให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมในเรื่องท่าออกกำลังกาย เพื่อชิงชัยที่จะเป็นหนึ่งในการประกวด
นางณิชกมล พูลเจริญ หรือ อาจารย์อ้อย อายุ 59 ปี คณะกรรมการชมรมผู้สูงอายุเทศบาลเมืองกระทุ่มล้มและประธานผู้ฝึกสอน เล่าให้ฟังว่า ได้ประยุกต์การรำไทยและรำวง ประกอบจังหวะแบบไลน์แดนซ์ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ออกกำลังกาย โดยการรำไทยและรำวง นับเป็นกิจกรรมทางกายที่ผู้สูงอายุทำได้ง่าย และปลอดภัยต่อสุขภาพ โดยชุมชนได้ส่งเสริมการออกกำลังกายด้วยการ รำไทยประยุกต์เป็นประจำ อาทิตย์ละ 6 วัน เพื่อส่งเสริมและรักษาศิลปวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่ ซึ่งใช้เวลาในการออกกำลังกายแต่ละครั้งไม่เกิน 30 นาที มีทั้งการอบอุ่นร่างกาย และการยืดเหยียดประกอบในการ ออกกำลังกายด้วย ทั้งนี้สุขภาพของผู้สูงอายุในชุมชนดีขึ้นมากและมีความสุข ไร้ซึ่งโรคซึมเศร้า เพราะนอกจากมีผู้สูงอายุที่มาออกกำลังกายแล้ว ยังมีเด็ก เยาวชน และวัยรุ่น มาร่วมออกกำลังกายด้วย ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนในชุมชนมากขึ้นด้วย
เห็นได้ว่าการพัฒนาคุณภาพชีวิต ของผู้สูงอายุให้ยั่งยืนนั้นควรตั้งต้นจาก การมีส่วนร่วมในชุมชนและผู้สูงอายุ เพื่อ ให้มีผู้สูงอายุมีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง ขยายสู่การพัฒนาในมิติอื่นๆ และขยายความแข็งแรงของฐานในชุมชนสู่พื้นที่อื่นๆ ต่อไป