รุดหน้าทศวรรษต่อไป ตำบลพันธุ์ใหม่
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
สสส. และภาคีเครือข่าย ร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ มาอย่างยาวนานกว่า 10 ปี ทำให้ชุมชนมีความอยู่ดีมีสุข เป็นแนวทางบริหารจัดการหรือต้นแบบให้ชุมชนอื่นๆ ได้เรียนรู้และปฏิบัติตาม
คณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. กำหนดเป็นนโยบายให้ สสส.ทำงานร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งทาง สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) ได้เข้าขับเคลื่อน เริ่มต้นในปี 2552 โดยประกาศให้ทุน อปท. 400 แห่ง ให้เขียนโครงการเสนอขอรับทุนจาก สสส. วงเงินไม่เกิน 100,000 บาท
ซึ่งถึงวันนี้ผ่านมาแล้ว 1 ทศวรรษ โดยได้เกิดเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จำนวน 3,000 แห่งทั่วประเทศ ขับเคลื่อน นโยบายสาธารณะ 7 ประเด็น ประกอบด้วย…1.การบริหารจัดการท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม 2. การจัดสวัสดิการสังคมโดยชุมชน, 3. เกษตรกรรมยั่งยืน 4. การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 5. การเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน 6. การดูแลสุขภาพชุมชนโดยชุมชน และ 7. การจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนท้องถิ่นทั้งนี้ "1 ทศวรรษร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่"…
ในวันนี้มี 'สัมฤทธิผล" ต่าง ๆ ที่เป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโส สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) แจกแจงไว้ในการแถลงข่าว "ทศวรรษร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง-อยู่ดีมีสุข" ในงานเวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น
วาระ : ทศวรรษร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ (A Decade of Togetherness in Co-Creating Healthy Communities) ที่จัดระหว่างวันที่ 27-29 ตุลาคม 2563 ว่า…นโยบายสาธารณะดังกล่าว ช่วยยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้นอย่างเป็นระบบ และก่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมและการสร้างสรรค์แนวทางการบริหาร การจัดการ ในรูปแบบใหม่ ที่ทำให้ชุมชนมีความอยู่ดีมีสุข และเป็นแนวทางบริหารจัดการหรือต้นแบบให้ชุมชนอื่นได้เรียนรู้และปฏิบัติตาม
"ทาง สสส. สนับสนุนโครงการพัฒนาตัวชี้วัดความอยู่ดีมีสุขในระดับ อปท. ซึ่งมีเป้าหมายที่จะประเมินการบริหารงานของ อปท. เพื่อให้เกิดความอยู่ดีมีสุขในท้องถิ่น 8 ด้าน โดยพบว่า…ดัชนีความอยู่ดีมีสุขที่ได้คะแนนสูงสุดอันดับ 1 คือด้านความปลอดภัยและป้องกันภัยพิบัติ รองลงมาเป็นการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ-การจัดการสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจชุมชน ด้านสวัสดิการชุมชน ด้านการศึกษาและเรียนรู้ ด้านเกษตรยั่งยืน และด้านการมีส่วนร่วม"
ก่อนจะมาถึงตัวชี้วัด ทาง สสส.สนับสนุนให้ท้องถิ่นทำข้อมูลชุมชนในเบื้องต้น ได้ชวนตำบล 2,000 แห่งมาทำข้อมูล โดยมีรายละเอียดที่มากกว่าข้อมูลภาครัฐ จปฐ. (จำเป็นขั้นพื้นฐาน) ที่ดำเนินการโดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่สำรวจทุก 5 ปี เรื่องที่ดินทำกิน จำนวนครัวเรือน ขณะที่ข้อมูลที่จัดทำโดยชุมชน ยกตัวอย่างเช่น…ข้อมูลที่จะทำให้รู้ว่าชุมชนมีผู้สูงอายุที่ต้องเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยกี่ครอบครัว มีผู้นำทางธรรมชาติหรือปราชญ์ท้องถิ่นด้านใดบ้าง ซึ่งทำให้ชุมชนรู้จักตัวเอง นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้ทันที โดย อปท.ก็สามารถวางแผนใช้งบประมาณได้ตรงกับความต้องการ และแก้ปัญหาของชุมชนได้
นอกจากนี้ ชุมชนท้องถิ่นจะรู้ว่าในตำบลของตนมีจุดแข็ง-จุดอ่อนด้านใดบ้าง โดยมีการเปรียบเทียบระดับตำบลด้วยกัน และนอกจากหน่วยงาน อบต. อำเภอ จะได้ใช้ข้อมูลตรงนี้แล้ว รพ.สต. ก็ได้เข้ามาใช้ข้อมูลที่สำรวจด้วย
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทาง วินิตา ไชยบัน ผู้อำนวยการกองสวัสดิการและสังคม อบต.โนนยาง อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร ระบุว่า…เมื่อชุมชนได้ทำข้อมูลเอง ก็ได้มีการจัดทำออกมาเป็นกราฟที่เข้าใจข้อมูลได้ง่าย ซึ่งพบว่าในชุมชนยังมีส่วนด้อยคือเรื่องภัยพิบัติ เพราะสภาพชุมชนไม่ได้เป็นพื้นที่เสี่ยง แต่จากข้อมูลก็ทำให้ได้เห็นว่าชุมชนมีสภาพความเสี่ยงจากความปลอดภัยทางถนน เพราะมีเส้นทางสายหลักผ่านชุมชน 15 กิโลเมตร ซึ่งชาวบ้านก็ได้ร่วมกันหาจุดเสี่ยง ขีดสีตีเส้น ทำป้าย เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ
ทั้งนี้…"การเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นอีกครั้ง เรามองว่าตำบลที่ทำข้อมูลจะได้เปรียบ ทำให้เรารู้ว่าเราต้องการผู้นำแบบไหนที่เหมาะกับพื้นที่ชุมชน เรามีข้อมูลทะเบียนราษฎรที่อยู่อาศัยในพื้นที่จริง เราพบว่ามีประชากรที่ไม่ได้อยู่ในชุมชนถึง 30%" …นี่เป็นการระบุของ มนสิชา ไชยทน ปลัดเทศบาลตำบลสถาน อ.เชียงของ จ.เชียงราย
ขณะที่ รศ.ดร.พงษ์เทพ สันติกุล คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า…ได้พัฒนาเครื่องมือวัดความเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่น จากความร่วมมือของ สสส. กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมการพัฒนาชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เพื่อใช้กำหนดนโยบายที่เหมาะสม หรือค้นหาจุดที่ไม่เข้มแข็งในการพัฒนาที่อาจจะมีการละเลย โดยตัวชี้วัดความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ด้านหลัก ๆ ได้แก่
1. มีองค์ประกอบพื้นฐานที่เข้มแข็ง 2. มีกระบวนการหรือวิธีการพัฒนาที่ยึด 'ศาสตร์พระราชา เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ระเบิดจากข้างใน และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" เป็นแนวทางหลักในการพัฒนา 3. มีผลลัพธ์การพัฒนาที่เข้มแข็งซึ่งผลการวิเคราะห์พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในระดับเข้มแข็งมาก คือชุมชนสามารถจัดการตนเองได้ เป็นแหล่งเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงได้ และพัฒนาต่อให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นได้
สลับกลับมาที่ ดวงพร ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโส สสส. รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) ที่ระบุไว้ด้วยว่า…การวัดผลความสำเร็จ ชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งพบว่า…ค่าเฉลี่ยการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศครึ่งหนึ่ง ซึ่งการรณรงค์ลดการดื่มในชุมชนจะผูกกับเรื่องอุบัติเหตุ เมื่อปริมาณการดื่มลดลงปริมาณอุบัติเหตุก็ลดลง ซึ่งตำบลที่ได้รับทุน 100,000 บาทจาก สสส. ต้องลดปริมาณการดื่มและการสูบบุหรี่ลง 10% นับจากวันที่ได้รับทุน
ทั้งนี้ สำหรับในทศวรรษต่อไปจะมุ่งขยายหาเพื่อนร่วมอุดมการณ์ "ตำบลสายพันธุ์ใหม่" ให้กระจายตัวเข้าสู่ระบบปกติ…เพื่อจะเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนสร้างสุขภาพ สร้างสุขภาพของประเทศได้อย่างเข้มแข็งต่อไป