รุกคืบเชิงนโยบาย“คนสุรินทร์ ไม่กินสุรา”
ปรบมือร่วมยินดีกับคนสุรินทร์ ได้พ่อเมืองใหม่ คนดี ขานรับนโยบายต้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมลงนามในวันที่ 28 ต.ค.ที่จะถึงนี้ หนุนทุกอำเภอ ทุกหมู่บ้าน ประชาสัมพันธ์ ติดป้ายประกาศรณรงค์งานช้างสุรินทร์ปลอดเหล้า
นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์คนใหม่ ประกาศนโยบายต้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นนโยบายหลักของ จ.สุรินทร์ ในงานประชุมส่วนราชการประจำเดือน ซึ่งจะลงนาม ในประกาศ เรื่อง “การกำหนดมาตรการป้องกันปัญหา และลดผลกระทบที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” (28 ต.ค.) ซึ่งทางจังหวัด โดย กรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดสุรินทร์ จะทำหนังสือนำส่งแนวปฏิบัติถึงหมู่บ้าน ให้ประชาสัมพันธ์ผ่านหอกระจายข่าวทุกวัน ก่อนงานช้างปีนี้ (วันที่ 11 – 22 พ.ย. 53) และได้เริ่มประชาสัมพันธ์ พร้อมทั้งติดป้ายประกาศ ป้ายขวางถนน ตามจุดสำคัญต่างๆ ในเมืองสุรินทร์
จังหวัดสุรินทร์ นำโดยทางผู้ว่าฯ จ.สุรินทร์ ได้เล็งเห็นว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ก่อให้เกิดปัญหาด้านต่างๆ ทั้งด้านสุขภาพ ครอบครัว อุบัติเหตุและอาชญากรรม ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคม และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ สมควรกำหนดมาตรการต่างๆ ในการควบคุม เพื่อช่วยลดปัญหาและผลกระทบทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ ช่วยสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนโดยให้ตระหนักถึงพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนช่วยกันป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย จึงประกาศให้การป้องกันปัญหาและลดผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นวาระจังหวัดสุรินทร์ ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันผลักดัน และให้ความสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการอย่างจริงจังร่วมกัน โดยให้เน้นหนักและถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ดังนี้
1. ให้หน่วยงานทุกระดับ กำหนดให้วาระเกี่ยวกับปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอุบัติเหตุ เป็นวาระแรกในการประชุมประจำเดือนอย่างต่อเนื่อง
2. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายทุกระดับ ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ โดยใช้มาตรการทั้งจับ และปรับอย่างจริงจัง
3. ให้เทศกาลงานช้างและงานกาชาดของจังหวัดสุรินทร์ เป็น “เทศกาลท่องเที่ยวปลอดภัย ไร้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดอุบัติเหตุ ลดความรุนแรง” โดยให้ทุกหน่วยงานร่วมรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบโดยทั่วถึง
4. ให้สถานที่ราชการทุกแห่ง ติดป้ายเป็นเขตปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ บริเวณด้านหน้าหน่วยงานให้เห็นอย่างเด่นชัด และปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์-ยาสูบอย่างเคร่งครัด
5. ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาคมกำหนดกติกาชุมชนให้งานบุญประเพณีปลอดเหล้า โดยเน้นหนัก “งานศพปลอดเหล้า-ปลอดการพนัน งานกฐินปลอดเหล้า งานบวชปลอดเหล้า” โดยให้ทุกหน่วยงาน จัดกิจกรรมรณรงค์หรือสนับสนุนในการรณรงค์ลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอบายมุข ในชุมชนอย่างจริงจัง รวมทั้ง กำกับดูแลให้ร้านค้า/สถานประกอบการในพื้นที่รับผิดชอบ ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์-ยาสูบอย่างเคร่งครัด
6. ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านวินัยจราจร การลด ละ เลิกการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์-ยาสูบ และการพนัน เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป
นับเป็นจังหวัดต้นแบบในเรื่องการรณรงค์ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์-ยาสูบ และอบายมุข ในงานบุญ งานประเพณีอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม โดยได้รับความร่วมแรงร่วมใจกันของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง ทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน และชาวสุรินทร์ ที่เห็นความสำคัญของปัญหาเรื่องนี้ โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานองค์กรเครือข่ายงดเหล้า ภาคอีสานตอนล่าง และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่มุ่งมั่นทำงานรณรงค์กันมาอย่างต่อเนื่อง จนเป็นรูปเป็นร่างหลากหลายโครงการอย่างที่เห็นในปัจจุบัน อาทิ โครงการวัดปลอดเหล้า งานบวช-งานศพปลอดเหล้า และโรงเรียนปลอดเหล้า เป็นต้น โดยมุ่งหวังว่าจะแผ่ขยายตัวอย่างความดีเหล่านี้สู่จังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสาน รวมถึงภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป
ที่มา : องค์กรเครือข่ายงดเหล้า ภาคอีสานตอนล่าง
เรียบเรียงโดย : ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน teamcontent www.thaihealth.or.th
update : 26-10-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน