รำลึก 98 ปี วันสตรีสากล

ย้อนรอยเส้นทางแห่งสิทธิ เสรีภาพและความเท่าเทียม

 

            สตรีสากล (international women’s day) 8 มีนาคม แวะเวียนมาอีกรอบแล้ว หลายคนอาจยังไม่ทราบถึงความเป็นมาเป็นไปของวันนี้ ซึ่งหากจะศึกษากันจริงๆ ก็ต้องเริ่มเท้าความกันตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของการเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรี เป็นต้นว่าในครั้งอดีต สตรีเพศ ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในทุกๆ ด้าน ถูกกดขี่ ขูดรีด เอารัดเอาเปรียบสารพัด ซึ่งสตรีในทั่วทุกมุมโลกต่างก็ต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกันเป็นเวลายาวนาน

 

            เหตุที่สตรีถูกจำกัดสิทธิและต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของชาย ไม่ได้รับความเท่าเทียมในทางสังคม ได้กลายเป็นแรงผลักดันให้สตรีบางกลุ่มลุกขึ้นต่อสู้ เพื่อเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรม เรื่องราวแห่งการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธินี้ เริ่มปรากฏเด่นชัดขึ้นเมื่อ ปี ค.ศ.1789 ขณะนั้นบรรดาสตรีชาวปารีส ได้รวมตัวกันเดินขบวนไปยังพระราชวังแวร์ซายส์ ระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส โดยเรียกร้องเสรีภาพ ความเสมอภาค และเรียกร้องให้มีการคุ้มครองแก่สตรีขึ้นเป็นครั้งแรก

 

            การเคลื่อนไหวของกลุ่มสตรีเกิดขึ้นหลายครั้ง ในหลายพื้นที่ อย่างเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ปี ค.ศ.1857 กลุ่มผู้ใช้แรงงานสตรีจากโรงงานทอผ้าและตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ได้พากันเดินขบวนประท้วงในกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพื่อเรียกร้องสิทธิในการทำงาน ให้มีการรับรองสภาพการทำงานของสตรีที่ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งเรียกร้องให้เพิ่มค่าจ้างและปรับปรุงสภาพการทำงานที่เอื้ออำนวยต่อสตรี เพราะที่ผ่านมาแรงงานสตรีมักถูกใช้งานเยี่ยงทาส ครั้นพอตั้งครรภ์ก็ถูกไล่ออก ไม่ได้รับความคุ้มครองในทุกกรณี  

 

            แต่แล้วการเคลื่อนไหวครั้งนี้จบลงด้วยความรุนแรงและไม่คาดคิด เมื่อมีการเผาโรงเรียนในขณะที่กำลังมีการประท้วงอยู่ เป็นเหตุให้มีคนงานหญิงเสียชีวิตมากถึง 119 คน

 

            ต่อมาในปีค.ศ.1889 วันที่ 19 กรกฎาคม คลาร่า แซทคิน (clara zetkin ) ผู้นำสตรีชาวเยอรมันได้แสดงสุนทรพจน์เป็นครั้งแรก เรื่องปัญหาของสตรีต่อที่ประชุมผู้ก่อตั้งสภาคองเกรสสากล ครั้งที่ 2 ในกรุงปารีส โดยเรียกร้องให้สตรีมีสิทธิในการทำงาน ให้มีการคุ้มครองสตรีและเด็กอย่างเท่าเทียม รวมทั้งยังได้เรียกร้องให้สตรีมีส่วนร่วมในการประชุมระดับชาติ และระดับสากล ซึ่งนับเป็นการเรียกร้องที่สำคัญอย่างยิ่ง และยังผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเวลาต่อมา

 

            ภายใต้การนำของ คลาร่า แซทคิน  ที่ปลุกกระแสลุกฮือด้วยการเดินขบวนนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1907 เรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานจากวันละ 12-15 ชั่วโมง ให้เหลือวันละ 8 ชั่วโมงพร้อมทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการภายในโรงงาน และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ซึ่งการเรียกร้องครั้งนี้แม้จะมีหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ได้รับแรงสนับสนุนจากสตรีทั่วโลก และส่งผลให้วิถีการผลิตแบบทุนนิยมเริ่มสั่นคลอนลง

 

            3 ปีต่อมา ในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1910 ข้อเรียกร้องของเหล่ากรรมกรสตรีก็ประสบความสำเร็จ เมื่อตัวแทนสตรีจาก 18 ประเทศ เข้าร่วม ประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม ครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี โดยให้ลดเวลาทำงานให้เหลือเพียงวันละ 8 ชั่วโมง ศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และกำหนดให้ค่าแรงงานสตรีเท่าเทียมกับค่าแรงงานชาย อีกทั้งยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย

  

            นอกจากนี้ในการประชุมครั้งนั้นยังมีการรับรองข้อเสนอของ คลาร่า แซทคิน ด้วยการประกาศให้วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากล  เช่นเดียวกับ คลาร่า แซทคิน ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น มารดาแห่งการเคลื่อนไหวสตรีสากล ผู้ให้กำเนิดวันสตรีสากลตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา   

       

            ณ วันนี้ถึงแม้สตรีแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกันทั้งในด้านจริยธรรม ภาษา วัฒนธรรม ตลอดจนจารีตประเพณี แต่ทุกคนก็ได้สัมผัสถึงความเสมอภาคอย่างเท่าเทียมกันในเรื่องสิทธิเสรีภาพ หลายประเทศให้ความสำคัญกับสตรี ถึงขั้นกำหนดให้วันสตรีสากลเป็นวันหยุดประจำปี และคาดว่าในอนาคตอันใกล้ความคุ้มครองในด้านต่างๆ จะมีมากขึ้น ยังผลให้สตรี มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามไปด้วย

 

 

 

 

เรียบเรียง : team content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบ : www.thaihealth.or.th

 

 

update 03-03-51

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ