รับมืออย่างไร กับ ฝุ่น PM 2.5
ที่มา : หนังสือจับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2563 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
แฟ้มภาพ
PM 2.5 เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 5 ของประชากรโลกในปี 2558 องค์การอนามัยโลกจึงประกาศว่าในปี 2559 ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศกว่า 7 ล้านคน ซึ่ง 91% เกิดในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิกตะวันตก
ฝุ่นพิษขนาดเล็กเมื่อสูดเข้าไปสามารถผ่านลงไปลึกถึงหลอดลมฝอย และถุงลมที่เป็นส่วนปลายของปอด ก่อให้เกิดการระคายเคือง และเกิดการอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรังทำให้คนที่เป็นโรคระบบการหายเรื้อรังกำเริบ และอาจทำให้เกิดมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น อันตรายของ PM 2.5 รุนแรงมากกว่าที่คิดโดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุ หากจำเป็นต้องอยู่ในละแวกพื้นที่ฝุ่นพิษ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้
รับมืออย่างไรกับฝุ่น PM 2.5
1. ปิดประตูหน้าต่างไม่ให้ฝุ่นเข้ามาในตัวอาคาร
2. ดื่มน้ำมากๆ
3. ใช้น้ำเกลือหรือน้ำสะอาดกลั้วคอ บ้วนทิ้งวันละ 3-4 ครั้ง ห้ามกลืน
4. หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งที่ต้องออกแรงมากๆ โดยเฉพาะการออกกำลังกายกลางแจ้ง
5. หากต้องการออกจากบ้าน ควรสวมหน้ากากอนามัยชนิดกรอง PM 2.5 ได้ และหมั่นเปลี่ยนหน้ากากอนามัยทุกวัน
6. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคปอด ควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นติดตัว
7. งดสูบบุหรี่
8. ปลูกต้นไม้สูงรอบบ้านสามารถช่วยกรองอากาศและผลิตออกซิเจน
9. หากมีอาการผิดปกติหลังสูดดมฝุ่นหมอกควัน เช่น หายใจไม่ออก หรือระคายเคืองแสบตา ควรรีบไปพบแพทย์