รับมืออย่างไร? กับภัยเหล้ามือสอง
เรื่องโดย : เสาวลักษณ์ พิสิษฐ์ไพบูลย์ team content www.thaihealth.or.th
แฟ้มภาพ
ปัจจุบันเชื่อได้ว่าคนไทยทุกคนรู้จัก 'บุหรี่มือสอง' กันเป็นอย่างดี แต่คาดว่าก็ยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่รู้จัก และไม่คุ้นเคยกับคำว่า 'เหล้ามือสอง' นี้ด้วยเช่นกัน
ภายในงานเสวนา "ภัยเหล้ามือสอง ผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อบุคคลรอบข้างผู้ดื่ม : กรณีเด็กและครอบครัว" โดย ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ร่วมมือกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ได้พาเรามาทำความรู้จักกับ 'มหันตภัย…เหล้ามือสอง’ นี้ให้มากขึ้น
เหล้ามือสอง คือ อะไร ?
เหล้ามือสอง คือ ผลกระทบเชิงลบด้านต่างๆ ที่เกิดต่อบุคคลรอบข้างผู้ดื่ม ถึงแม้คนนั้นจะไม่ได้ร่วมดื่มด้วยก็ตาม ซึ่งอาจจะเป็นคนในครอบครัว เช่น ลูกหลาน สามี ภรรยา พี่น้อง พ่อแม่ รวมไปถึงคนแปลกหน้าที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ซึ่งผลกระทบจากเหล้ามือสองมีทั้งระยะสั้นและระยะยาว ตั้งแต่การสร้างความเดือดร้อนรำคาญใจ ไปจนถึงความรุนแรงต่อทรัพย์สิน ร่างกาย และชีวิต
สถานการณ์ภัยเหล้ามือสองในประเทศไทย พบว่า ร้อยละ 79 ของคนไทย เคยได้รับผลกระทบจากเหล้ามือสอง!
โดยร้อยละ 76.8 ได้รับผลกระทบทางจิตใจ รู้สึกไม่ปลอดภัย หวาดกลัว ถูกคุกคาม จากผู้ดื่มที่รู้จักและคนแปลกหน้า ส่วนร้อยละ 42 ได้รับผลกระทบในการใช้ชีวิต เช่น เพื่อนร่วมงานไม่สามารถทำงานได้ หรือมีปัญหากับคู่สมรส ร้อยละ 22.6 ได้รับผลกระทบทางการเงิน เช่น เงินไม่พอใช้ หรือต้องนำเงินไปใช้จ่ายจากอุบัติเหตุที่เกิดจากแอลกอฮอล์ และ ร้อยละ 6.2 เคยมีผู้ถูกกดขี่ทางเพศจากนักดื่ม อีกทั้งเด็กและเยาวชนก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน โดยร้อยละ 24.6 จากคำพูดรุนแรง หรือถูกทอดทิ้ง ซึ่งมีพ่อแม่ที่ดื่มเป็นปัจจัยหลัก
นอกจากนี้ จากการคำนวณมูลค่าความเสียหายที่ผู้ได้รับผลกระทบต้องควักกระเป๋าหรือสูญเสีย มีมูลค่าถึง 8,500 บาทต่อรายต่อปีเลยทีเดียว!! ซึ่งปัญหาเหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่น่าห่วง…
แล้วเราจะรับมือกับปัญหาเหล่านี้อย่างไร ?
ลองมาฟังความคิดเห็นจาก นายแด๊ก เรคเว้ นักวิชาการอาวุโส ฝ่ายการจัดการปัญหายาเสพติด องค์การอนามัยโลก ได้ให้ข้อมูลได้อย่างน่าสนใจว่า ในปี 2012 พบผู้เสียชีวิตจากแอลกอฮอล์ถึง 3.3 ล้านคน แต่ที่ผ่านมาทุกประเทศล้วนสนใจการป้องกัน และแก้ไขปัญหาผู้ดื่มอย่างเดียว แต่เมื่อศึกษาถึงผลกระทบกับคนในสังคมรอบข้างกลับพบว่า ส่วนใหญ่ประสบปัญหาเดียวกัน คือ ถูกทำร้ายร่างกาย ก่อความวุ่นวาย และสร้างความรำคาญ สูญเสียทรัพย์สิน
องค์การอนามัยโลกจึงได้พัฒนาเป็นแผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลกออกมา ซึ่งประเทศไทยก็ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาแผนนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มภาษีให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ราคาแพงขึ้น การควบคุมโฆษณาการตลาด รวมไปถึงการจัดการให้คนเข้าถึงสุราได้ยากมากขึ้น
ในส่วนความเห็นของ ดร.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการ สสส. บอกว่า อยากให้สังคมเปลี่ยนแนวคิดที่ว่า ดื่มเหล้าแล้วสร้างมิตรภาพ ซึ่งเชื่อว่าไม่ใช่ความจริง เพราะก็ได้เห็นแล้วว่าที่ผ่านมามีงานเลี้ยงฉลองหรือสังสรรค์ที่ใด มีหลายเหตุการณ์จบด้วยความเศร้าสลด โดยมีเหล้าและเบียร์เป็นองค์ประกอบทั้งสิ้น
"ประเทศไทยยังขาดความรู้เรื่องผลกระทบของเหล้ามือสอง จึงต้องกระตุ้นทุกภาคส่วนและสังคมไทยให้เห็นความสำคัญของความรุนแรงเรื่องดังกล่าว ในส่วนของ สสส. เองได้รณรงค์ป้องกันเรื่องนี้มาโดยตลอด ซึ่งรัฐต้องให้การสนับสนุนการศึกษาวิจัย และนำมาบอกให้ประชาชนได้รับรู้ และให้สังคมได้ตระหนักถึงพิษภัยจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นการเกิดอุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท รวมไปถึงการก่อความรุนแรงในครอบครัว ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตคนไทย" ดร.บัณฑิต ฝากทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตาม ถือเป็นสิทธิของผู้ที่ไม่ดื่ม ที่เขาจะต้องไม่ได้รับผลกระทบจากการดื่มเหล้าของคนอื่น ด้วยความร่วมมือจากหลายๆหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงคนไทยทุกคนด้วยที่จะต้องช่วยกัน อย่าให้ภัยมือสองจากการดื่มเหล้านี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่นำมาสู่ความรุนแรงและความสูญเสียในอนาคต