รับมือวัยรุ่นเครียดช่วงสอบแอดมิชชั่น

รับมือวัยรุ่นเครียดช่วงสอบแอดมิชชั่น thaihealth


ในปัจจุบันการสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือที่เรียกว่า “แอดมิชชั่น”มีการแข่งขันกันรุนแรง ส่งผลทำให้เด็กวัยรุ่นประสบกับภาวะวิตกกังวล จนกลายเป็นความตึงเครียดทั้งทางจิตใจและร่างกาย บางรายเครียดจัดถึงขนาดเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย


พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ บอกว่า การสอบเข้ามหาวิทยาลัยนั้น เป็นแค่ส่วนหนึ่งของชีวิตแต่ไม่ใช่ทั้งหมด ซึ่งผู้ที่พลาดหวังก็ยังมีสถาบันการศึกษาอื่น ให้เลือกเรียนอีกมากมาย และอนาคตของเราไม่ได้วัดกันที่เรื่องนี้แค่อย่างเดียว ดังนั้นขอให้คิดเสียว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ ไม่ใช่ชีวิตต้องล้มเหลว  โดยขอให้มองตัวอย่างจากผู้ที่มีชื่อเสียงในสังคม หลายคนก็ไม่ได้เข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่ต้องการ แต่บุคคลเหล่านี้ก็ประสบความสำเร็จในชีวิตได้เช่นกัน


รับมือวัยรุ่นเครียดช่วงสอบแอดมิชชั่น thaihealth


จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น บอกต่อว่า เด็กวัยรุ่นบางคนที่พ่อแม่คาดหวังไว้มาก ก็ยิ่งจะทำให้ลูกรู้สึกกดดันอย่างรุนแรง เมื่อหาทางออกให้ตัวเองไม่ได้ มักจะแก้ปัญหาด้วยวิธีการผิดๆ ดังนั้นพ่อแม่จึงมีบทบาทสำคัญ ที่จะช่วยลดความเครียดให้ลูกได้ โดยต้องลดระดับความคาดหวังของตัวเองลง เนื่องจากเด็กวัยรุ่นส่วนใหญ่จะรู้สึกกดดันมากขึ้น เมื่อต้องแบกรับความหวังของพ่อแม่ที่ตั้งไว้สูงเกินไป


พญ.วิมลรัตน์ บอกถึงแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ที่มีลูกหลานผิดหวัง จากการสอบเข้ามหาวิทยาลัยว่า พ่อแม่หรือผู้ปกครองต้องทำใจก่อน เพราะต้องเป็นที่พึ่งให้กับลูกได้ตั้งหลัก และควรปลอบใจด้วยการพูดว่า ไม่เป็นอะไรทำดีที่สุดแล้ว จากนั้นค่อยมาคิดกันว่า จะวางแผนต่อไปอย่างไร ดังนั้นสิ่งสำคัญจึงอยู่ที่พ่อแม่และคนรอบข้าง ที่ต้องคอยประคับประคองช่วงที่เสียใจ ควรให้กำลังใจ เข้าอกเข้าใจ อย่าซ้ำเติม หลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น เพื่อไม่ให้เด็กเครียด และสามารถผ่านช่วงเวลานี้ไปได้


รับมือวัยรุ่นเครียดช่วงสอบแอดมิชชั่น thaihealth


พญ.วิมลรัตน์ บอกอีกว่า โดยปกติแล้วเด็กวัยรุ่นจะสามารถปรับตัวได้ ภายหลังเกิดความผิดหวังเสียใจ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ แต่อาจมีบางกลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ เช่น คนที่ตั้งความหวังไว้มาก ซึ่งต้องคอยสังเกตอาการที่เปลี่ยนไป เช่น เก็บตัว ไม่กินไม่นอน มักพูดตัดพ้อชีวิต หรือมีอาการซึมเศร้าติดต่อกันหลายวันหรือเป็นสัปดาห์ เพราะอาจกำลังคิดทำร้ายตัวเองได้


นอกจากนี้ พญ.วิมลรัตน์ ยังแนะนำวิธีจัดการความเครียดว่า ช่วงที่เครียดมากๆ อาจฝึกผ่อนคลายโดยการหลับตา หยุดคิดเรื่องที่กังวลอยู่ และมีสมาธิอยู่กับการกำหนดลมหายใจเข้าออกอย่างช้าๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดหัวได้ หรือถ้าเกิดความเครียดมากๆ ก็ควรหาทางระบายออกด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่ชื่นชอบ เช่น ออกกำลังกาย ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ เป็นต้น  พญ.วิมลรัตน์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ความเครียดของวัยรุ่นถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องช่วยเหลือ อย่าปล่อยปละละเลย และหากพบว่ามีอาการซึมเศร้าผิดปกติ ควรรีบปรึกษาจิตแพทย์โดยเร็วที่สุด


 


เรื่องโดย : นายฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ