รับมือวัยทอง ง่ายนิดเดียว

      สตรีที่อายุระหว่าง  45 – 50 ปี คือช่วงเวลาที่อยู่ในวัยทอง นั่นหมายถึงภาวะการหมดประจำเดือนหรือระดู เนื่องจากรังไข่หยุดการผลิตฮอร์โมน และไม่สามารถมีบุตรได้อีกต่อไป สตรีหลายๆ คนมักมีอาการของวัยทองที่ส่งผลทั้งทางด้านอารมณ์ และร่างกาย


/data/content/26230/cms/e_bcfiklpqvy19.jpg


     นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวถึงสตรีวัยทองในประเทศไทยที่มีประมาณ 7 ล้านคนว่า ผู้หญิงที่อยู่ในวัยทองหรือหญิงวัยหมดระดู เป็นช่วงวัยสำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ ที่มีผลจากการลดลงของฮอร์โมนเพศ จึงทำให้มีปัญหาสุขภาพที่แตกต่างจากวัยอื่น ผลการสำรวจภาวะสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพในผู้หญิงไทย อายุ 45-59 ปี ของสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย พ.ศ. 2554 พบว่า หญิงวัยทองร้อยละ 48 มีโรคประจำตัว โดย 3 อันดับแรกที่พบมาก ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคเกี่ยวกับกระดูกและข้อ และร้อยละ 28 ของหญิงวัยทองมีความเสี่ยงสูงต่ออาการหญิงวัยทอง นอกจากนี้ยังพบภาวะอ้วนลงพุงร้อยละ 57


     ด้าน รศ.พญ.อรวรรณ คีรีวัฒน์ นายกสมาคมอนามัยเจริญพันธุ์(ไทย) กล่าวว่า การก้าวเข้าสู่วัยทองของสตรีนั้น จะมีช่วงวัยใกล้หมดประจำเดือน เป็นช่วงเวลาที่ผู้หญิงยังไม่หมดประจำเดือน หรือไม่มีประจำเดือนมาระยะเวลาหนึ่งแต่ไม่ถึง 1 ปี ช่วงวัยนี้อาจจะยาวนานถึง 6 ปีก่อนจะก้าวสู่วัยทอง โดยปรากฎอาการออกเป็นตามช่วงคือ ช่วงแรก ประจำเดือนจะมาเร็วขึ้น จากที่เคยมาทุกเดือน จะมาทุกๆ3อาทิตย์ ช่วงที่สอง ประจำเดือนจะเริ่มมาห่าง เช่น 2-3 เดือนมาครั้งนึง ช่วงที่สาม คือช่วงที่ประจำเดือนหายไปนานจนครบ 1 ปี


     “ระหว่างช่วงเข้าสู่วัยทอง จนหมดประจำเดือนนั้น ผู้หญิงหลายๆ คนจะมีอาการผิดปกติปรากฎ ซึ่งแต่ละคนจะแตกต่างกัน อาการวัยทองของหญิงไทยจะมีประมาณ 21-22 อาการ เช่น อาการร้อนวูบวาบ นอนไม่หลับ ประจำเดือนมาไม่ปกติ มดลูกแห้ง หงุดหงิด ร่างกายอ่อนเพลีย ผมร่วง  หลงลืมง่าย วิงเวียนศรีษะ ท้องอืด ปัสสาวะและขับถ่ายบ่อย ฯลฯ และหญิงไทยกับหญิงต่างประเทศก็จะมีความแตกต่างกันในเรื่องของอาการวัยทอง เนื่องจากมีระบบเมตาบอลิซึมที่ต่างกัน โดยคนไทยจะไม่ได้มีอาการด้านใดเด่นเป็นพิเศษ แต่ผู้หญิงชาวต่างประเทศมักจะมีอาการปรากฎ/data/content/26230/cms/e_adghpqstwxy4.pngเด่นชัด เช่น อาการร้อนวูบวาบ เป็นต้น”  นายกสมาคมอนามัยเจริญพันธุ์ กล่าว


     สำหรับการดูแลตัวเองในช่วงของวัยทองนั้น รศ.พญ.อรวรรณ แนะนำว่า ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดการรับประทานอาหารหวาน มัน เค็ม เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคความดัน เบาหวาน โดยควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยอาทิตย์ละ 150 นาที ควรพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อรักษาอารมณ์ให้เป็นปกติ และหมั่นไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ หากสตรีวัยทองคนไหนที่มีอาการผิดปกติมากเป็นพิเศษสามารถไปพบคุณหมอ เพื่อปรึกษาอาการได้ที่คลินิกวัยทองในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง


     วัยทอง รับมือได้ไม่ยาก ขอเพียงตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ ใส่ใจกับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และแบ่งเวลาพักผ่อนให้เพียงพอค่ะ… 


 


 


     เรื่องโดย อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th


     ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code