รับน้องโหด ทำไมยังอยู่กับสังคมไทย

ชี้เห็นการดื่มเหล้าเป็นเรื่องปกติ วอนสถานศึกษาคุมเข้ม

รับน้องโหด ทำไมยังอยู่กับสังคมไทย 

               เครือข่ายเยาวชนฯ จับมือเอแบค สำรวจ เกือบ 90% จากการสำรวจทัศนคติเห็นการดื่มเหล้าเป็นเรื่องปกติ   37.5% บอกรับน้องต้องมีกิจกรรมเสี่ยงๆ   55.3% ดุด่า กู-มึง เรื่องธรรมดา 60% ต้องเล่นเกมตื่นเต้นชู้สาว ยังดี 80.5% ยันไม่มีรุ่นพี่ดื่มเหล้ามารับน้อง  อึ้ง กีฬาน้องใหม่ มีแต่เมา เจอชวนกระดก ตั้งแต่ประชุม-ซ้อมเชียร์-แข่ง เกิน 30% ไม่ปฏิเสธ  5 อันดับหลืบหลบก๊งเหล้า หอพักในมหาลัย -สวนย่อม-หลังอาคารเรียน-ห้องชมรม-มุมในโรงอาหาร สสส.วอนผู้บริหารสถานศึกษาคุมเข้ม เป็นสถานที่ปลอดเหล้าตามกม.

 

               ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) มีแถลง รับน้องโหด ทำไมยังอยู่กับสังคมไทยโดย นายสุโศภะ เพ็ญสมโภช นายกสมโมสร ม.รังสิต กล่าวว่า เครือข่ายเยาวชนเฝ้าระวังเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ร่วมกับสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ สำรวจ กิจกรรมน้องใหม่ กีฬาน้องใหม่ ปี51 กับพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในนิสิตนักศึกษา 15 สถาบัน ชั้นปีที่ 1-4 จำนวน 2,446 คน   โดยแบ่งเป็นสัดส่วน  มหาวิทยาลัยเอกชน , มหาวิทยาลัยของรัฐ และ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ตามลำดับ พบว่ากลุ่มตัวอย่าง 88.5% คิดว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นเรื่องปกติ ทั้ง ๆ ที่ ก่อนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเกิน 40% ไม่เคยดื่มเหล้า แต่ก็น่ายินดีว่าการรับน้องที่ผ่านมา มีน้องใหม่ถึง 80.5%ไม่พบรุ่นพี่ดื่มเหล้าแล้วมาทำกิจกรรมรับน้อง

 

                เมื่อถามถึงกิจกรรมการรับน้อง เกือบ 60% เห็นว่าต้องเล่นเกมตื่นเต้นเชิงชู้สาวกันบ้าง 38.1% ยอมรับผู้ชายต้องถูกถอดเสื้อ ผู้หญิงต้องแสดงท่ายั่วยวน 24.9% ต้องมีตบ ตี ต่อย ให้น้องอดทน 37.5% กิจกรรมเสี่ยงอันตรายยังจำเป็น 55.3%  การดุด่า หยาบคาย เช่น กู มึง ไอ้ อี เป็นเรื่องธรรมดา ทั้งนี้ 77.2% ยอมรับว่าการดื่มเหล้ามีส่วนกระตุ้นให้อยากมีเพศสัมพันธ์ 92.4% เชื่อว่าจะทำให้ทะเลาะกันง่ายขึ้น และ 84.9% บอกว่าเหล้ามีส่วนทำให้รุ่นพี่สั่งรุ่นน้อง ทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม เช่น ให้ผู้ชายถอดเสื้อ ทำสิ่งอันตราย ทำพฤติกรรมเชิงชู้สาวนายสุโศภะ กล่าว

 

            นายสุโศภะ กล่าวอีกว่า สิ่งที่น่าห่วงคือ เมื่อถามถึงการประชุมเชียร์ และซ้อมกีฬารับน้อง รุ่นพี่และน้องใหม่เกิน 40% บอกว่า มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการประชุมเชียร์ เกือบ 40% เคยเห็นการดื่มเหล้าทั้งในการซ้อม และการแข่งขันกีฬาน้องใหม่ โดยนิสิตนักศึกษาปี 1- 4  ถึง 32% ยอมรับว่า ในการประชุมเชียร์  การซ้อม การแข่งขันกีฬาน้องใหม่ ถ้าถูกชวนให้ดื่มเหล้า จะดื่มทุกครั้ง ซึ่งประมาณ 40 % เคยพบเห็นการดื่มเหล้าในการแข่งกีฬาอื่นๆของมหาวิทยาลัย  กลุ่มตัวอย่างระบุว่าเคยเห็นบุคคลเหล่านี้ ดื่มเหล้าในสถานศึกษาคือ 12.8% อาจารย์ 71% รุ่นพี่ 31.4% รุ่นน้อง 65.5% เพื่อน คนที่มีอิทธิพลเมื่อเห็นดื่มเหล้าแล้วอยากดื่มตามคือ 1.เพื่อน 2.รุ่นพี่ 3.รุ่นน้อง 4.อาจารย์ เมื่อถามกลุ่มตัวอย่างชั้นปีที่ 1  ว่าหากรุ่นพี่ชวนดื่มจะดื่มหรือไม่  39.7 %  ตอบว่าไม่แน่ใจ  อาจดื่ม  และ 54%  ตอบว่าไม่ดื่มอย่างแน่นอน  แสดงว่านักศึกษาส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการดื่มเหล้า  แต่ก็อาจเปลี่ยนพฤติกรรมได้ด้วยอิทธิพลของรุ่นพี่

 

            5 อันดับสถานที่ที่เป็นที่แอบดื่มเหล้าในสถานศึกษาคือ 1.หอพักนิสิต นักศึกษาในสถานศึกษา 2.มุมนั่งเล่น สวนย่อม 3.หลังอาคารเรียน 4.ห้องชมรม 5.มุมในโรงอาหาร ซึ่งกลุ่มตัวอย่าง 65% อยากให้สถานศึกษาเป็นเขตปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเรียกร้องให้1.ผู้บริหารสถานศึกษา 2.อาจารย์ 3.ฝ่ายกิจการนักศึกษา 4.กระทรวงศึกษาธิการ 5.รุ่นพี่ 6.รัฐบาล ดูแลสถานศึกษาให้ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  นายสุโศภะ กล่าว  

 

               นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า สิ่งที่น่าห่วงเยาวชนไทย เห็นการดื่มเหล้าเป็นเรื่องปกติ และสถานการณ์จะเข้าขั้นอันตรายมากขึ้น หากสังคม และภาครัฐ ไม่มีการรณรงค์ป้องกัน หรือควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ วัยรุ่นจะหันมาดื่มเหล้าเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด อนาคตประเทศไทยอาจกลายเป็นประเทศที่มีคนดื่มเหล้าสูงเทียบเท่าชาวสหรัฐฯ ยุโรป ที่มีประชากรดื่มเหล้าสูงถึง 80-90% ของประชากรทั้งประเทศ ปัจจุบันสถิติการดื่มเหล้าของคนไทยในอยู่ที่ 40%

 

               สาเหตุที่วัยรุ่นไทยเห็นการดื่มเหล้าเป็นเรื่องปกติ และดื่มเหล้าเพิ่มขึ้น เป็นผลจากพฤติกรรมเลียนแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีคนในครอบครัวดื่มเหล้าให้เห็นเป็นประจำ เด็กคนนั้นมีโอกาสติดเหล้าสูงมาก เพราะจะเคยชินจนเห็นเป็นเรื่องปกติ อีกทั้งโฆษณา มีผลต่อทัศนคติของเด็กมาก เพราะโฆษณาผูกโยงกับค่านิยม เช่น ดื่มเหล้าแล้วหล่อ เท่ห์ สวย หรือประสบความสำเร็จในชีวิตนพ.บัณฑิตกล่าว

 

               ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ รองผู้จัดการสสส. กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สถานศึกษาต้องเป็นเขตปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งจำหน่ายและการดื่ม จึงขอความร่วมมือให้ให้ผู้บริหารสถานศึกษาดูแลเรื่องนี้ด้วย ขณะเดียวกันขอให้มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับกีฬาน้องใหม่เท่าๆกับการรับน้องเพราะเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาเป็นเดือน เเละมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง จากข้อมูลที่ได้รับ ในปีการศึกษานี้  สสส.นอกจากจะสนับสนุนโครงการรับน้องปลอดเหล้าแล้ว ได้ขยายการสนับสนุนไปสู่กีฬารับน้องใหม่ด้วย ขณะนี้หากนิสิตนักศึกษา มีโครงการเกี่ยวกับ กีฬา ประเพณี และศิลปวัฒนธรรมในสถาบันการศึกษา สามารถขอรับทุนสนับสนุนกิจกรรมได้ที่แผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสนับสนุนกิจกรรมปลอดเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ในสถานศึกษา  สำนักวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   โทรศัพท์ 02-2181006 หรือ ดาวน์โหลดแบบฟอร์มเสนอโครงการได้ที่  www.thaihealth.or.th

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : สำนักข่าว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.

 

 

 

 

Update 19-06-51

 

 

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code