รับน้อง…ต้องปลอดเหล้า
ชี้กิจกรรมกีฬา-สถานศึกษาต้องร่วมด้วย
หลังจากเครียดจากการฝ่าด่านอย่างหฤโหดเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยได้สำเร็จ เปลี่ยนจากขาสั้นคอซองมาเป็นหนุ่มสาวเต็มตัว ช่วงนี้ก่อนเปิดภาคเรียนก็ถือว่าเป็นเทศกาล สุขนาฏกรรม ที่มีกิจกรรมรับน้องต่างๆ ด้วยความอบอุ่นจากรุ่นพี่
แต่กิจกรรมรับน้องที่ไม่ถูกไม่ควร ด้วยการนำน้ำมัจจุราชเข้ามามีส่วนร่วมด้วย อาจทำให้จาก “สุขนาฏกรรม” เป็น “โศกนาฏกรรม” ได้ เช่นเดียวกับที่ได้ยินข่าวคราวเรื่องรับน้องมาโดยตลอด
แต่วันนี้ น้ำเมาอาจไม่ได้แทกซึมในกิจกรรมรับน้องเพียงอย่างเดียว เพราะที่ผ่านมาสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้รณรงค์ในกิจกรรมรับน้องใหม่อย่างแข็งขัน โดยมีน้องๆ นักศึกษาจากหลากหลายสถาบันมาร่วมเป็นเครือข่ายเยาวชนเฝ้าระวังเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
โดยล่าสุดเครือข่ายฯ ได้ผนึกกำลังสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ สำรวจกิจกรรมน้องใหม่ กีฬาน้องใหม่ปี 51 กับพฤติกรรมการดื่มของนักศึกษากว่า 15 สถาบันกว่า 2,446 คน พบว่า ในช่วงการรับน้องที่ผ่านมา 80.5% ไม่พบรุ่นพี่ดื่มเหล้าแล้วมาทำกิจกรรมรับน้องเท่ากับว่ายังมีรุ่นพี่ ดื่มเหล้าในงานรับน้องอีก 19.5% แต่เมื่อเทียบกับกิจกรรมกีฬาเชียร์แล้ว เกิน 40% บอกว่า มีการดื่มแอลกอฮอล์ในการประชุมเชียร์ จึงถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่ง
“นอกจากนี้ เกือบ 40% เคยเห็นการดื่มเหล้าทั้งในการซ้อม และการแข่งขันกีฬาน้องใหม่ โดยนิสิตนักศึกษาปี 1-4 ถึง 32% ยอมรับว่า ในการประชุมเชียร์ การซ้อมการแข่งขันกีฬาน้องใหม่ ถ้าถูกชวนให้ดื่มเหล้าจะดื่มทุกครั้งซึ่งประมาณ 40% เคยพบเห็นการดื่มเหล้าในการแข่งกีฬาอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัย”
และแน่นอนว่า เมื่อน้ำเปลี่ยนนิสัยเข้าสู่ร่างกายความรุนแรงก็เกิดขึ้น เพราะพบว่า 77.2% ของนิสิตที่ตอบคำถามยอมรับว่าการดื่มเหล้ามีส่วนกระตุ้นให้อยากมีเพศสัมพันธ์และกว่า 92.4% เชื่อว่าจะทำให้ทะเลาะกันง่ายขึ้น และ 84.9% บอกว่าเหล้ามีส่วนทำให้รุ่นพี่สั่งรุ่นน้อง ทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม เช่นให้ผู้ชายถอดเสื้อ ทำสิ่งอันตราย ทำพฤติกรรมเชิงชู้สาว อันนำมาซึ่งความรุนแรงในหลายรูปแบบ
เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่กลุ่มตัวอย่างเหล่านี้เกิน 40% ที่ก่อนเข้ารั้วมหาวิทยาลัยไม่เคยดื่มเหล้ามาก่อน แต่ก็เป็นเรื่องที่น่ากลัวเพราะทัศนคติเกี่ยวกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เห็นว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องปกติกว่า 85%
“เหตุที่ทำให้นิสิตป้ายแดงเห็นว่าการดื่มเหล้าเป็นเรื่องธรรมดา ส่วนหนึ่งน่าจะมีส่วนมาจาก ครอบครัว เห็นคนในครอบครัวดื่มเป็นประจำ เห็นเป็นเรื่องเคยชิน และสื่อโฆษณาที่เด็กได้รับ โน้มน้าวให้เด็กเห็นว่า การกินเหล้าเป็นเรื่องธรรมดา เท่ห์ และสนุกสนาน นอกจากนี้ปัจจัยที่รุ่นน้องเห็นรุ่นพี่ เพื่อน ดื่มก็เป็นสิ่งที่ทำให้เขาอยากทำตาม ดังนั้น การดื่มเหล้าในช่วงของการซ้อมเชียร์ การซ้อมกีฬา จึงเป็นเรื่องที่สถานศึกษา ต้องเข้ามาให้การดูแล และป้องกันต่อไป” นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา วิเคราะห์สถานการณ์การดื่มของนักดื่มหน้าใหม่
เมื่อสภาพความเป็นจริงที่เผยออกมาเป็นเช่นนี้ ใช่ว่าแต่ละสถาบันจะไม่ดำเนินการอะไรเลยตัวอย่างดี ๆ ของกิจกรรมรับน้องในรั้วมหาวิทยาลัยได้เปลี่ยนไปแล้ว อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดกิจกรรม “รับน้องก้าวใหม่” ปลอดเหล้าแล้ว แต่ยังคงให้กิจกรรมรับน้องเป็นเรื่องที่น่าสนใจและขลังด้วยเช่น
“การมีกิจกรรมสาธารณกุศล ตักบาตรตอนเช้า บายศรีสู่ขวัญ ให้น้อง ๆ แบ่งกลุ่มทำป้ายผ้ารณรงค์ลดโลกร้อน ปลอดแอลกอฮอล์และบุหรี่ บริเวณชุมชนรอบ ๆ มหาวิทยาลัย ปลุกจิตสำนึกและสร้างค่านิยมใหม่ ๆ ว่าสามารถใช้ชีวิตร่วมกันในมหาวิทยาลัยได้อย่างมีคุณค่าโดยปราศจากเหล้าและบุหรี่”
ส่วนมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง(มฟด.)ก็มีกิจกรรมรับน้องเข้าซุ้ม…สนุก มันส์ ฮา ไปแล้วเช่นกัน กิจกรรมแต่ละซุ้มล้วนทดสอบทั้งความสามัคคี ความอดทน ความซื่อสัตย์ และการมีน้ำใจต่อเพื่อนให้น้อง ๆ ได้ร่วมสนุกกัน สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างพี่สู่น้องและเพื่อนสู่เพื่อนได้เป็นอย่างดี มิได้มีการบังคับแต่อย่างใด
ล่าสุดเรื่องนี้จะถูกหยิบยกเข้าสู่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.)มีการบรรจุวาระเรื่องปัญหาการดื่มเหล้าในหมู่นิสิต นักศึกษา ปัญหาการรับน้อง รวมทั้งปัญหาในเรื่องความเครียดสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่อาจจะนำไปสู่การฆ่าตัวตายของนักศึกษาด้วย รวมถึงความเข้มงวดในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ระบุว่าสถานศึกษาต้องเป็นเขตปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งจำหน่ายและการดื่ม หากพบจะต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ โดยจะกำหนดแนวทางในการเข้มงวดให้เป็นเขตปลอดยาเสพติดทั้งหลายต่อไป
หวังว่าสิ่งที่ผู้ใหญ่กำลังขึงขัง ทำเพื่อเยาวชนของชาติจะเป็นเรื่องดีที่ทำอย่างต่อเนื่องต่อไป เพราะเมื่ออนาคตของชาติยังตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สุ่มเสี่ยง ก็อย่าหวังว่าชาติไทย ในอนาคตจะสดใสไร้แอลกอฮอล์และยาเสพติดได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
Update 29-05-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก