รัฐธรรมนูญเพื่อสุขภาวะของบุคคลและชุมชน

แนะควรฟังความคิดเห็น ให้สิทธิร่วมคิด พัฒนา ศึกษา และตัดสินใจ

รัฐธรรมนูญเพื่อสุขภาวะของบุคคลและชุมชน 

 

          หากคนไทยบนแผ่นดินสยามให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ในวันที่ 19 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ สุขภาพหรือสุขภาวะของบุคคลและชุมชนจะได้รับความคุ้มครอง โดยไม่ต้องรอการรับรองจากกฎหมายลูก

 

          คนไทยจะได้รับการดูแลตั้งแต่อยู่ในท้องแม่จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

 

          โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กปฐมวัยจะได้รับการดูแลตั้งแต่ปฏิสนธิจนถึง 6 ปีแรกของชีวิต

 

          เนื่องจากพัฒนาการทางด้านร่างกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคม ของเด็กในช่วงนี้จะเป็นการวางรากฐานชีวิตเลยทีเดียว เพราะสมองของเด็กอายุ 6 ปี จะพัฒนาเติบโต 90% ของสมองผู้ใหญ่

 

          ระบบบริการสุขภาพของแม่และเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต. โรงเรียน อนุบาล สนามเด็กเล่น ของเล่นเด็ก หนังสือสำหรับเด็ก ฯลฯ จะต้องได้รับการพัฒนาอย่างขนานใหญ่

 

          รัฐจะทุ่มเทและให้ความสำคัญกับงบประมาณ ที่จะนำไปพัฒนาคนซึ่งหมายถึงการดูแลแม่และเด็กอย่างดีที่สุด เพราะนั่นคือจุดเริ่มต้นของการสร้างชาติ

 

          เมื่อถึงวัยเรียน จะได้รับหลักประกันให้ได้เล่าเรียนโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายจนถึงมัธยมปลาย ผู้ยากไร้ ผู้พิการจะได้รับการศึกษาอย่างทัดเทียมกับบุคคลอื่น รวมทั้งการศึกษาทางเลือกของประชาชนจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐ

 

          นั่นหมายความว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตลอด 12 ปี อย่างเท่าเทียมและทั่วถึงไม่ว่าคนผู้นั้นจะเป็นผู้พิการหรือทุพพลภาพ

 

          เมื่อถึงวัยทำงาน จะได้รับหลักประกันความปลอดภัยสวัสดิการ ค่าตอบแทนที่ไม่เลือกปฏิบัติอย่างเป็นธรรม อีกทั้งปีเงินออมไว้ใช้ในยามชรา

 

          หากเจ็บป่วย ก็จะได้รับการดูแลจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างทั่วถึงและได้มาตรฐานยิ่งกว่าเดิม

 

          หากเกิดความพิการในสังคมนี้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สะท้อนให้เห็นว่าความพิการไม่ใช่ปัญหาของบุคคลหรือครอบครัว หากเป็นปัญหาของชุมชนและสังคม สังคมจึงต้องให้คนพิการได้รับสิทธิในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสวัสดิการและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ จะต้องจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีพของคนพิการได้อย่างปกติสุขและเกิดสุขภาวะ

 

          เมื่อเข้าสู่วัยชรา ผู้สูงอายุจะไม่ถูกทอดทิ้ง ให้ดำรงชีวิตอยู่อย่างไม่สมศักดิ์ศรีของความเป็นคน เช่นเดียวกับคนเร่ร่อน แต่จะได้รับการดูแลจากภาครัฐ อาทิ การจัดหาที่พักที่เหมาะสมให้ สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้โดยไม่ถูก “ลืม” อีกต่อไป

 

          นอกจากนี้ ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพในชุมชนท้องถิ่น จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง อย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน จนทำให้เห็นความหวังว่าความอุดมสมบูรณ์ของผืนแผ่นดินนี้ จะได้รับการเยียวยา ฟื้นฟู อนุรักษ์ และพัฒนาจนเกิดสุขภาวะของชุมชน ทั้งนี้เพราะสิทธิและอำนาจของชุมชนท้องถิ่น ได้เกิดเป็นจริงแล้ว

 

          ชุมชนจะมีความจะมีความมั่นใจได้อย่างแท้จริงว่า พื้นที่ทุกตารางนิ้วเป็นของทุกคน ทุกคนมีสิทธิอย่างเต็มภาคภูมิที่จะร่วมกันกำหนดอนาคตของชุมชน

 

          ไม่ว่าจะมีกิจกรรม หรือโครงการใดๆ ที่จะอาจส่งผลกระทบต่อชุมชน กระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทบต่อสุขภาพ จะมีหน่วยงานองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เกี่ยวข้อง เข้ามาร่วมประเมินตามมาตรฐานสากล และให้ข้อคิดเห็น

 

          แต่สิ่งที่สำคัญคือ การมีกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นให้ชุมชนมีสิทธิร่วมคิด ร่วมพัฒนา ร่วมศึกษากิจกรรม และตัดสินใจในฐานะผู้ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ ผู้ที่เป็นผู้จะได้รับผลกระทบนั้นๆ

 

          นี่คือมิติและผลกระทบด้านสุขภาพและสังคม ที่รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 50 บัญญัติไว้เพื่อพี่น้องชาวไทยทุกคน

 

          สสส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ www.thaihealth.or.th

 

 

 

 

 

 

เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต

 

 

Update:24-07-51

Shares:
QR Code :
QR Code