รักษ์ “ภาษาไทย” สืบสาน “กวีนิพนธ์” ให้คงอยู่
“ชั่วเหยี่ยวกระหยับปีกกลางเปลวแดด
ร้อนที่แผดก็ผ่อนเพลาพระเวหา
พอใบไม้ไหวพลิกริกริกมา
ก็รู้ว่าวันนี้มีลมวก
เพียงกระเพื่อมเลื่อมรับวับวับไหว
ก็รู้ว่าน้ำใสใช่กระจก
เพียงแววตาคู่นั้นหวั่นสะทก
ก็รู้ว่าในหัวอกมีหัวใจ”
ท่อนหนึ่งจากบทกวี “เพียงความเคลื่อนไหว” ซึ่งได้รับวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนในปี 2523 ของ กวีเอกแห่งยุค อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2536
สะท้อนถึงความสวยงามของภาษาไทยที่มีความหมายและความไพเราะ หากแต่น่าเสียดายที่การร้อยเรียงคำกลอนในสมัยปัจจุบัน ถูกลดทอนบทบาทและไม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควร หากแต่ ครูกิ๊ก – นางสาวจิตรา แซ่ลิ้ม ครูผู้ช่วยสอนวิชาภาษาไทย โรงเรียนไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ยังคงมุ่งหวังให้เด็กๆ เห็นความงดงามของภาษาไทย และร่วมกันเรียนรู้รักษาบทกวีที่ทรงคุณค่าไว้
“ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีความไพเราะมาก สามารถนำมาเรียงร้อยเป็นคำประพันธ์ประเภทต่างๆ ได้มากมาย เช่น กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ แล้วยังมีอะไรที่น่าเรียนรู้ น่าค้นหาอย่างไม่มีวันจบเลยทีเดียว”
สอดคล้องกับความเป็นจริงที่ว่า ถ้าหากเรา ‘รัก’ อะไรมากๆ เราจะรักษาสิ่งนั้นด้วย วิธีการสอนภาษาไทยของครูกิ๊ก จึงพยายามสอนให้นักเรียนของเธอรักภาษาไทยเช่นกัน
“เริ่มสอนจากการนำสิ่งใกล้ตัว ให้นักเรียนได้ลองแต่งกลอนเป็นฉันทลักษณ์ต่างๆ ตามที่กำหนด จากนั้นให้ช่วยกันแต่งกลอนทั้งห้อง แล้วค่อยๆ ลดลงมาเป็นกลุ่ม ลดลงมาเป็นคู่ จนกระทั่งให้นักเรียนแต่งคำประพันธ์ได้ด้วยตัวเองคนเดียว”
โดยขั้นตอนทั้งหมด ครูกิ๊กใช้วิธีการพานักเรียนไปเรียนนอกห้องเรียน ให้แต่งกลอนโดยมีบรรยากาศของธรรมชาติภายในโรงเรียนเป็นจินตนาการทางความคิด และหวังว่า เด็กนักเรียนไทยส่วนหนึ่งจะสามารถแต่งคำกลอนได้ทุกประเภท ทุกฉันทลักษณ์ และอาจนำไปสอนลูกหลานต่อได้ แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันเห็น นักเรียนเห็นความสำคัญของภาษาไทยน้อยลง และวิชาภาษาไทยกลายเป็นวิชาที่มีคาบเรียนน้อยกว่าวิชาอื่นๆ จึงทำให้นักเรียนหลายคน ไม่สามารถแยกลักษณะของคำประพันธ์ได้
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรวัฒน์ อินทรพร อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้มีความโดดเด่น และเชี่ยวชาญทางฉันทลักษณ์ในวรรณคดีไทย นวนิยายไทย กวีนิพนธ์โบราณและกวีนิพนธ์ร่วมสมัยของไทย ได้อธิบายความหมายของกวีนิพนธ์ว่า
“กวีนิพนธ์คืองานเขียนประเภทหนึ่งที่มีความเข้มข้นในด้านเนื้อหาทั้งความคิดและอารมณ์ และต้องมีความงดงามในด้านการใช้คำ เช่น การเลือกสรรคำที่ใช้ เรื่องของจังหวะของเสียงคำ และการใช้ความเปรียบ หรือการใช้สัญลักษณ์ที่ต้องตีความ คำว่ากวีนิพนธ์ปัจจุบันใช้ในเชิงประเมินค่า เป็นงานที่ต้องถึงพร้อมด้วยรูปแบบ เช่น การใช้ถ้อยคำที่มีความไพเราะขณะเดียวกันต้องมีความลึกซึ้ง ในเรื่องความหมายด้วย
แต่ปัจจุบัน เราเข้าใจว่างานกวีนิพนธ์ที่เขียนพิมพ์เป็นหนังสือ และต้องเป็นงานที่มีวรรณศิลป์สูง ทีนี้ถ้าจะมองในความหมายกว้าง บทเพลงต่างๆ ที่ร้องกัน ฟังกัน ก็ถือว่าเป็นกวีนิพนธ์ได้ ถ้ามีการใช้ถ้อยคำที่ไพเราะและการเสนอเนื้อหาที่เข้มข้น”
นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ความสนใจในการเสพกวีเปลี่ยนไปตามกาลเวลา อาจจะกล่าวได้ว่ายุคปัจจุบันการเสพกวีนิพนธ์ที่ใช้คำยาก จะไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มคนยุคปัจจุบันได้ แค่คนเฉพาะกลุ่มเท่านั้นที่จะสนใจอ่าน เนื่องจากต้องอาศัยความรู้ในการตีความภาษา และนี่ก็เป็นอีกเหตุผลที่กวีนิพนธ์ในอดีตค่อยๆ ถูกลดความนิยมลงไป
แต่ใช่ว่าเด็กยุคใหม่จะไม่สนใจกวีนิพนธ์ เพราะว่าบทเพลงที่ใช้ถ้อยคำไพเราะ ประณีตงดงามนั้นถือเป็นกวีนิพนธ์อย่างหนึ่ง “หลายครั้งเด็กรับรู้ผ่านการฟัง ทีนี้ก็ต้องไปดูว่าบทเพลงที่เขาฟังนั้นมันให้แง่คิดที่คมคาย หรือมีการใช้ภาษาที่ประณีตงดงามหรือไม่ ในฐานะผู้ใหญ่ เราก็อาจต้องฟังเพลงไปกับเด็กบ้างว่าเขาฟังอะไรกันอยู่”
วิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กไทยหันมาสนใจในการอ่าน และยังดำรงวัฒนธรรมรักการอ่านที่เข้มแข็งได้ นั่นคือการส่งเสริมการอ่านให้มากขึ้น ทำให้เด็กอ่านงานเขียนที่ลึกซึ้งบ้าง จะได้ต่อยอดการเติบโตทางความคิดได้ ซึ่งไม่เพียงแต่ต้องอาศัยบทบาทของครู-อาจารย์เท่านั้น หากแต่บทบาทของครอบครัว ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ
“สังเกตว่า คนที่ชอบอ่านหนังสือส่วนใหญ่มีพื้นจากการปลูกฝังของครอบครัว เช่น คุณพ่อคุณแม่เป็นครู เลยคิดว่า ครอบครัวยังคงมีบทบาทสำคัญมาก พ่อแม่อาจต้องแบ่งเวลาจากการหาเงินมาให้ความสำคัญกับการอ่านของลูกตั้งแต่เขายังเด็ก เพื่อให้เขามีนิสัยรักการอ่านบ้าง” อาจารย์วีรวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย
ดังนั้น หน้าที่หลักอีกประการหนึ่งของครอบครัว ครู อาจารย์ รวมถึงเราทุกคน จึงต้องเดินหน้ากระตุ้นความสนใจของเด็กและนักเรียน ให้สืบสานการใช้ภาษาไทยและคงความเป็นกวีให้อยู่คู่กับสังคมไทยได้ต่อไป…
เรื่องโดย อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th