รักท้องถิ่น จิตอาสา เป้าหมายที่ว่าไกลก็ใกล้เข้ามา
“ทำให้ชุมชนรู้สึกรักและเป็นเจ้าของชุมชนท้องถิ่นของตน บางคนทีจึงมีอาสาสมัครที่มีจิตอาสาร่วมทำงานกับเรา ซึ่งทำให้การก้าวไปสู่เป้าหมายเป็นเรื่องที่อยู่ไม่ไกล”
นางสาวเรณู เล็กนิมิตร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางคนที อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม กล่าว
บ้านบางคนที เดิมนั้นเรียก “บางกุลฑี” แปลว่า หม้อน้ำมีหูที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำ เรียกมาเรื่อยๆ จนเพี้ยนไปเป็นคำว่า “บางกับที” แล้วต่อมาในหมู่บ้านมีวัดเก่าแก่สองวัด คือ วัดบางคณฑีใน และวัดบางคณฑีนอก ต่อมาชาวบ้านจึงเรียกชื่อหมู่บ้านเป็น “บางคนที” และใช้คำนี้มาจนปัจจุบัน
บางคนทีเป็นการรวมตัวกันของสองตำบล คือ ตำบลยายแพงกับตำบลบางคนที บางคนที มีทั้งหมด 8 หมู่บ้าน อีก 5 หมู่บ้าน คือตำบลยายแพง เท่าที่ดิฉันติดตามดูก่อนที่จะเข้ามาทำงาน บางคนทีมีสภาพชุมชนที่ยังไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากนัก โดยทั่วไปเหมือนแยกกันอยู่ แต่ทั้งสองตำบลก็สามารถพึ่งตนเองได้ ซึ่งถือเป็นจุดแข็งอย่างหนึ่ง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสวนผลไม้ มีลำคลองสายเล็กๆ ไหลผ่าน ใช้ประโยชน์ในการสัญจร และการเกษตร โดยอาชีพส่วนใหญ่ที่ชาวบ้านทำคือ สวนมะพร้าวและรับจ้างทั่วไป ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นเด็กและคนชรา ส่วนวัยทำงานมีเป็นส่วนน้อย เพราะเกือบทั้งหมดจะไปทำงานต่างถิ่น ตอนที่เราเข้ามาทำงาน ก็พยายามทำอะไรที่ทำให้พื้นที่สามารถอยู่ได้ เช่น ส่งเสริมอาชีพที่มีอยู่ในพื้นที่ให้เกิดความต่อเนื่อง และพัฒนาให้ยั่งยืน
ดิฉันคิดเสมอว่า สุขภาวะที่ดี คือการอยู่กับการอนุรักษ์ภายใต้การพัฒนา คือเราต้องมีการพัฒนาควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ด้วย ยกตัวอย่างโครงการที่เราทำ เช่น เรื่องของการลงแขกลงคลอง เป็นการอนุรักษ์แม่น้ำลำคลอง แต่ละครั้งมีประชาชนเข้าร่วมประมาณร้อยกว่าคน ก่อให้เกิดจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ แม่น้ำลำคลองสะอาดขึ้น สามารถสร้างจิตสำนึกในการรักษาความสะอาดให้เกิดขึ้นกับผู้คนในชุมชน ทำให้ผู้คนในชุมชนอยากเห็นวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมควบคู่ไปกับการดำรงชีวิตแบบที่อยู่ในยุคที่มีการพัฒนาแบบในปัจจุบัน และยังเกิดความสามัคคีด้วย
จะเห็นว่า การดำเนินการของเรานั้นไม่ได้มองในเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างเดียว แต่จะมองในแบบองค์รวมด้วย เราอยากเห็นชุมชนพึ่งตนเองได้ เมื่อมีผู้มาเยือนหรือนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ หากเขาได้เห็นภาพวิถีชีวิตที่ดี สะอาด สงบ ก็จะทำให้เขาอยากกลับมาอีก
ด้วยเหตุนี้ โครงการสุขภาวะในความคิดของเรา จึงเป็นโครงการที่มุ่งเน้นพัฒนาคน และพัฒนาท้องถิ่นควบคู่กันไป ตัวอย่างของการพัฒนาคนก็เช่น แหล่งเรียนรู้ต่างๆ ต้องมีการพัฒนาตัววิทยากร โฮมสเตย์ก็ต้องมีการพัฒนาที่อยู่อาศัยของตนเอง เพื่อที่จะให้แขกที่มาพักรู้สึกประทับใจ ถ้าดูในระดับพื้นที่ มีการพัฒนาคนในพื้นที่ให้หันมาให้ความสำคัญกับโครงการ มีการขึ้นป้ายโฆษณาโครงการและแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เป็นต้น
อุปสรรคที่สำคัญของเรา คือการทำงานที่ไม่ได้ดั่งใจ เช่น มีเป้าหมายในการทำงานสูง แต่ทำไม่ได้ตรงเป้า อันนี้เราถือว่าเป็นอุปสรรคใหญ่ที่เราต้องหาทางแก้ไข แต่อุปสรรคในเรื่องอื่นๆ เช่น งบประมาณหรืออะไรพวกนี้ ขอแค่เราทำตามหน้าที่ ทำด้วยความตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์สุจริต ทำให้ประชาชนไว้วางใจ การใช้งบประมาณต่างๆ ให้คุ้มค่า ก็คงจะไม่เป็นอุปสรรค
เมื่อเราทำงาน หรือทำโครงการอะไรก็แล้วแต่ เราต้องนำความสุขของประชาชนเป็นที่ตั้ง อันดับที่สองคือ เราจะดูว่างบประมาณที่ใช้ไปคุ้มค่าหรือไม่ เกิดประโยชน์กับประชาชนมากน้อยแค่ไหน นี่เป็นหลักในการทำงานทุกโครงการเลย เมื่อเรายึดสิ่งนี้ไว้ ผลที่เกิดจากการทำโครงการต่างๆ มันจะเกิดประโยชน์กับส่วนรวมและชุมชน
สำหรับความร่วมมือในการทำงานระหว่างเรากับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. นั้น สสส. จะสนับหนุนและส่งเสริมในเรื่องของการพัฒนา เรื่องงบประมาณ ส่วนเราก็ต้องทำงานตอบโจทย์ของ สสส. ให้ได้ ต้องตรวจสอบประเมินการทำงานว่า ใช้งบประมาณได้คุ้มค่ามากแค่ไหน เราสามารถตอบสนองความต้องการของ สสส. ที่ได้ให้งบประมาณมาหรือไม่ อย่างสมมติว่า เรามีปัญหา เราก็สามารถประสานงานกับ สสส. เพื่อขอความช่วยเหลือหรือขอคำแนะนำในเรื่องที่เราไม่รู้ สสส. ก็จะลงมาบูรณาการร่วมกับ อปท. ในการดูแลสุขภาวะของคนในชุมชน ทำให้เกิดประโยชน์กับ อปท. ไม่ว่าจะเรื่องส่งเสริมอาชีพ หรือการทำให้คุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นดีขึ้น
ช่วงที่ สสส. เข้ามาในช่วงแรก เรายังไม่พร้อมเท่าไร คืองานหลักก็มีอยู่แล้ว ต้องแบกรับภาระมากขึ้นอีก แรกๆ เรายังไม่สามารถปรับตัวกับระบบของ สสส. ได้ แต่เมื่อเริ่มไปได้สักพักหนึ่ง ได้เรียนรู้ขั้นตอนต่างๆ ก็ดีขึ้นเป็นลำดับ ในปัจจุบันเราสามารถปรับตัวได้แล้ว โครงการต่างๆ ก็เดินไปข้างหน้า และประโยชน์ที่ได้จากการดำเนินการโครงการต่างๆ ก็แสดงออกมาเป็นผลงานที่จับต้องได้ ชาวบ้านในชุมชนได้ประโยชน์จากการดำเนินการอย่างมาก
สำหรับการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เราต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับ อปท. อย่างต่อเนื่องและในทุกกระบวนการ การที่จะทำอะไร ต้องถามคนในชุมชนก่อน มีการประชาคมกันก่อนที่จะเริ่มหรือรับโครงการ เพื่อปลูกฝังให้คนในชุมชนรู้สึกรักและเป็นเจ้าของชุมชนท้องถิ่นของตน
“บางคนที” จึงมีอาสาสมัครที่มีจิตอาสาร่วมทำงานกับเรา ซึ่งจะทำให้การก้าวไปสู่เป้าหมายเป็นเรื่องที่อยู่ไม่ไกล เพราะสิ่งที่ทุกคนร่วมมือกันทำนั้น ประโยชน์ไม่ได้ไปตกที่อื่น ตกอยู่กับชุมชน และผู้คนในชุมชนต่างก็ได้ประโยชน์ร่วมกัน ต้องสร้างกระบวนการรับรู้ร่วมกันให้เกิดขึ้นก่อน ตรงนี้สำคัญ และจะทำให้เกิดความยั่งยืนขึ้นด้วย
ที่มา : สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3)