ระวัง 5 โรค ช่วงฤดูร้อน
กรมควบคุมโรคเตือน 5 โรคระบาดในฤดูร้อน
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูร้อน เหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย จึงต้องระมัดระวังโรคระบาด 5 โรค ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด อหิวาตกโรค ไข้รากสาดน้อยหรือไข้ไทฟอยด์ นอกจากนี้ ยังมีโรคพิษสุนัขบ้า โรคลมแดด และการป้องกันเด็กจมน้ำ ซึ่งตั้งแต่ต้นปี 2558 มีรายงานผู้ป่วยทั้ง 5 โรคแล้ว รวม 197,504 ราย เสียชีวิต 2 ราย ที่พบมากอันดับ 1 คือ โรคอุจจาระร่วง 175,270 ราย เสียชีวิต 2 ราย
ดังนั้น กรมฯ ได้จัดทำประกาศแจ้งเตือนให้ระวังโรคจากภัยสุขภาพ ส่งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทุกจังหวัด สำนักอนามัย กทม. และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 แห่ง เพื่อเตรียมพร้อมดูแลประชาชนในพื้นที่ประสบกับภาวะแล้ง โดยเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ของโรคในพื้นที่ ควบคุมโรคกรณีระบาด และสื่อสารความเสี่ยงประชาสัมพันธ์ เน้นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง
นพ.โสภณ กล่าวว่า การป้องกันตนเอง ขอให้ยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ส่วนโรคที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ โรคพิษสุนัขบ้า โรคลมแดด และการป้องกันเด็กจมน้ำ โดยโรคพิษสุนัขบ้าในปี 2557 มีผู้เสียชีวิต 6 ราย มีผู้เสียชีวิตทุกปี พาหะหลักคือสุนัข และแมว ติดโรคจากการกัด ข่วน หรือเลียผิวหนังคนมีแผล โรคนี้ไม่มียารักษา แต่ป้องกันได้ด้วยการนำสุนัขทุกตัวไปรับการฉีดวัคซีน และลดความเสี่ยงจากการถูกสุนัขกัดคือ อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ อย่ายุ่ง ส่วนโรคลมแดด เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกิน ทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส อาการที่พบเบื้องต้น ได้แก่ อ่อนเพลีย หน้ามืด เป็นลม หากรุนแรงอาจมีอาการตัวร้อนจัด คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้
"บุคคลที่มีความเสี่ยงว่าจะเกิดโรคลมแดด ได้แก่ ทหารที่เข้ารับการฝึกโดยไม่เตรียมร่างกายให้พร้อมต่อสภาพอากาศร้อน นักกีฬาสมัครเล่น ผู้ที่ทำงานในอากาศร้อนชื้น รวมถึงผู้สูงอายุ เด็ก คนอดนอน คนดื่มสุราจัด และผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ส่วนวิธีป้องกัน ควรดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้าน หากอยู่ในสภาพอากาศร้อนดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้ทำงานในร่มก็ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว สวมเสื้อผ้าที่มีสีอ่อน ไม่หนา และระบายความร้อนได้ดี หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดด ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด หลีกเลี่ยงการกินยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ควรให้การดูแลเด็ก และผู้สูงอายุเป็นพิเศษ" อธิบดี คร. กล่าวและว่า เรื่องการป้องกันเด็กจมน้ำ เป็นเรื่องสำคัญ เพราะตรงกับช่วงปิดเทอม โดยพบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 มาตรการที่ต้องยึดไว้ใช้ยามฉุกเฉิน คือ“ตะโกน โยน ยื่น”
ที่มา : เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต