ระวัง! เมล็ดมันแกวแก่ มีพิษถึงตาย
กรมวิทย์เตือนห้ามกิน "เมล็ดมันแกวแก่" มีสารพิษโรทีโนน มีฤทธิ์ฆ่าแมลง เป็นพิษต่อคนและสัตว์ ชี้กินแล้วทำระบบทางเดินอาหารระคายเคือง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ถ้าได้รับพิษมาก ส่งผลระบบทางเดินหายใจ ช็อก ถึงขั้นเสียชีวิต
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบการรายงานเสียชีวิตจากการกินเมล็ดมันแกวหลายราย ล่าสุด พบผู้ป่วย 1 ราย ที่ จ.ศรีสะเกษมีอาการป่วยจาการกินเมล็ดมันแกวต้มสุกแล้วมีอาการคล้ายได้รับสารพิษอย่างรุนแรงและเสียชีวิต โดย รพ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ ได้ส่งตัวอย่างเมล็ดมันแกวมายังศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 อุบลราชธานี และส่งต่อมาตรวจวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการศูนย์พิษวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทย์ ซึ่งจากตรวจวิเคราะห์พบสารโรทีโนน ที่มีฤทธิ์เป็นสารเคมีกำจัดแมลง โดยปริมาณ 132-1,500 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมสามารถทำให้หนูตายได้
"จริงๆ แล้วเมล็ดมันแกวสามารถกินได้ แต่ต้องเป็นฝักและเมล็ดอ่อน ซึ่งในภาคอีสานนิยมนำมากินเป็นผักสดกับส้มตำ ส่วนฝักและเมล็ดแก่จะเป็นพิษ มีสารที่มีฤทธิ์เป็นสารกำจัดแมลง ซึ่งสารโรทีโนนเป็นสารพิษชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในเมล็ดมันแกวอยู่แล้ว ร่วมกับ อีโรโซน และโดลินีโอน ทั้งนี้ พิษของโรทีโนนทำให้เกิดอาการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง และถ้าได้รับพิษปริมาณมาก อาการจะรุนแรงขึ้น มีผลต่อระบบการหายใจ คือ หยุดหายใจ ชัก และอาจถึงแก่ชีวิต" อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว
นพ.อภิชัย กล่าวว่า การช่วยเหลือผู้ที่เกิดอาการพิษจากการกินเมล็ดมันแกวคือ ทำให้อาเจียนเร็วที่สุดเพื่อกำจัดเศษพืชพิษในกระเพาะอาหาร และให้ดื่มนม ไข่ขาว เพื่อลดการดูดซึมของสารพิษ และนำส่งโรงพยาบาลทันที แพทย์จะรักษาแบบประคับประคองอาการ เพราะไม่มียารักษา เช่น ใส่เครื่องช่วยหายใจหากหยุดหายใจ ให้น้ำเกลือและยาตามความเหมาะสม เป็นต้น โดยพิษจะค่อยๆ ถูกขับออกทางปัสสาวะ ส่วนการป้องกันที่ดีที่สุดคือ ไม่นำเมล็ดแก่ของมันแกวมากิน และควรรู้เกี่ยวกับลักษณะทั่วไปของมันแกว รวมทั้งอันตรายที่เกิดจากการกินเมล็ดมันแกว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันและรักษาพิษเบื้องต้น ก่อนนำส่งโรงพยาบาลเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต
ทั้งนี้ มันแกว เป็นพืชที่มีหัวใต้ดิน ในประเทศไทยชื่อเรียกต่างกันไปตามภูมิภาค เช่น มันละแวก มันลาว มันเพา หัวแปะกัว โดยส่วนหัวสามารถนำไปประกอบอาหารได้ทั้งคาวและหวาน เช่น แกงส้ม แกงป่า ผัดเปรี้ยวหวาน หรือใช้เป็นส่วนผสมของซาลาเปา และทับทิมกรอบ ฝักอ่อนสามารถนำมาต้ม กินเป็นเครื่องเคียงกับน้ำพริกได้
ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต