ระวัง!! สารปนเปื้อนในของเล่นเด็ก

เตือนผู้ปกครองสังเกตตรา มอก. ก่อนซื้อ

 

 ระวัง!! สารปนเปื้อนในของเล่นเด็ก

          นพ. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้แทนราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ในฐานะหัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยในงานแถลงข่าวเรื่อง “อันตรายจากของเล่นเด็กและอุบัติเหตุใน กทม.” ที่แพทยสภา ว่า

 

          ในปี 2551 ราชวิทยาลัยฯ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ห้องปฏิบัติการตรวจสอบความปลอดภัยของเล่นอินเตอร์เทค และเอส จี เอส ได้เก็บตัวอย่างของเล่นในศูนย์พัฒนาเด็ก กทม. 23 แห่ง ตรวจหาสารตะกั่ว

 

          พบว่าของเล่นเด็กจาก 4 แห่ง มีสารตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐาน คือ 600 มล./กก. คิดเป็นร้อยละ 17 นอกจากนี้ ยังเก็บตัวอย่างของเล่นที่มีการวางขายหน้าโรงเรียนในกรุงเทพฯ 26 แห่ง พบ 4 แห่ง มีสารตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐาน คิดเป็นร้อยละ 15

 

          นพ.อดิศักดิ์กล่าวว่า นอกจากนี้ ได้ซื้อของเล่นจากห้างและตลาดทั่วไปในกรุงเทพฯ พิจิตร บุรีรัมย์ สระแก้ว และชลบุรี 126 ชิ้น ส่งตรวจคุณสมบัติทางกายภาพ 50 ชิ้น พบว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 9 ชิ้น คิดเป็นร้อยละ 18 โดยมีเสียงดังเกิน 75-85 เดซิเบล เป็นอันตรายต่อเซลล์ประสาทการได้ยิน 4 ชิ้น

 

          เส้นสายยาวเกินกว่า 30 ซม. เสี่ยงต่อการพันรัดคอเด็ก 3 ชิ้น มีช่องรูระหว่าง 5-12 มล. เสี่ยงต่อนิ้วเด็กติดค้างในช่องรู 2 ชิ้น และมีขอบแหลมคม 1 ชิ้น รวมถึงส่งตรวจคุณสมบัติทางเคมี 80 ชิ้น พบว่ามีสารตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐาน 6 ชิ้น คิดเป็นร้อยละ 7.5 ซึ่งมีผลให้ไอคิวต่ำ

 

          “พ่อแม่ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ให้เด็ก ที่มีตรา มอก.รับรอง แม้จะไม่ปลอดภัย 100% แต่ก็พอที่จะบรรเทาอันตรายได้ในระดับหนึ่ง” นพ.อดิศักดิ์กล่าว และว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจหาสารปนเปื้อนในเครื่องมือศิลปะในศูนย์เด็กเล็ก อาทิ ดินน้ำมัน สีแท่ง สีเทียน สีทาบ้าน ฯลฯ คาดว่าอีก 3 เดือนจะรู้ผล

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

update 08-01-52

 

Shares:
QR Code :
QR Code