ระวังแสงแดดในหน้าร้อน กระตุ้นให้โรคผิวหนัง มากกว่า 40 ชนิด

 

เผยคนผิวขาวมีโอกาสเกิดสูงถึง 1 ใน 3 คน

 ระวังแสงแดดในหน้าร้อน กระตุ้นให้โรคผิวหนัง มากกว่า 40 ชนิด

 

นายแพทย์ประวิตร พิศาลบุตร แพทย์โรคผิวหนัง อดีตนักวิจัยสถาบันสาธารณสุขแห่งชาติสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า แสงแดดมีผลเสียต่อผิวหนัง โดยผลเสียที่เกิดขึ้นทันทีคือ ทำให้โรคผิวหนังมากกว่า 40 ชนิดกำเริบ เช่น ผิวไหม้แดด ผิวคล้ำลง โรคเอสแอลอี (sle) ที่มีอาการปวดข้อและมีผื่นแดงรูปปีกผีเสื้อที่แก้ม สิวบางชนิดกำเริบเมื่อโดนแดด เริม ฝ้า-กระเข้มขึ้น โรคผิวด่างแดด โรคพอร์ไฟเรีย (porphyria) ที่มีอาการปวดท้อง ผิวไหม้แดดเป็นแผลและตุ่มน้ำ

 

บางรายมีฟันสีแดง เชื่อว่าแดร็กคิวล่าน่าจะเป็นโรคนี้ เพราะมีอาการกลัวแสงแดดและแพ้กลิ่นกระเทียม เนื่องจากผู้ป่วยโรคพอร์ไฟเรียมีผิวไหม้แดดอย่างรุนแรง จึงกลัวแสงแดดมากและมักออกมาใช้ชีวิตหลังดวงอาทิตย์ตกแล้ว พบว่ากระเทียมทำให้โรคพอร์ไฟเรียกำเริบ ผู้เป็นโรคนี้จึงกลัวกระเทียม ส่วนผลเสียของแสงแดดที่สะสมระยะยาว ได้แก่ ผิวเหี่ยวแก่ เนื้องอกขั้นก่อนเป็นมะเร็ง และมะเร็งผิวหนัง สมาคมโรคมะเร็งของอเมริการะบุว่า คนอเมริกัน (รวมทุกสีผิว) 1 ใน 5 คนมีโอกาสเกิดมะเร็งผิวหนัง แต่ถ้าดูเฉพาะคนผิวขาวโอกาสเกิดมะเร็งผิวหนังสูงถึง 1 ใน 3 คน ส่วนคนไทยก็พบมะเร็งผิวหนังบ่อย เนื่องจากมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้น, มีกิจกรรมกลางแดด, มีการตรวจและให้ความสำคัญกับมะเร็งผิวหนังมากขึ้น

 

นพ.ประวิตรกล่าวว่า บางครั้งนักท่องเที่ยวหรือนักกีฬาไม่ชอบทายากันแดด เพราะทำให้แสบตา และทำให้เล่นกีฬาไม่ดี การทายากันแดดแล้วแสบตามากพบได้บ่อย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้เล่นกอล์ฟ หรือเล่นกีฬากลางแจ้ง เช่น เทนนิส ที่ต้องทายากันแดดหนาๆ เมื่อเหงื่อไหลเข้าตาจะแสบตา การทายากันแดดจึงไม่ควรทาชิดดวงตา ให้เว้นระยะไว้สักครึ่งนิ้ว และควรมีผ้าซับใบหน้าเวลาที่เหงื่อออกมากๆ โดยเฉพาะบริเวณหน้าผากและรอบตา อาจทายากันแดดที่หน้าผากบางๆ หรือใช้หมวกป้องกันแสงแดดร่วมด้วย หมวกที่ป้องกันแดดได้ผลดีต้องมีขอบหรือปีกกว้างขนาด 4 นิ้วรอบศีรษะ การทายากันแดดอาจทำให้เล่นกีฬาไม่ได้ดีจริง เพราะเนื้อครีมกันแดดทำให้มือลื่น จับอุปกรณ์กีฬาไม่ถนัด เนื้อครีมยังทำให้ร่างกายหลั่งเหงื่อลดลง ระบายความร้อนที่เกิดขณะออกกำลังกายไม่ได้ เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น สมรรถภาพร่างกายจึงลดลง นักกีฬาจึงต้องเลือกยากันแดดที่มีเนื้อครีมซึมซาบผิวที่ดีซึ่งไม่ขัดขวางการหลั่งเหงื่อ

 

นพ.ประวิตรแนะนำว่า ถ้ามีกิจกรรมกลางแดด ต้องอยู่นานๆ เกิน 20 นาทีต้องทายากันแดด ให้ใช้ยากันแดดที่มีค่า spf 15 ขึ้นไป แต่ถ้าต้องออกโดนแดดเป็นเวลานานมาก ต้องใช้ยากันแดดที่มี spf 30 ขึ้นไป ทาก่อนโดนแดดนาน 15-30 นาที และทาซ้ำอย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง แต่ถ้าว่ายน้ำหรือเล่นกีฬากลางแจ้งก็ต้องทาบ่อยกว่านี้ ต้องไม่ลืมดูวันหมดอายุก่อนใช้ ยากันแดดมีอายุการใช้งานนาน 3 ปี

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

update 01-04-51

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ