ระวังอหิวาต์เทียม แนะกินอาหารปรุงสุก
สธ.เตือนเชื้ออหิวาต์เทียมในเลือดไก่ กรมควบคุมโรคเร่งตรวจ ปกติพบในอาหารทะเล อาจเป็นกรณีแรกของโลกพบในไก่ แนะต้มเลือดไก่สุก ความร้อนไม่ต่ำกว่า 75 องศาฯ นาน 15 นาที
สธ.เตือนเชื้ออหิวาต์เทียมในเลือดไก่ กรมควบคุมโรคเร่งสอบสวนหาต้นตอด่วน ปนเปื้อนได้อย่างไรชี้ตามปกติพบในอาหารทะเล เป็นเชื้อที่ชอบน้ำเค็ม หรือน้ำกร่อย พบในหอยแครง หอยนางรม กุ้ง อาจเป็นกรณีแรกของโลกที่พบในไก่ ล่าสุดสั่งปิดโรงงานเลือดไก่แล้ว 1 แห่ง สุ่มตรวจอีก 27 แห่ง แนะนำให้ต้มเลือดไก่สุก ความร้อนไม่ต่ำกว่า 75 องศาฯ นาน 15 นาที ก็ปลอดภัยแล้ว
จากกรณีมีผู้เผยแพร่หนังสือจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ที่ส่งถึง ผอ. โรงพยาบาล และสาธารณสุขอำเภอทั้ง 32 อำเภอ จ.นครราชสีมา เตือนเรื่องพบผู้ป่วยติดเชื้ออหิวาต์เทียม โดยสันนิษฐานว่าเกิดจากการกินข้าวมันไก่ ที่มีส่วนผสมของเลือดไก่ สร้างความแตกตื่นในหมู่ประชาชน จนไม่กล้า กินข้าวมันไก่
ต่อมา นพ.วิชัย ขัตติยวิทยากุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด พร้อมด้วยตัวแทนจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรค สำนักงานปศุสัตว์ ร่วมหารือและยอมรับว่าพบเชื้อดังกล่าวจริง เนื่องจากโรงงานผลิตไม่ได้มาตรฐาน แต่ไม่รุนแรงถึงขั้นต้องงดบริโภคเลือดไก่ เพราะเชื้ออหิวาต์เทียมนั้น หากปรุงอาหารให้สุกด้วยความร้อนตั้งแต่ 75-100 องศาเซลเซียส นาน 15 นาที เชื้อก็จะตาย ไม่ถึงขั้นต้องเลิกกินตามที่ร่ำลือกัน ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 14 ม.ค. ที่กรมควบคุมโรค นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีตรวจพบเชื้ออหิวาต์เทียม หรือเชื้อ วิบริโอ พาราฮิโมไลติคัส ในเลือดไก่ที่นำมาทำข้าวมันไก่ว่า จากการสอบสวนโรคพบว่าพบเชื้อในเลือดไก่เท่านั้น กรมควบคุมโรคแจ้งเตือนว่าควรรับประทานเลือดไก่ชนิดที่ทำให้สุกแล้วเท่านั้น ด้วยการต้มด้วยอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 75 องศาเซลเซียส นาน 15 นาที
นพ.โสภณกล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน ประสานไปยังกรมปศุสัตว์เพื่อให้ดูแลตั้งแต่โรงเชือด และประสานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ตรวจดูเรื่องมาตรฐานการส่งอาหาร รวมทั้งกรมอนามัย เพื่อให้ทำตามสุขาภิบาล เพราะพบว่าหากใช้เขียงเดียวกัน เชื้อก็อาจจะติดไปที่เนื้อไก่ได้ ก่อนหน้านี้เคยเตือนแล้วว่าการที่มือเป็นแผล ไม่ควรสับไก่ขาย ไม่ทิ้งวัตถุดิบให้ค้างมื้อ และแยกเขียงกับมีดสำหรับหั่นเลือดไก่ต่างหาก ในกรณีสับไก่ต้มเพื่อเสิร์ฟนั้น ต้องใส่ถุงมือพลาสติก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอาหารเป็นพิษ และยืนยันว่าข้าวมันไก่ยังเป็นอาหารที่กินได้ตามปกติ
ส่วน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดี กรมควบคุมโรค กล่าวว่าประสานความร่วมมือ ไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมปศุสัตว์ที่สั่งปิดโรงงาน 1 แห่ง ภายหลังตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้อในเลือดไก่แล้ว และสุ่มตรวจอีก 27 แห่ง ส่วนร้านข้าวมันไก่นั้น ประสานกรมอนามัยเข้าไปแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขลักษณะ โดยเลือดไก่ที่ต้มสุกดี จะมีสีเข้ม และเนื้อแข็งกว่าเลือดไก่สุกไม่ดี ที่มีสีแดงๆ กลิ่นคาวและเนื้อนิ่มหยุ่น ตามปกติเชื้ออหิวาต์เทียมจะอยู่ในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะน้ำเค็ม หรือน้ำกร่อย จึงพบการปนเปื้อนบ่อยในอาหารทะเลเป็นส่วนใหญ่ ประเภท หอยแครง หอยนางรม และกุ้ง
"การที่เชื้อนี้ปนเปื้อนในไก่ไม่ใช่เรื่องง่าย หากเป็นการติดเชื้อในไก่ได้จริง ก็ถือเป็นครั้งแรกของโลกที่สอบสวนและตรวจสอบแล้วพบว่ามีการปนเปื้อนเชื้อนี้ในเลือดไก่ แต่ต้องมีการตรวจสอบต่อไปว่าเชื้อปนเปื้อนในเลือดไก่ได้อย่างไร เพราะสามารถเกิดการปนเปื้อนได้ในกระบวนการอื่นด้วย กำลังสอบสวนโรคในทุกทางอยู่" รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว
ขณะที่ พญ.ดารินทร์ อารีย์โชคชัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกันสาขาระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการที่ทีมระบาดพบนักเรียนในภาคเหนือท้องเสียพร้อมๆ กัน หลายโรงเรียน เมื่อสอบสวนพบว่ามาจากเมนูข้าวมันไก่เหมือนกัน จึงสอบสวนโรค พบเชื้ออหิวาต์เทียม ทั้งในข้าวมันไก่ ในตลาด รถขนส่งไก่ และโรงงานผลิต พบว่าโรงงานทำเนื้อไก่และเลือดไก่แยกออกจากกัน โดยที่โรงงานพบทั้งในเลือดที่ต้มสุกแล้ว และเลือดสดๆ ดิบๆ ที่ใช้รางรอรับจากคอไก่ เท่ากับว่าเลือดไก่ปนเปื้อนเชื้อนี้ตั้งแต่เป็นเลือดดิบ ขณะนี้กรมควบคุมโรคร่วมกับกรมปศุสัตว์ อยู่ระหว่างสอบสวนว่าเกิดการปนเปื้อนของเชื้ออหิวาต์เทียมในเลือดไก่ในโรงงานผลิต ได้อย่างไร เนื่องจากเชื้อชนิดนี้พบในอาหารทะเลเป็นส่วนใหญ่
"จากการตรวจสอบโรงงาน พบว่าในการต้ม เลือดไก่ ใช้อุณหภูมิ 70-80 องศาเซลเซียส แต่เพราะผลิตเยอะ เลือดก้อนใหญ่ การใช้เวลาสั้นๆ ทำให้สุกไม่ถึงใจกลางก้อนเลือดไก่ เชื้อที่ปนเปื้อนมาจึงยังคงอยู่ในเลือดไก่ ประกอบกับในขั้นตอนการขนส่ง จะเก็บเลือดในน้ำเกลือ ซึ่งเป็นลักษณะสภาพแวดล้อมที่เชื้อชนิดนี้ชอบ คือมีความเค็ม ทำให้เชื้อหลงเหลืออยู่เติบโตเพิ่มจำนวนมากขึ้นอีกได้ เมื่อประชาชนซื้อไปรับประทานแล้วไม่ต้มซ้ำให้สุกจริงๆ จึงมีโอกาสได้รับเชื้อ" พญ.ดารินทร์กล่าว
ด้าน นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผอ.สำนักโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่าอหิวาต์เทียม เกิดจากเชื้อวิบริโอ พาราฮิโมไลติคัส ผู้ได้รับเชื้อจะมีอาการป่วย อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว อาจมีไข้ หรืออาการอื่นๆ ร่วมด้วย แต่เป็นอาการที่น้อยกว่าเชื้ออหิวาต์แท้ที่เกิดจากเชื้อวิบริโอ คลอเรลลา ที่ปัจจุบันพบผู้ป่วยน้อยมากในประเทศไทย ส่วนอหิวาต์เทียมนั้น อาการ จะดีขึ้นภายใน 3 วัน มีอัตราเสียชีวิตน้อยกว่า อยู่ที่ 1 ต่อ 1,000
ที่มา : เว็บไซต์ข่าวสด
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต