ระวังลาบเหล้า ยำเหล้า

เป็นสูตรค็อกเทลอันตรายทำร้ายระบบภายใน

 

ระวังลาบเหล้า ยำเหล้า

               นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ในกลุ่มผู้ชายไทยบางกลุ่ม ยังมีความเชื่อว่า การดื่มสุราเป็นการบรรเทาความเมื่อยล้าหลังทำงานได้ หรือดื่มเป็นยากระตุ้นให้อยากอาหาร ส่วนกลุ่มผู้หญิงมักเชื่อว่าดื่มเหล้าจะทำให้หญิงหลัง คลอดมดลูกเข้าอู่เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งอาจเป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้การบริโภคเครื่องดื่มประเภทนี้มีปริมาณมากขึ้น ที่น่าห่วงคือปัจจุบันนี้ พบว่ารสนิยมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชนบางกลุ่มเปลี่ยนไป โดยนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลายๆ ชนิด ทั้งเหล้า เบียร์ สาโท กระแช่ มาผสมกัน เป็นสูตรค็อกเทล รู้จักในวงเหล้าว่า ลาบเหล้า ยำเหล้า เพราะเชื่อว่าจะทำให้มีรสชาติดีกว่าดื่มชนิดเดียว รวมทั้งยังผสมเครื่องดื่มผสมกาเฟอีนหรือยาชูกำลัง ใส่ลงไปด้วย เพราะเชื่อว่าจะทำให้ดื่มได้นานขึ้น ไม่เมาง่าย และไม่ทำให้อ่อนเพลีย

 

               นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวด้วยว่า ความเชื่อเหล่านี้จัดว่ามีอันตรายมาก และไม่ควรริลองทำ เนื่องจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์มีผลต่อร่างกายทุกระบบ โดยกดการทำงานของระบบประสาท โดยเฉพาะสมอง ทำให้ร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองช้าลง

 

               ประการสำคัญแอลกอฮอล์เป็นสารพิษที่ร่างกายไม่ต้องการ ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์พร้อมที่จะทำลายอวัยวะภายในร่างกายที่แอลกอฮอล์ไหลผ่าน หากผู้ดื่มเป็นโรคความดันโลหิตสูงซึ่งผนังหลอดเลือดมีความแข็งอยู่แล้ว เมื่อดื่มสุราเข้าไป ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้หลอดเลือดขยายตัว อาจทำให้เส้นเลือดในสมองแตก เสียชีวิต หรือพิการ เป็นอัมพาตตามมาได้ ส่วนกาเฟอีนในเครื่องดื่มชูกำลังมีฤทธิ์กระตุ้นสมองให้ตื่นตัวมากขึ้น จะทำให้ผู้ดื่มสุรามีความตื่นตัวและง่วงน้อยลง จึงทำให้ผู้ดื่มมีความรู้สึกเหมือนว่าอาการมึนเมาลดลง ซึ่งฤทธิ์ของกาเฟอีนนี้ไม่สามารถต้านฤทธิ์และลดความมึนเมาจากการดื่มสุราได้ การนำเครื่องดื่มชูกำลังผสมดื่มพร้อมเหล้า จะเป็นการฝืนร่างกายให้ทำงาน ในขณะที่อยู่ในสภาพที่ไม่พร้อม อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย และเสียชีวิตได้ อีกทั้งการดื่มแอลกอฮอล์ยิ่งมากเท่าใด ตับก็จะทำงานมากขึ้นเท่านั้นเพื่อทำลายพิษแอลกอฮอล์

 

               ขณะเดียวกันฤทธิ์แอลกอฮอล์จะทำลายเซลล์ของตับไปด้วย ถึงขั้นตับวาย และเสียชีวิตได้ เซลล์ของตับนี้เมื่อสูญเสียแล้วจะเสียอย่างถาวร ไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับมาทำงานเหมือนเดิมได้

 

 

 

 

 

ที่มา: เฮลล์คร์อนเนอร์

 

 

 

update: 19-04-53

อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร

 

Shares:
QR Code :
QR Code