ระวังภัยที่มาพร้อมลมหนาว
ช่วงระยะเวลานี้ เปรียบเสมือน ฤดู หรือ เทศกาล ของ "มหันตภัย ภัยพระเพลิง" ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเป็นประจำของทุกๆ ปี เมื่อสิ้นฤดูกาลน้ำท่วมผ่านพ้นไป เรื่องของ "อัคคีภัย หรือ ไฟไหม้" ก็จะตามมา ดังที่เรียกกันว่า "น้ำไป-ไฟก็จะมา"
เมื่อย่างเข้าฤดูหนาว อากาศจะแห้งแล้ง ลมพัดแรงตามธรรมชาติอยู่แล้ว และเมื่อเกิดมีไฟไหม้รุนแรงบริเวณที่เกิดเหตุ อากาศจะเริ่มขยายตัวเมื่อถูกความร้อน จะเกิดความปั่นป่วนรุนแรงเหมือนกับเกิดพายุหมุน วนไปวนมาในที่เกิดเหตุ ทำให้เกิดไฟลุกลามขยายตัวได้รวดเร็วเป็นบริเวณกว้าง ถ้าไม่สามารถควบคุมเพลิงได้ "สมาคมปลอดภัยไว้ก่อน และ สสส." มีความห่วงใยต่อชีวิตและทรัพย์สินที่สูญสิ้นไปกับกองไฟ โดยเฉพาะเรื่องของอัคคีภัย เป็นภัยที่คนเราสามารถเตรียมการและป้องกันได้ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นมาจริงๆ แล้ว หากมีความรู้ ความเข้าใจ และรู้ทันไฟ ก็จะสามารถระงับเหตุได้ทันท่วงทีก่อนที่ไฟจะขยายตัวได้
สาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ และการเตรียมความพร้อม
1. ไฟฟ้าช็อต ไฟฟ้าลัดวงจร จัดเป็นลำดับต้นๆ ของการเกิดอัคคีภัย เพราะลักษณะของเกิดไฟฟ้าลัดวงจร จะเกิดเสียงระเบิดดังเป็นระยะๆ แล้วเกิดลูกไฟ ประกายไฟกระเด็น กระจัดกระจาย เหมือนจุดดอกไม้ไฟ และมีกลิ่นไฟไหม้ยางเหม็นฉุนมากกว่าการเผายางตามปกติ ไฟฟ้าเมื่อเกิดลัดวงจร เปรียบเสมือนมีแข้งมีขา ทั้งเดินและวิ่งได้ แตกต่างกับไฟไหม้เชื้อเพลิงธรรมดาที่โดยทั่วๆ ไปจะค่อยๆ ลุกไหม้ไปช้าๆ
การเตรียมการ เตรียมความพร้อม โดยทั่วไปทั้งอาคาร บ้านเรือน สถานที่ต่างๆ วัตถุที่เป็นเชื้อเพลิงทุกชนิดที่สามารถติดไฟได้ ต้องจัดเก็บให้ห่างจาก "แผงไฟฟ้า และ ตู้คอนโทรลไฟฟ้า" ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ทุกครั้ง ให้สันนิษฐานว่าเป็นไฟฟ้าช็อต ไฟฟ้าลัดวงจรทันทีเป็นอันดับแรก ให้ตรวจพิจารณาคัทเอาท์ไฟ ถ้าไม่มีร่องรอยการลุกไหม้ให้ดึงคัทเอาท์ ไฟฟ้าลงเพื่อตัดระบบไฟทันที ไฟฟ้าที่ลัดวงจรก็จะหยุดเดินหยุดวิ่ง
อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและสิ่งอำนวยความสะดวกทุกชนิด เมื่อเกิดไฟฟ้าช็อต ไฟฟ้าลัดวงจร เกิดไฟลุกไหม้ วิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องคือ ให้พิจารณาปลั๊กไฟฟ้าที่เสียบว่ามีรอยไหม้หรือไม่ ถ้าไม่มีรอยไหม้ให้ดึงปลั๊กไฟฟ้าที่เสียบออกทันที เมื่อถอดปลั๊กออกแล้ว จุดที่เกิดเหตุก็จะเป็นเชื้อเพลิงธรรมดา ถ้ามีเปลวไฟลุกไหม้หรือมีความร้อนมาก ก็ใช้น้ำฉีดพรมให้เย็น แล้วเคลื่อนย้ายออกจากห้องที่เกิดเหตุ แล้วเปิดประตูหน้าต่างระบายควัน ซึ่งเป็นวิธีการที่ถูกต้องและดีที่สุด
ถ้าจำเป็นจริงๆ หรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องใช้ถังดับเพลิงฉีดดับไฟฟ้า ขณะที่ยังมีกระแสไฟฟ้าไหลอยู่ ถังดับเพลิงนั้นจะต้องมีสัญลักษณ์ รูปวงกลมสีฟ้ามีอักษรภาษาอังกฤษ Cอยู่ตรงกลางเท่านั้น ถ้าไม่มีห้ามฉีดดับไฟฟ้าขณะที่ยังมีกระแสไฟฟ้าไหลอยู่ ทำให้เกิดอันตรายเสียชีวิตได้
พึงระลึกเสมอว่า เครื่องหมายบ่งบอกประเภทของไฟ หมายถึง ฉีดดับไฟไหม้ ขณะที่ยังมีกระแสไฟฟ้าไหลอยู่ ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้เท่านั้น แต่สายไฟฟ้าที่เป็นทองแดงก็ยังมีกระแสไฟฟ้าไหลอยู่ตามปกติ ไม่ใช่ฉีดดับแล้วตัดกระแสไฟฟ้าได้เหมือนกับการดึงคัทเอาท์ลงเพื่อตัดกระแสไฟฟ้า
2. ถังดับเพลิง ต้องตรวจสอบความพร้อมให้ใช้การได้ตลอดเวลา อย่าเอาการตรวจสอบ ระยะ วัน เดือน ปี มาเป็นข้อกำหนดของการตรวจสอบเพียงอย่างเดียว
3. ทุกคนต้องเรียนรู้ การฉีดใช้ถังดับเพลิงขั้นต้น เมื่อไฟเริ่มไหม้ เริ่มเกิด ต้องรู้วิธีฉีดดับให้ได้
4. เกิดเหตุไฟไหม้ อยู่ในที่เกิดเหตุไม่ได้ ก่อนหนีออกไปให้รีบปิดประตู หน้าต่าง ท่อทางต่างๆ ที่ลมจะพัดเข้าไปให้ไฟกระพือโหมลุกไหม้ได้ ให้ปิดให้หมด เพราะช่วงนี้อากาศแห้งแล้ง ลมพัดแรง ทำให้ไฟลุกลามได้รวดเร็ว
5. รีบแจ้งเหตุไฟไหม้ ไปที่หมายเลขโทรศัพท์ 199 ทันที แจ้งรายละเอียดให้มากที่สุด และเมื่อรถดับเพลิงไปถึง ต้องชี้นำทางอำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก พ.ต.ท.บุญเรือง แสงดาวผู้ชำนาญงานด้านการระงับอัคคีภัยและบรรเทาสาธารณภัย ที่ปรึกษาสมาคมปลอดภัยไว้ก่อน
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน