ระวังภัยทางทะเลแบบ บ้านมดตะนอย
สุภาษิตที่มีความหมายถึงออกทะเลอย่าประมาท เพราะอันตรายเกิดได้ทุกเมื่อ คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่ชาวประมง จะนำมาใช้ได้แล้ว ในยุคที่สภาพอากาศทั่วโลก และในประเทศไทย กำลังอยู่ในความแปรปรวน
กลางเดือน ม.ค. ปีนี้ ทั่วทุกภาคของไทยยังคงมีสภาพอากาศหนาวเย็นจัด โดยเฉพาะบนยอดดอยอุณหภูมิเหนือยอดหญ้า ถึงขั้นติดลบ 4 องศาเซลเซียส จนเกิดน้ำค้างแข็งขาวโพลน
ทว่าสภาพอากาศที่หนาวเย็น และหนาวนานเช่นนี้ ในแง่บวกอาจส่งผลดีต่อการท่องเที่ยว แต่สำหรับชุมชนบนภูเขาสูงที่ต้องเผชิญกับอากาศที่แปรปรวน หรือแม้แต่ชาวประมงชายฝั่ง ที่ต้องออกเรือท่ามกลางคลื่นลมแรงผิดปกติ คงไม่เรื่องสนุกแน่
ข้อเท็จจริงนี้ได้รับการยอมรับแล้ว “ตอนนี้ชาวประมงที่บ้านมดตะนอย บอกว่าที่เคยใช้ภูมิปัญญาในการสังเกตง่ายๆ เช่น ถ้าไม้ลอยในน้ำตั้งขึ้นจะมีพายุ แต่ตอนนี้ใช้กลับใช้ไม่ได้แล้ว เพราะทั้งคลื่นลม บางทีก็มาแบบไม่ตั้งตัว” เกศินี แกว่นเจริญ นักวิจัย และเจ้าหน้าที่ข้อมูล จากมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน บอกข้อเท็จจริง
เธอเล่าว่า หลังเหตุการณ์สึนามิในปี 2547 ชุมชนประมงชายฝั่งในทะเลอันดามัน ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทั้งในแง่การทำมาหากิน และการรับมือการเตือนภัยธรรมชาติ และหนึ่งในนั้นก็คือประมงที่บ้านมดตะนอย ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งกว่า 90% ของ 330 ครัวเรือนยังยึดอาชีพประมงชายฝั่งเป็นหลัก โดยมีเรือประมาณ 197 ลำซึ่งการออกไปทำประมงในทะเลนั้นส่วนใหญ่จะเป็นหน้าที่ของผู้ชายขณะที่ผู้หญิงจะมีหน้าที่นำสินค้าไปขายและดูแลรักษาเครื่องมือประมง
วิถีอาชีพของชาวประมงพื้นบ้านในชุมชนนี้ต้องพึ่งพาวัฐจักรน้ำขึ้น – น้ำลงในการออกเรือประมงในแต่ละวัน โดยจะเริ่มออกเรือตั้งแต่รุ่งเช้าตี 3 ถึงตี 5 เพื่อจับปลาและสัตว์ทะเลบริเวณใกล้ชายฝั่ง โดยการวางอวนและเครื่องมือจับสัตว์น้ำอื่นๆ ในรัศมีประมาณ 15 – 20 กิโลเมตรจากแผ่นดิน และจะกลับเข้าฝั่งประมาณในช่วงบ่าย 3 – 5 โมงเย็น ดังนั้นความผันผวนของสภาพอากาศก็ได้ส่งผลต่อการทำประมงของชาวบ้านโดยตรงในทุกๆ ด้าน เนื่องจาก เรือประมงของชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นเรือประมงขนาดเล็ก
ด้วยเหตุนี้เอง มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงร่วมกับกรีนเน็ท มูลนิธิอันดามัน ได้เลือก “บ้านมดตะนอย” เป็น 1 ใน 10 โครงการสนับสนุนการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศในช่วงปี 2553 – 2554 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งโครงการมุ่งหวังที่จะสนับสนุนให้องค์กรในระดับท้องถิ่นได้จัดทำกิจกรรมทดลองการปรับตัวในระดับชุมชน และพัฒนาระบบการเฝ้าระวังภัยจากภูมิอากาศที่ชุมชนสามารถดำเนินการได้เองอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น
“เนื่องจากระบบการเตือนภัยของราชการ เป็นการเตือนภัยในพื้นที่ขนาดใหญ่ และชาวบ้านไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายนัก การจัดทำระบบการเฝ้าระวังและเตือนภัยของชุมชนก็น่าจะใช้เป็นมาตรการหนึ่งในการจัดการปัจจัยเสี่ยงจากสภาพอากาศได้ เพราะประมง ต้องออกเรือ แต่เช้าตรู่ หากมีการแจ้งรายงานสภาพแจ้งเตือนสภาพอากาศในท้องถิ่น ในบริเวณที่ตัวเองได้ออกเรือไป ซึ่งจะทำให้ชาวประมงอื่นได้รับรู้ข้อมูลได้ก็จะลดความเสี่ยงมากขึ้น” เกศินี ขยายความ
เธอบอกว่า เริ่มแรกพวกเธอได้เข้าไปพูดคุยสร้างเครือข่ายกับชาวบ้าน เพื่อชี้ให้เห็นถึงความพร้อมต่อการรับมือภัยพิบัติ และการใช้ข้อมูลข่าวสารเฝ้าระวังภัยแบบง่ายๆ ซึ่งโดยปกติถึงจะมีหอกระจายข่าวของหมู่บ้านอยู่แล้ว เพื่อแจ้งเตือนภัยสึนามิ แต่ก็ไม่ได้ครอบคลุมตอนออกเรือ หรือทันเหตุการณ์ ซึ่งวิธีที่ทางเครือข่ายฯ นำมาใช้กับบ้านมดตะนอย ก็คือ ใช้ระบบวิทยุสื่อสารในท้องถิ่น
“เดิมในภาครัฐจะใช้วิทยุเครื่องดำที่มีคลื่นความถี่ในการรับสัญญาณสูง แต่ขั้นตอนขออนุญาตก็ยุ่งยาก ต้องไปสอบ ดังนั้น โครงการมีแผนที่จะจัดทำระบบวิทยุสื่อสารในท้องถิ่น เรียกว่าซิติเซนแบนด์ (CB245) โดยสนับสนุนทำกองทุนวิทยุ เริ่มต้นประมาณ 15 เครื่องที่ให้ชาวประมงที่ออกเรือได้รายงานหรือแจ้งเตือนสภาพอากาศในท้องถิ่น ในจุดที่ตัวเองได้ออกเรือไป ซึ่งจะทำให้ชาวประมงคนอื่นได้รับรู้ข้อมูล และช่วยตัดสินใจที่ว่าเขาควรจะออกเรือไม่ออกเรือไปในพื้นที่ดังกล่าวนั่นเอง” เกศินี บอกถึงวิธีการ
ไม่เพียงแค่การใช้วิทยุสื่อสารในท้องถิ่น เพื่อแจ้งคลื่นลมในทะเล แต่ทางโครงการ ยังได้ให้คนในชุมชนร่วมกันเก็บข้อมูลสภาพอากาศในปัจจุบัน และอาศัยคำบอกเล่าย้อนหลังในรอบ 20 ปีอีกด้วย โดยวิธีนี้ได้ข้อมูลมาจากการแบ่งพื้นที่บริหารจัดการภายในชุมชนออกเป็น 10 โซนชุมชนของบ้านมดตะนอยคือบริเวณ ท่าเรือ อนามัย โรงเรียน มัสยิด ชายเล กลางบ้าน มดตะนอยรีสอร์ท ริมคลอง วังทอง และบ้านกลาง ลักษณะการแบ่งพื้นที่โซนจะเรียกอ้างอิงตามสถานที่ใกล้เคียงที่แต่ละโซนนั้นตั้งไว้ แต่ละโซนจะมีหัวหน้าโซน 1 คน และผู้ช่วย 2 คน ทำหน้าที่ดูแลและติดต่อประสานงานกับลูกบ้านในแต่ละโซน ซึ่งหากมีการประชุมหรือเรื่องแจ้งสำหรับชุมชนหัวหน้าโซนหรือผู้ช่วยจะต้องรับทราบก่อนและแจงให้กับลูกบ้านได้รู้
“ชาวบ้านค่อนข้างตื่นตัวมาก และให้ทดลองเก็บสภาพอากาศ 10 คน 10 จุดในพื้นที่บริหาร 10 โซน แบบรายวัน เก็บประมาณ 3-4 เดือนว่าเปลี่ยนจริงหรือไม่ เช่น ฝนตกช่วงใด ลมมา ช่วงเช้า เที่ยง กลางคืน ดูว่าในวันหนึ่งๆ อากาศเปลี่ยนหรือไม่ และเทียบเป็นฤดู รวมทั้งลักษณะของคลื่นลม ซึ่งมีการเก็บข้อมูล บางคนออกทะเล คลื่นสูง คลื่นเล็กๆ เป็นต้น”
หนึ่งในข้อมูลที่ได้รับมาก็คือ ชาวบ้านบอกตรงกันว่าตอนนี้พายุน้อยๆ หรือที่คนใต้เรียกว่าลมหางด้วน มาบ่อยและถี่มากขึ้นโดยพายุน้อยสร้างความเสียหายต่อหลังคาเปิด ต้นไม้โค่นล้ม เป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ระบบนิเวศน์ และภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในรอบ 20 ปีจริงๆ
บ้านมดตะนอย อาจเริ่มรับมือถึงสภาพภูมิอากาศ และภัยธรรมชาติที่แปรปรวนได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังมีชุมชนประมงอีกนับพันรอบทะเลอันดามัน และอ่าวไทยที่ยังไม่มีการเตรียมตัว
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ